"มะพร้าว" อีกหนึ่งผลไม้ไทยที่สร้างมูลค่ามหาศาลใน "ตลาดจีน"
ชาวจีนนอกจากจะนิยมผลไม้ไทยอย่าง ทุเรียน และมะม่วง แล้ว ยังมีผลไม้ไทยอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน นั่นก็คือ "มะพร้าว"
หลังจากบทความประเด็นความนิยม ทุเรียนไทย ใน ตลาดจีน ได้เผยแพร่ออกไป ก็มีคำถามเข้ามามากว่า นอกจากทุเรียนและมะม่วงแล้ว ยังมี ผลไม้ไทย ชนิดอื่นที่ได้รับความนิยมหรือน่าจะมีศักยภาพเพียงพอในการเจาะตลาดจีนอีกหรือไม่? อ้ายจงมองว่าเป็นคำถามที่ดีมาก เพราะอาจจะเป็นแนวทางสำหรับผู้ประกอบการไทยในอนาคตก็ได้
อ้ายจง ในฐานะที่เป็นอาจารย์ทางด้านการตลาด ในช่วงหนึ่งมีโอกาสใช้ชีวิตในจีน ทำงานสายการตลาดจีนและทำวิจัยด้านนี้ พบว่า มะพร้าว เป็นผลไม้ไทยอีกหนึ่งชนิดที่ได้รับความนิยมในจีนอย่างมาก โดยหลักฐานที่ยืนยันเรื่องนี้ได้ชัดเจนคือ ข้อมูลการส่งออกมะพร้าวไทย จากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เมื่อปี 2563 ซึ่งเป็นปีแรกของการระบาดโควิด-19 ในจีนและทั่วโลก แต่ยอดการส่งออกมะพร้าวจากไทยไปจีนช่วงเดือนมกราคมถึงตุลาคม 2563 เติบโตจากก่อนหน้า 7.28% จากการส่งออกมะพร้าวทั้งสดและแห้งเกือบ 2 แสนตัน สร้างมูลค่าราว 4.97 พันล้านบาท เรียกว่า โตสวนกระแสโควิด-19
บทความที่เกี่ยวข้อง
เหตุใดจีนจึงนิยม "มะพร้าวไทย" ?
ทุกครั้งเวลาที่เล่าถึงความนิยมของ ผลไม้ไทย จะมีเสียงตามมาว่า จีนปลูกผลไม้ชนิดนั้นไม่ได้หรือ? เขาถึงนิยมของไทย ต้องนำเข้าของไทยเข้าไป เมื่อเอ่ยถึงเรื่องมะพร้าวไทยก็เช่นกัน มีคนจำนวนไม่น้อยถามอ้ายจงมาด้วยคำถามนี้
ความจริงก็คือ จีนสามารถปลูกมะพร้าวได้ โดยเฉพาะทางตอนใต้ของจีน ที่เมืองไหโข่ว มณฑลไห่หนาน หรือที่คนไทยเรียกว่า เกาะไหหลำ และมะพร้าวก็ถือเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของเกาะไหหลำ และพยายามปลูกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกมะพร้าวอันดับ 1 ในจีน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ยังตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคจีนได้ไม่ดีนัก เนื่องด้วยว่ากันตามตรง คุณภาพของมะพร้าวจีนยังไม่ค่อยคงที่ และจากการสอบถามคนจีนผนวกกับการวิเคราะห์ข้อมูลบนโลกออนไลน์จีน พอจะได้มุมมองของคนจีนที่มีต่อมะพร้าวไทยและจีนว่า "คนจีนมองมะพร้าวไทย อย่างมะพร้าวน้ำหอม มีความหอมและรสชาติอร่อยกว่ามะพร้าวจีน" ทำให้ มะพร้าวไทย ที่เข้าไปขายในจีน มีทั้งขายแบบเป็นลูก และแปรรูปเป็นเครื่องดื่ม รวมถึงผลไม้อบแห้ง สมัยที่อ้ายจงใช้ชีวิตอยู่ในจีนเคยไปเจอมะพร้าวไทยแบบปอกเปลือกพร้อมดื่ม ขายในเหอหม่า Supermarket ในเครือของ Alibaba เมืองหังโจว มณฑลเจ้อเจียง ขายลูกละ 9.9 หยวน คิดเป็นเงินไทยก็ราวสัก 50 บาท ซึ่งมีเครื่องเปิดฝามะพร้าวให้เสร็จสรรพ
