มอง ‘สถาบันปรีดี พนมยงค์’ พื้นที่คนทำงานสังคมที่กำลังปรับปรุงตามยุคสมัย
ส่องความเคลื่อนไหวว่าด้วยอาคาร “สถาบันปรีดี พนมยงค์” พื้นที่คนทำงานด้านสังคมซึ่งได้รับบริจาคที่ดินจาก “ครูองุ่น มาลิก” เพื่อประโยชน์สาธารณะ ก่อนมีข่าวถูกคัดค้านการรื้อถอนอาคารที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้
ถ้าได้ติดตามข่าวว่าด้วย “สถาบันปรีดี พนมยงค์” เมื่อเร็วๆนี้ ก็จะพบว่าขณะนี้ได้มีการเคลื่อนไหวทั้งเห็นด้วยและต่อต้านการรื้อถอนอาคารของสถาบันปรีดีฯ
จดหมายเปิดผนึกจากผู้คัดค้านถึงคณะกรรมการสถาบันปรีดี พนมยงค์ มีใจความว่า ขอให้เปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรื้อถอนอาคารโครงสร้างของตึกสถาบันปรีดีฯว่า มีเหตุผลอย่างไร และเหตุใดถึงไม่สามารถบริหารต่อไปได้ในรูปแบบอาคารเดิมได้ ซึ่งข้อสงสัยจากจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เขียนคำชี้แจงไว้ในเฟสบุ๊ค สถาบันปรีดี พนมยงค์ Pridi Banomyong Institute ณ วันที่ 2 เมษายน 2565
สถาบันปรีดีฯ พื้นที่ประโยชน์สังคม
ไม่ว่าข้อสรุปของการรื้อถอนโครงสร้างจะเป็นอย่างไร หากสถาบันปรีดีฯ อยู่คู่กับสังคมไทยมามากกว่า 20 ปี และในหมู่ของนักกิจกรรมเพื่อสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน นักเรียนนักศึกษา สถาบันปรีดีฯ เปรียบเสมือนพื้นที่สาธารณะซึ่งให้วาระสังคมจากคนเล็กคนน้อยได้สื่อสารกับคนเมือง
“สถาบันปรีดี พนมยงค์” นั้น เป็นสถาบันที่ก่อตั้งขึ้นโดย มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่อาจารย์ปรีดี รัฐบุรุษอาวุโสและผู้นำคณะราษฎรในการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 โดยที่สถาบันแห่งนี้เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2538
อาคารสถาบันปรีดีฯ ที่ตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 55
วัตถุประสงค์ของสถาบันปรีดีฯ นั้นดำเนินกิจการในรูปแบบองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เผยแพร่ความรู้ อุดมการณ์ และจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงคุณูปการของ ปรีดี พนมยงค์ ตลอดจนค้นคว้าวิจัยเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม ให้เป็นประชาธิปไตย
นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังวางตัวเป็นเวทีทางศิลปวัฒนธรรม อันเป็นสมบัติของมนุษยชาติทุกแขนง เพื่อเป็นสื่อแสดงออกสู่สาธารณะอย่างงดงามมีสุนทรียภาพ
ภาพคุณผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เป็นประธานพิธีเปิดสถาบันปรีดี พนมยงค์ วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2538 ภาพจากเว็ปไซต์สถาบันปรีดีฯ
เราจึงเห็นกิจกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์ซึ่งจัดขึ้นที่ สถาบันปรีดีฯ อยู่เป็นระยะ เช่น การสัมมนาวิชาการ ปาฐกถา เสวนา กิจกรรมละครห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ เป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปวัฒนธรรม และการพัฒนาคุณภาพชีวิต
สถาบันปรีดีและครูองุ่น มาลิก
สถาบันปรีดีฯ มีพิกัดอยู่ที่ ซอยสุขุมวิท 55 (ซอยทองหล่อ) บนเนื้อที่ 371 ตารางวา ซึ่งพื้นที่แห่งนั้น ครูองุ่น มาลิก ผู้ก่อตั้งมูลนิธิไชยวนา เป็นผู้บริจาค
ครูองุ่น มีความศรัทธาและเลื่อมใสในอุดมการณ์ของนายปรีดี ที่เสียสละความสุขส่วนตนเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม จึงได้บริจาคที่ดิน เพื่อสร้างสถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 10 ธันวาคม 2531
“ข้าพเจ้าเพิ่งมาพบอาจารย์องุ่นเมื่อเธอแสดงความจำนงบริจาคที่ดินในซอยทองหล่อให้กับมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เพื่อสร้างสถาบันที่จะอำนวยประโยชน์แก่สังคม อาจารย์องุ่นไม่เคยพบหรือรู้จักนายปรีดีเป็นส่วนตัวมาก่อน แต่มีความเลื่อมใสศรัทธาในอุดมการณ์ของท่านซึ่งอาจมีทัศนะตรงกันในเรื่องช่วยเหลือผู้ยากไร้” คือคำพูดของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เป็นภริยาของอาจารย์ปรีดี ที่มูลนิธิบันทึกไว้
ครูองุ่น มาลิก หรือ องุ่น สุวรรณมาลิก นั้นมีอาชีพและจิตวิญญาณเป็น “ครู” มาโดยตลอด รวมชีวิตความเป็นครู-อาจารย์ ทั้งในรั้วโรงเรียนและรั้วมหาวิทยาลัยของครูองุ่น ร่วมแล้ว เกือบ 40 ปี
ครูองุ่น มีวิถีชีวิตที่ค่อนข้างเรียบง่าย ชอบใส่เสื้อผ้าที่เย็บเอง สะพายย่าม นุ่งผ้าถุง เสื้อแขนกระบอก ในปี 2521 ครูองุ่นเกษียณราชการในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ เธอกลับมาอยู่บ้านซอยทองหล่อ ถนนสุขุมวิท 55 แขวงคลองตันเหนือ เป็นการถาวร ผลิตหุ่นเชิดมือที่ใช้วัสดุจากผ้าขี้ริ้ว และสร้างนิทานสำหรับละครหุ่นมือเด็ก
ครูองุ่นมักปรากฏตัวในกิจกรรมของนักศึกษา ทั้งการประท้วงทางการเมือง เวทีอภิปราย การแสดงละคร กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์
ในช่วงที่เธอทำงานเพื่อสังคม ครูองุ่นได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินของเธอให้เป็นกรรมสิทธิ์ของมูลนิธิไชยวนา เพื่อดำเนินกิจกรรมอำนวยประโยชน์ในการศึกษาและศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนเกื้อกูลการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นมี ที่ดินเนื้อที่ 258 ตารางวา บ้านเลขที่ 67 ซอยสุขุมวิท 55 ทองหล่อ แขวงคลองตันเหนือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันคือสวนครูองุ่น มูลนิธิไชยวนา และที่ตั้งของสถาบันปรีดี พนมยงค์ เนื้อที่ 371 ตารางวา ที่อยู่ติดกัน
ภาพจากเว็ปไซต์สถาบันปรีดีฯ
มูลนิธิปรีดีฯ ในความเปลี่ยนแปลง
ทั้งสถาบันปรีดีฯ และสวนครูองุ่นคือพื้นที่ของการทำธุรกิจเพื่อสังคมที่ทุกคนคุ้นเคยกันดี
ด้วยโลเคชั่นของสถาบันฯ ซึ่งตั้งอยู่ซอยสุขุมวิท 55 (ซอยทองหล่อ) ใจกลางเมืองที่คลาคล่ำไปด้วยคอนโด อาคารสำนักงาน และพื้นที่เชิงพาณิชย์ แทบเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่กิจกรรมเพื่อสังคม เช่น การทำสวนผักอินทรีย์ ประมงพื้นบ้าน ความเคลื่อนไหวเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และอีก ฯลฯ จะได้จัดกิจกรรมในใจกลางเมืองซึ่งมีราคาค่าเช่าพื้นที่สูง
แต่เมื่อมีสวนครูองุ่น นั่นหมายความว่าสิ่งเหล่านี้เป็นไปได้ และที่ผ่านมาก็เคยมีกิจกรรมลักษณะนี้จัดขึ้นหลายครั้ง มั้งสวนครูองุ่นและสถาบันปรีดีฯ จึงเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างประเด็นของ "ชาวบ้าน" เข้ากับความสนใจของ "ชาวเมือง" ได้เป็นอย่างดี
สำหรับสวนครูองุ่นนั้น แม้พื้นที่ดังกล่าวจะเป็นสวนสาธารณะ แต่ก็ยังหารายได้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้มูลนิธิเลี้ยงตัวเอง และแบ่งรายได้บางส่วนทำกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น เปิดเช่าพื้นที่ทำกิจกรรม ตั้งแต่ส่วนบุคคล เปิดจัดเลี้ยงงานวันเกิด นัดพบปะสังสรรค์ ขณะที่กลุ่มเอกชน อาจจะจัดประชุม กิจกรรมเลี้ยงสังสรรค์ในบริษัท รวมไปถึงกลุ่มภาคธุรกิจที่มีการจัดอีเวนท์ เล็กๆกลางกรุง ตลอดจนกลุ่มองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร(NGO) ก็เข้ามาจัดกิจกรรมเพื่อสังคม
“เป็นการเจรจาระหว่างผู้เข้ามาจัดงาน หากเป็นกลุ่มบุคคลเล็กๆราคาก็ต่ำ แต่หากเป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ก็คุยกันว่ามีงบเท่าไหร่ สูงสุดราวหลักหมื่น ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์เพราะเป็นเงินที่เข้าสนับสนุนกิจกรรมมูลนิธิ แต่หลักหมื่นก็ยังถือว่าราคาเช่าจัดกิจกรรมต่ำกว่าราคาท้องตลาด” ผู้จัดการโครงการสวนครูองุ่นอธิบายกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงการบริหารจัดการพื้นที่แห่งนี้ เมื่อปี 2561
มองดูสวนครูองุ่น ก็หันกลับมามองอาคารมูลนิธิฯ เพราะเมื่อมีต้นทุนต้องใช้จ่าย มูลนิธิก็ต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง ทว่าในช่วงที่ผ่านมารายได้จากเงินบริจาคลดลงมาก และมีข้อจำกัดในเรื่องการระดมทุนหารายได้ ทางคณะกรรมการมูลนิธิจึงต้องหาทางออกเพื่อให้สถาบันปรีดีฯ ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสาธารณะต่อไป
พื้นที่สวนครูองุ่น ที่ติดกับสถาบันปรีดีฯ
ข่าวการรื้อปรับปรุงอาคารสถาบันปรีดีฯ เป็นข่าวมาสักระยะ ซึ่งเหตุผลที่มูลนิธิแจ้งต่อสาธารณะคือ ความเสื่อมโทรมของอาคารสถานที่ ซึ่งใช้งานมานาน ทำให้สภาพอาคารและอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ เสื่อมโทรมลงไปมาก จึงได้ประกาศปิดปรับปรุงพื้นที่เพื่อก่อสร้างใหม่ซึ่งมีรายงานว่า จะสร้างอาคาร 7 ชั้น โดยแบ่งออกเป็นพื้นที่ของ บริษัท ยูโร ครีเอชั่นส์ จำกัด ซึ่งกำหนดให้เป็นโชว์รูมและสำนักงานให้เช่า และพื้นที่ของสถาบันปรีดีฯ จะอยู่บริเวณชั้น 6 และ 7
อาคารแห่งใหม่นี้ จะมีพื้นที่ใช้สอยแบบ Mixed Use มีพื้นที่แสดงผลงานนิทรรศการ ห้องสมุด และ Co-working space และ Auditorium ขนาด 100 ที่นั่ง ซึ่งสามารถรองรับการจัดกิจกรรมได้หลากหลาย ซึ่งแน่ว่าด้วยฟังก์ชั่นทั้งหมดที่กล่าวมา ลำพังเงินบริจาคของมูลนิธิไม่เพียงพอ จำเป็นต้องหาเอกชนมาร่วมพัฒนาพื้นที่และแสวงหาประโยชน์ร่วมกัน
นั่นจึงเป็นที่มาของประเด็นทั้งหมด เป็นทั้งคำถาม ความจำเป็น ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ใจกลางเมือง ที่เชื่อมโยงคนทำงานเพื่อสังคมมาหลายรุ่น
อ้างอิง : ครูองุ่น มาลิก : รำลึก 30 ปีที่จากไป