“เสื้อแดง” กับกลุ่มก้อนที่เหลือ กลับบ้าน “พท.” หรือไปไหน?
จริงอยู่, มีเสียงเพรียกเรียกหามวลชน “คนเสื้อแดง” เพื่อตัดสินชัยชนะแบบ “แลนด์สไลด์” หรือ “ถล่มทลาย” ของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่คำถามตัวโตก็คือ มวลชน “เสื้อแดง” เวลานี้คือใคร กลุ่มก้อนที่แท้จริงมีอยู่แค่ไหน เป็นเรื่องที่น่าคิดอยู่ไม่น้อย
แน่นอน, จุดกำเนิดของ “คนเสื้อแดง” มาจาก กลุ่มคนรักทักษิณ และ “นปช.” กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ก็คือ การเชื่อมต่อในการชุมนุมต่อต้าน “คมช.” (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) เมื่อปี 2550
ว่ากันว่า ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็มีส่วนกับจุดเริ่ม หลังตัดสินใจไม่ยอมแพ้ จากการถูกรัฐประหาร โดย “คมช.”เมื่อปี 2549 และมอบหมายให้ จักรภพ เพ็ญแข, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และจตุพร พรหมพันธุ์ ตั้งกลุ่ม นปก. ก่อนจะพัฒนามาเป็น นปช.ในเวลาต่อมา
ดังนั้น ไม่แปลก ที่ “ทักษิณ” และเพื่อไทย จะ “เคลม” เอาว่า “คนเสื้อแดง” เป็นของตน เห็นได้ชัดกรณี “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย ร้องเรียกเพรียกหาคนเสื้อแดง “กลับบ้าน”
และถ้าย้อนให้เห็นในยุคนั้น ช่วงการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2552-2553 นัยว่ามวลชนคนเสื้อแดงเรือนแสน กว่า 90 % มาจากการ “ขนคน” เข้ากรุงเทพฯ ของนักการเมืองเพื่อไทย อย่างไม่ต้องสงสัย
เมื่อเป็นเช่นนี้ ความเป็น “เจ้าของ” คนเสื้อแดง จึงมีความขัดแย้งหลายครั้ง ระหว่างแกนนำ นปช.อย่าง “ตู่” จตุพร พรหมพันธุ์ และ “เต้น” ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กับ ส.ส.เพื่อไทยจนนำมาสู่ วาทกรรมคนเสื้อแดง ที่ว่า นักสู้ประชาธิปไตย ไม่ใช่ฐานเสียงของ “ทักษิณ”
อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2562 แกนนำ นปช. แตกออกเป็น “2 ขั้ว” อย่างชัดเจน
ขั้วหนึ่ง จตุพร พรหมพันธุ์ พร้อมด้วยอารี ไกรนรา, ยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก, วิโชติ วัณโณ และ ศักดิ์รพี พรหมชาติ แยกตัวออกมาตั้งสถานีโทรทัศน์พีซทีวีที่ ซอยรามอินทรา 40 (ซอยวัดนวลจันทร์) ซึ่งปัจจุบัน ได้ยุติการออกอากาศไปแล้ว
อีกขั้ว ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ พร้อมด้วย วีระกานต์ มุสิกพงศ์, ธิดา ถาวรเศรษฐ, เหวง โตจิราการ และก่อแก้ว พิกุลทอง เปิดสำนักข่าวยูดีดีนิวส์ อยู่ที่อาคารเอเวอรี่ มอลล์(นิวเวิลด์เดิม) ถ.รัตนาธิเบศร์ สี่แยกแคราย อ.เมือง จ.นนทบุรี