ตัดภาพจากที่หังโจวไปยังมหานครเซี่ยงไฮ้ อ้ายจงเคยเจอตู้กดน้ำมะพร้าวไทยในลักษณะของเป็นลูกมะพร้าวพร้อมดื่ม จ่ายเงินแบบสังคมไร้เงินสด-สแกนด้วยแอปพลิเคชันมือถือ ลูกมะพร้าวก็จะหล่นลงมาจากตู้ เราก็เสียบหลอดดื่มได้ทันที นี่คืออีกหนึ่งเครื่องบ่งชี้ว่า ชาวจีนนิยมน้ำมะพร้าวไทยมาก ไม่งั้นคงไม่มีการลงทุนทำเครื่องแบบนี้ไปจัดจำหน่าย
พอพูดถึง น้ำมะพร้าว นำพาให้อ้ายจงนึกถึงประเด็นที่เคยเป็นประเด็นร้อนในไทยเมื่อหลายปีก่อน เมื่อมีภาพของนักท่องเที่ยวจีนยืนดื่มน้ำกะทิกล่องแบบเอร็ดอร่อย ณ สนามบินกรุงเทพมหานคร ชาวเน็ตไทยถึงขั้นสงสัยมากมาย วันนี้อ้ายจงเลยจะมาตอบข้อสงสัยนี้ให้ได้รู้กัน
ชาวจีนเข้าใจผิดว่า กะทิบรรจุกล่อง คือ น้ำมะพร้าว หรือไม่?
คำตอบคือ น้ำมะพร้าวแบรนด์จีนส่วนใหญ่ที่ขายกันในจีนนั้นจะค่อนข้างข้น จนคล้ายกับลักษณะของนม หรือน้ำกะทิที่บ้านเราคุ้นเคยในรูปแบบน้ำกะทิเจือจาง คือจะไม่ใช่น้ำมะพร้าวใสๆ แบบของเรา ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากคนจีนที่มาเมืองไทยแล้วจะอยากลองดื่มน้ำกะทิแบบเข้มข้น ที่เรามองว่าแปลก เพราะมันก็เป็นหนึ่งในภาพจำของคนจีนซึ่งเขาเคยชินจากในบ้านเขาว่าน้ำมะพร้าวมันจะลักษณะข้นๆ หน่อย
ตอนอ้ายจงอยู่เมืองจีน จะหาน้ำมะพร้าวมาดื่มที่เขียนไว้ชัดเจนว่า 椰汁 แปลเป็นไทยคือ น้ำมะพร้าว ก็ออกมาข้นๆ แบรนด์นี้ค่อนข้างดังในจีน โดยส่วนตัวมองว่าก็อร่อยไปอีกแบบ แต่รสชาติไม่เข้มข้นเท่าไหร่ จางๆ ไปนิด
อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยความดังของการท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะทะเลเมืองไทย และการกินแบบสตรีทฟู้ด ถนนคนเดินต่างๆ ที่มักจะมี น้ำมะพร้าวไทย ขายอยู่ทั่วไป ทำให้ช่วงหลังๆ คนจีนนิยมดื่มน้ำมะพร้าวใสแบบไทย และเป็นความแตกต่างชัดเจนว่า น้ำมะพร้าวแบบไหนคือของไทยหรือของจีน ปัจจุบันเราจึงได้เห็นน้ำมะพร้าวจากแบรนด์เครื่องดื่มของไทย ไปขายในจีนมากขึ้น
ในมุมมองของอ้ายจง สินค้าประเภทเครื่องดื่มและอาหารของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่แปรรูปจากผลไม้ไทยที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว จะได้รับความนิยมและสามารถตี ตลาดจีน ได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ไม่ใช่แค่ระยะสั้นด้วย หากเราควบคุมและพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ได้
ผู้เขียน: ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่