ผู้ว่าฯ กทม. กับพิพิธภัณฑ์เสรีไทยอนุสรณ์ | กษิดิศ อนันทนาธร

ผู้ว่าฯ กทม. กับพิพิธภัณฑ์เสรีไทยอนุสรณ์ | กษิดิศ อนันทนาธร

11 พฤษภาคม ของทุกปี นับเป็น “วันปรีดี พนมยงค์” เพื่อเป็นที่ระลึกแด่รัฐบุรุษอาวุโสคนเดียวของประเทศไทย ซึ่งมีคุณูปการในหลายด้านต่อสังคมไทย

ด้านการเมือง นายปรีดีเป็นมันสมองของคณะราษฎร ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  

ด้านกฎหมาย นายปรีดีเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทยที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 และมีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2475 และ 2489

ด้านเศรษฐกิจ นายปรีดีเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และบำรุงความสุขสมบูรณ์ของประชาชน แม้เค้าโครงการนี้จะไม่ได้รับการนำไปใช้ แต่ก็หมุดหมายสำคัญของความคิดรัฐสวัสดิการในสังคมไทย  

ส่วนผลงานที่สำเร็จเป็นรูปธรรมของนายปรีดีในด้านนี้ คือ การผลักดันให้มีการประกาศใช้ประมวลรัษฎากร และการก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย 

ด้านการศึกษา นายปรีดีคือผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง อันเป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของประเทศไทย ที่ผลิต “ธรรมศาสตร์บัณฑิต” เป็นกำลังของระบอบการปกครองแบบใหม่

ด้านเอกราช นายปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ดำเนินการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับนานาอารยประเทศ จนสามารถยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตได้เป็นผลสำเร็จ ทำให้ประเทศไทยได้รับเอกราชทางการศาลกลับคืนมา  

ทั้งยังเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปฏิบัติงานเพื่อให้ประเทศไทยไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม และรักษาเอกราชสมบูรณ์เอาไว้ได้ ทั้งที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในขณะนั้น ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร 

นอกจากนี้แล้ว นายปรีดียังเคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ได้แก่ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในหลวงรัชกาลที่ 8, นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย การต่างประเทศ และการคลัง ฯลฯ

นายปรีดี พนมยงค์ เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2443 ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากนั้นปรีดีในวัยหนุ่มก็เข้ามาศึกษาต่อในกรุงเทพฯ จนสำเร็จเนติบัณฑิตไทย  และเมื่อสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกทางกฎหมายจากประเทศฝรั่งเศสแล้ว ก็กลับมารับราชการในกระทรวงยุติธรรม โดยพำนักในกรุงเทพฯ มาโดยตลอด ตราบจนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศเมื่อเกิดรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490

แม้กระนั้น นายปรีดีก็ไม่เคยมีบ้านในกรุงเทพฯ เป็นของตนเอง ในช่วงแรกอาศัยอยู่ที่เรือนหอภายในบ้านป้อมเพชร์ ซึ่งบิดามารดาของท่านผู้หญิงพูนศุข ผู้เป็นภรรยาเป็นผู้ปลูกให้  จนที่สุดแล้ว เมื่อดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ธันวาคม 2484) ทางราชการจึงจัดให้พำนักที่ทำเนียบท่าช้าง

ผู้ว่าฯ กทม. กับพิพิธภัณฑ์เสรีไทยอนุสรณ์ | กษิดิศ อนันทนาธร

ทำเนียบท่าช้าง จึงเป็นสถานที่หนึ่งซึ่งเป็นสัญลักษณ์ให้คนที่ใฝ่ศึกษาประวัติศาสตร์นึกถึงนายปรีดี ปัจจุบันอาคารแห่งนี้อยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 19 ถนนพระอาทิตย์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ ซึ่งไม่ได้เปิดให้เข้าชมเป็นการทั่วไปแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี กรุงเทพมหานครได้สร้าง ทำเนียบท่าช้าง (จำลอง) ขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2545 ในพื้นที่สวนเสรีไทย ซอยเสรีไทย 53 แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม ในชื่อว่า “อาคารเสรีไทยอนุสรณ์” เพราะตลอดเวลาที่นายปรีดีดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลนั้น นายปรีดีก็ทำงานเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปด้วย

อาคารแห่งนี้ซึ่งจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ถาวรเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทย จึงจำลองทำเนียบท่าช้างอันเป็นศูนย์บัญชาการลับของขบวนการดังกล่าวมาเป็นสัญลักษณ์

ทั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2538 ให้วันที่ 16 สิงหาคม เป็นวันสันติภาพไทย  ต่อมาในปี 2540 ดร.พิจิตต รัตตกุล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เห็นความสำคัญของขบวนการเสรีไทย