นั่นเท่ากับว่า มวลชนคนเสื้อแดง ที่เป็นสาวกของแกนนำ นปช. ก็ต้องแบ่งออกเป็นสองขั้วเช่นกัน ตามความนิยมที่มีต่อแกนนำนั่นเอง
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เหตุใด “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย จึงชักชวนคนเสื้อแดง “กลับบ้าน” พวกเขาหนีไปไหน
เรื่องนี้แกนนำคนเสื้อแดงน่าจะรู้ดี เพราะที่ผ่านมา ความขลังของทั้ง “ตู่-จตุพร” และ เต้น-ณัฐวุฒิ ในการปลุกระดมมวลชนคนเสื้อแดง มาร่วมชุมนุม แทบจะพูดได้ว่า ยากแล้ว สังเกตจากการเคลื่อน “ม็อบไทยไม่ทน” ของ“ตู่-จตุพร” มีคนเสื้อแดงไปร่วมน้อยมาก ขณะเดียวกัน การนัดชุมนุมคาร์ม็อบของ “เต้น-ณัฐวุฒิ” ส่วนใหญ่ก็ต้องอาศัยมวลชน “3 นิ้ว” ที่กำลังฮึกเหิมเข้าร่วม
นั่นแสดงว่า ความเหนียวแน่นของกลุ่มก้อนเริ่มเสื่อมคลายลง ยังคงมีให้เห็นอยู่บ้างก็แต่เฉพาะในช่วงของการรำลึกเหตุการณ์การต่อสู้ของคนเสื้อแดงเท่านั้น
เมื่อไม่นานมานี้ เต้น-ณัฐวุฒิ และ นางธิดา ถาวรเศรษฐ แกนนำ นปช. ออกมาพูดถึงมวลชนคนเสื้อแดงในทำนองเดียวกัน ว่าจะไม่มี “องค์กรนำ” อีกต่อไป และมวลชนคนเสื้อแดง ยังมีอิสระที่จะเลือกพรรคการเมืองที่ตัวเองต้องการสนับสนุนด้วย
“...เมื่อเหตุการณ์เดินมาถึงวันนี้ องค์กรนำของนปช.มันมีปัญหาเรื่องหลักการภายใน ไม่ดำรงสภาพขับเคลื่อนอีกต่อไป แต่ว่าคนเสื้อแดงต้องไปต่อ การต่อสู้ทางการเมืองต้องไปต่อ ดังนั้นพรรคการเมืองแต่ละพรรคเมื่อเขาหันมาเห็นพลังนี้ เขาก็อยากที่จะชวนพลังนี้เข้าไปร่วมแนวทาง ร่วมอุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิทธิ์ที่ทุกพรรคทำได้...” เต้น-ณัฐวุฒิ กล่าว
“...ดิฉันก็มีความยินดีที่คิดว่า ปัจจุบันการที่คนเสื้อแดงมีความคิดของตัวเอง และสามารถตัดสินใจอะไรได้โดยไม่ต้องมีแกนนำ ก็เป็นผลสำเร็จส่วนหนึ่งที่เราได้ทำงานเพื่อสร้างแกนนำ สร้างผู้ปฏิบัติงาน และสร้างมวลชนฝ่ายประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ...” จากบางส่วน ที่“ธิดา” โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ “คำถาม/คำตอบ เรื่องของเสื้อแดงกับพรรคการเมือง” เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ “ธิดา” วิเคราะห์เกี่ยวกับมวลชนคนเสื้อแดงหลายเรื่อง นับแต่คนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทย ทำไมต้องชวน “กลับบ้าน”
“ธิดา” ยกผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2554 กับ ปี 2562 เปรียบเทียบให้เห็น เมื่อปี 2554 พรรคเพื่อไทยได้ที่นั่ง 204 ที่นั่ง คะแนนเสียง Popular vote (ตอนนั้นยังใช้บัตร 2 ใบ) คือคะแนน Party list(ส.ส.บัญชีรายชื่อ) 15,752,470 คะแนน คิดเป็น 48.41% แปลว่า เกือบครึ่งของทั้งหมด 32,535,227 คน
ส่วนการเลือกตั้งครั้งล่าสุด (2562) มีผู้มาเลือกตั้งทั้งหมด 35,561,556 คน เพื่อไทยได้คะแนน 7,881,006 เสียง คิดเป็น 22.16% หายไป 26% คือหายไปเกินครึ่ง
แล้วเมื่อมาดูคะแนนที่หายไป พบว่า อนาคตใหม่ได้ 6.33 ล้านเสียง ที่เหลือเป็นของพรรคเล็ก รวมแล้ว 16,425,082 เสียง นั่นหมายความว่า ได้ 46.19% (บัตรใบเดียว) ซึ่งมันก็อาจไปขึ้นกับส.ส.เขตด้วย
“ดังนั้นเราจึงพบว่า พปชร. ได้คะแนนมาก เพราะว่าเขาได้ส.ส.เขตไปจากทั้งเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ คะแนนก็ไปรวมอยู่ที่เขาค่อนข้างเยอะ พลังประชารัฐได้ 23.73% ของ Popular vote เลยด้วยซ้ำ” ธิดา ชี้ให้เห็น และอธิบายต่อว่า
เพราะฉะนั้น ถ้าวิเคราะห์ง่ายๆ จาก 15.7 ล้านมาเป็น 7.88 ล้าน หายไปเกือบพอๆ กับเอาพรรคในกลุ่มประชาธิปไตยมารวมกันทั้งหมด ซึ่งก็ยังได้แค่ 46% จากเมื่อก่อนพรรคเพื่อไทยพรรคเดียวได้ 48.41%
ด้วยเหตุนี้ ฝ่ายยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย จึงคิดกลยุทธ์ดึง “มวลชนเสื้อแดง” กลับบ้าน เพราะเชื่อว่า ฐานเสียงคนเสื้อแดงหายไป
กระนั้น คำว่า คนเสื้อแดง ของ “ธิดา” ก็ยังยากที่จะประเมินว่า มีใครบ้าง
“ดิฉันคิดว่า ถ้าดูฐาน เราไม่สามารถวัดได้ ไม่ใช่ว่าเราไปวัดจำนวนบัตร นปช. หรือวัดจำนวนคนใส่เสื้อ นิยามของคนเสื้อแดงที่เรียกว่า อ่อนที่สุดคือผู้รักประชาธิปไตย รักความเป็นธรรม ถ้ามีสองอย่างนี้ก็ถือว่า เป็นคนเสื้อแดงได้ แต่ว่ามันมากกว่านั้น
เสื้อแดงที่เข้มข้นคือเสื้อแดงที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยและต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ประชาชนมีอำนาจอธิปไตยจริง อยู่ในมือของประชาชน องค์กรสำคัญต่างๆ ไม่ว่า นิติบัญญัติ องค์กรบริหาร หรือตุลาการ ต้องมาจากการเห็นชอบของประชาชน บางอย่างอาจเป็นโดยอ้อมได้ แต่อย่างไรก็ตามต้องถือว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน อย่างนี้ก็คือแดงแท้...
แต่ว่าแดงที่เข้มข้นไปอีก ก็คือเข้าร่วมการต่อสู้เพื่อให้ได้อุดมการณ์ดังที่ว่านั้นคือต่อต้านการทำรัฐประหาร ต่อต้านเผด็จการอำนาจนิยม และกระทั่งเผด็จการจารีตนิยม อันนี้เรียกว่า แดงเข้มข้นสุดๆ จริงๆ
ดังนั้น ให้เข้าใจว่า นี่คือคนเสื้อแดง เพราะฉะนั้นมันก็จะมีเฉดตั้งแต่แดงจัด แดงเข้มข้น ไปจนกระทั่งถึงแดงอ่อนๆ หรือชมพูเข้มก็ได้...”
ส่วนว่ามีจำนวนเท่าไหร่นั้น “ธิดา” ชี้ให้เห็นว่า “เราไม่สามารถที่จะมาลงทะเบียน แล้วเรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องที่ลงทะเบียนไม่ได้นะ เพราะฉะนั้นดิฉันอยากจะบอกบางคนที่ไปลงทะเบียนเป็นครอบครัวโน้น ครอบครัวนี้ ก็ไม่รู้ว่าเขาอาจจะไปสนับสนุนพรรคใดจริง เพราะว่าจะมีลักษณะที่เรียกว่า รักฝ่ายประชาธิปไตยทั้งหมด บางคนก็รักพี่เสียดายน้อง หรือบางคนก็ว่ากันเป็นพื้นที่ๆ
เพราะว่า สำหรับดิฉันตั้งแต่ต้นมาจนกระทั่งถึงบัดนี้ เราก็ให้ความเห็นบนพื้นฐานความเป็นจริง คนเสื้อแดงนั้นเราจะไปบอกว่า ให้คุณอยู่กับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองเดียว ไม่ได้! มันต้องขึ้นอยู่กับความเป็นจริง
แล้วความเป็นจริงมันก็บอกแล้ว รอบที่แล้ว เขาเลือกอนาคตใหม่กันจำนวนหนึ่ง ในทัศนะดิฉันน่าจะไม่ต่ำกว่า 4 ล้าน จาก 6.3 ล้าน อาจจะ 5 ล้านก็ได้ แต่ต้องเหลือให้ New Voter ด้วย 3 ล้าน New Voter 3 ล้าน อาจเทมาหมดก็ได้...”
ยิ่งกว่านั้น ในขบวนเสื้อแดงเอง ก็มีการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน อาจมาจากเหตุผลทางการเมือง และบทเรียนที่ผ่านมา
โดยเฉพาะ การออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก ของ นายอานนท์ แสนน่าน ประธานหมู่บ้านเทิดไท้องค์ราชันแห่งประเทศไทย ในฐานะอดีตประธานหมู่บ้านเสื้อแดง เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่า
“19 พฤษภาคม วันคนเสื้อแดงถูกปล่อยทิ้ง หยุดวาทกรรมเก่าๆ ได้แล้วครับ
อย่าเอาประชาชนเป็นเครื่องมือทางการเมืองอีกต่อไปเลย สงสารประเทศไทย หยุดทำลายประเทศไทยเสียเถอะ
จำคำนี้ได้มั้ยครับ “ให้เสื้อแดงไปรวมตัวกันที่ศาลากลาง” แล้วสรุป สุดท้าย เสื้อแดงไปรวมตัว เผาศาลากลาง ถูกจับ ติดคุกกันเป็นร้อยคน หนีคดีอีกหลายร้อยคน ใครพูดครับ แล้ว พ.ร.บ.นิรโทษที่เห็นกันว่าเสื้อแดงจะได้ออกจากคุกกันซะที แต่กลับมีมือดี เอาสุดซอย พ่วงเข้าไปเพื่อให้ “คนต่างประเทศ” รอดคดีด้วย แล้วก็เละเทะ จนนายกฯยิ่งลักษณ์ต้องยุบสภา
พ.ร.บ.ที่เสื้อแดงจะรอดคุก โดนถอดออก เสื้อแดง ในคุก คงต้องคอตก รับชะตากรรมต่อ เพราะ “คนต่างประเทศ” นั่นเอง...
คนเสื้อแดงในตอนนั้น สมัยนั้นต้องออกมาหาเงินเยียวยากันเอง
#เสร็จนาฆ่าโคถึกเสร็จศึกฆ่าขุนพล”
นายอานนท์ โพสต์ข้อความอันเจ็บปวด ในขณะที่แกนนำเสื้อแดง นำพาเสื้อแดงย้อนรำลึกถึงวีรกรรมการต่อสู้ของคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553
ที่สำคัญ อย่าลืมว่า นายเสกสกล อัตถาวงศ์ หรือ “แรมโบ้อีสาน” อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี และอดีตคนเสื้อแดง ได้เคลื่อนไหวยุบหมูบ้านเสื้อแดงทั่วประเทศมานานแล้ว ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น “หมู่บ้านเทิดไท้องค์ราชัน” ซึ่งกำลังรุกหนักทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง
ด้วยเหตุนี้ ก็อาจมีส่วนไม่น้อยในการสลาย “คนเสื้อแดง” ในระดับพื้นที่ จนแปรเปลี่ยนฐานการเมืองของพรรคเพื่อไทยเช่นกัน
ประเด็นสำคัญ “ธิดา” ชี้ให้เห็นว่า เสื้อแดงแท้จะเลือกพรรคที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ ไม่เลือกพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมและพรรคที่สนับสนุนรัฐประหารสืบทอดอำนาจ
ดังนั้น พรรคฝ่ายประชาธิปไตยต้องมีนโยบายและอุดมการณ์ของพรรคสอดคล้องกับคนเสื้อแดง กล่าวคือแนวคิดเสรีนิยม แนวคิดต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม แนวคิดต่อสู้เพื่ออำนาจเป็นของประชาชน แนวคิดเปลี่ยนแปลงประเทศ นี่แหละคือแนวคิดของคนเสื้อแดงและคนรุ่นใหม่
ถ้ามองจากมุมของ “ธิดา” ดูเหมือน พรรคก้าวไกลจะฮุบเอาคนเสื้อแดง โดยเฉพาะ “แดงแท้” ไปเกือบทั้งหมด?
มาถึงตรงนี้ ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ “มวลชนคนเสื้อแดง” ไม่ใช่ของพรรคเพื่อไทยพรรคเดียวอีกต่อไป ไม่มีองค์กรนำ อย่าง นปช.ชี้นำการต่อสู้ มีอิสรเสรีในการตัดสินใจทางการเมือง มีสิทธิเลือกคนที่รักพรรคที่ชอบของตนเอง เหมือนประชาชนคนไทยทั่วไป
ถ้าอย่างนี้ ก็นับว่าน่าจับตามอง กรณี “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชักชวน “มวลชนเสื้อแดง” กลับบ้าน จะทำได้มากน้อยแค่ไหน โอกาส “แลนด์สไลด์” ที่ต้องการจะเป็นจริงหรือไม่
ทุกอย่างไม่ได้เข้าข้างอย่าง ปี 2554 ที่เพิ่งผ่านศึก “แดงเดือด” กับอำนาจรัฐมาสดๆร้อนๆ ซึ่งกระแสความเจ็บปวด ต้องการเอาคืนด้วยผลการเลือกตั้งของคนเสื้อแดงยังร้อนระอุ และกลุ่มก้อนยังเข้มข้นเหนียวแน่น ขณะที่พรรคเพื่อไทย คือเป้าหมายพรรคเดียว ก่อนการเลือกตั้ง
แต่พ.ศ.นี้ นอกจากจะตีกินความล้มเหลวของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้ว ก็ยังไม่เห็นกระแสอื่นช่วยหนุนเสริม แม้แต่กระแส “อุ๊งอิ๊ง” เป็นทายาท “ทักษิณ”
ขณะที่มวลชนคนเสื้อแดง มีพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์เดียวกันมากขึ้น อย่างพรรคก้าวไกล และพรรคเล็กบางพรรค รวมทั้งคู่แข่งในซีกรัฐบาล อาจมีผลงานโดนใจ อย่าง นโยบายกัญชา ของพรรคภูมิใจไทย หรือแม้แต่ผลงานประชานิยมของพล.อ.ประยุทธ์ ยิ่งเมื่อลงลึกในรายละเอียดของพื้นที่เลือกตั้ง ปัจจัยหลากหลายของการได้รับเลือกตั้ง การย้ายพรรคของส.ส.เกรดเอและบี คือ ตัวตัดสินมากขึ้น อาจดับฝัน “อุ๊งอิ๊ง” ก็เป็นได้ หรือไม่จริง!?