ผู้ว่าฯ กทม. กับพิพิธภัณฑ์เสรีไทยอนุสรณ์ | กษิดิศ อนันทนาธร

จึงพัฒนาสวนน้ำบึงกุ่ม แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “สวนเสรีไทย” และเปลี่ยนชื่อถนนสุขาภิบาล 2 เป็น “ถนนเสรีไทย” เมื่อปี 2542 ต่อมาเริ่มสร้างอาคารหลังนี้ในปี 2543 เป็นอาคารสูง 3 ชั้น พื้นที่ใช้สอยรวม 637 ตารางเมตร จนแล้วเสร็จเมื่อปี 2545 

พิพิธภัณฑ์เสรีไทยอนุสรณ์ จัดแสดงเรื่องราวการทำงานของขบวนการเสรีไทย ทั้งภายในและภายนอกประเทศ การดำเนินการทางการทูต การปฏิบัติการลับต่างๆ และยังมีวัตถุที่น่าสนใจหลายชิ้นจัดแสดงด้วย

เช่น วิทยุของนายจำกัด พลางกูร เลขาธิการขบวนการเสรีไทยที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติงานในประเทศจีน  ใบปลิวต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น  ดาบซามูไรของนายทหารญี่ปุ่น  ภาพลายเส้นการกระโดดร่มของทหารเสรีไทย โดยหม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ เสรีไทยสายอังกฤษ เป็นต้น

แต่น่าเสียดายว่า ในปัจจุบันพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้ทำการน้อยมาก ดังข้อมูลที่ปรากฏในข้อมูล “พิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย” ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) พบว่า เปิดสำหรับบุคคลทั่วไปในวันอังคาร-ศุกร์ และวันอาทิตย์ เวลา 10.00-16.00 น. เท่านั้น 

สันนิษฐานว่าคงจะขาดงบประมาณในการดูแลและพัฒนาให้สมสมัยและมีชีวิตชีวา ทั้งๆ ที่สวนเสรีไทยเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่มีผู้ไปใช้บริการจำนวนมาก และหลายหลายช่วงอายุ  ถ้ากรุงเทพมหานครจะดำเนินการให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สะดวกต่อการเรียนรู้ อย่างน้อยก็น่าจะเปิดทำการให้มากกว่านี้เพื่อความสะดวกต่อการศึกษาเรียนรู้

ถ้าจะให้ดี กรุงเทพมหานครน่าจะขยายเวลาเปิดทำการออกไปในช่วงเย็นของทุกวันที่มีคนมาใช้บริการสวนสาธารณะ ตลอดจนวันหยุดต่างๆ และควรจะมีกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ ดังที่อย่างน้อยในอดีตกรุงเทพมหานครก็เคยจัดงานรำลึกวันสันติภาพไทย (16 สิงหาคม ของทุกปี) ขึ้น ณ สถานที่แห่งนี้ แต่ก็จะเลิกไปในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง

มิพักต้องเอ่ยถึงการประชาสัมพันธ์เชิญชวน ส่งเสริมสนับสนุนให้โรงเรียนต่างๆ ในสังกัดกรุงเทพมหานคร หรือทุกโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร พามานักเรียนมาทัศนศึกษากันก็ได้

เพราะเรื่องราวของขบวนการเสรีไทย ไม่ใช่ผลงานของนายปรีดี พนมยงค์ แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น ขบวนการนี้ได้หลอมรวมความหลากหลายของผู้คนทั้งชาติกำเนิด การศึกษา ฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน เพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไทยเอาไว้

ถ้าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ เอาใจใส่การศึกษาประวัติศาสตร์และการเผยแพร่ความรู้ให้กับผู้คนทั่วไปแล้ว ก็น่าที่จะสนับสนุนผลักดันให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร

แม้ไม่นับถือคนอย่างนายปรีดี พนมยงค์ ก็น่าที่จะเห็นคุณค่าของงานที่คนไทยจำนวนไม่น้อยได้ร่วมมือกันทำงานอย่าง “ปิดทองใต้ฐานพระ” เช่นนี้ 

แม้ท่านเหล่านั้นจะทำความดีด้วยหัวใจไม่หวังสิ่งตอบแทนก็ตาม แต่เรื่องราวเหล่านี้ก็น่าจะเป็นบทเรียนและให้ประโยชน์กับคนในปัจจุบันได้

ถ้าเพียงเท่านี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ยังทำไม่ได้ ก็ไม่เห็นอนาคตว่า ปัญหาที่ยากกว่านี้ ยุ่งกว่านี้จะสามารถแก้ไขได้เลย.

 

คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
กษิดิศ อนันทนาธร 
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล