ยกระดับ SMEs ในเอเชีย ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม | นิธิวดี บัววัฒน์ 

ยกระดับ SMEs ในเอเชีย ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม |  นิธิวดี บัววัฒน์ 

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีสัดส่วนมากกว่า 96% ของธุรกิจในเอเชียทั้งหมด ถือเป็นธุรกิจหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเอเชีย

ทั้งในด้านการจ้างงาน การผลิต การค้า และการบริการ โดยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 30-60 ของ GDP รวมในเอเชีย  

แม้ว่า SMEs จะเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของเอเชีย แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่ากิจกรรมบางอย่างที่เกิดจากการผลิตและการบริการ มักก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้ปัจจุบันผู้ประกอบการ SMEs หันมาดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น 

ไม่เพียงเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้นที่เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ประกอบการ SMEs หันมาดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

แต่ยังมีปัจจัยด้านมาตรการทางการค้าของบางประเทศคู่ค้า เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เป็นต้น ล้วนต้องการสินค้าที่มีมาตรฐานสากล ปลอดภัย ลดการใช้ทรัพยากร รวมถึงใช้เทคโนโลยีการจัดการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด 

Eco-design จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่ตอบโจทย์ด้านการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs นำมาใช้เป็นหลักในการดำเนินงานได้
 
Eco-design หรือ การออกแบบเชิงนิเวศ เป็นการออกแบบที่นำทรัพยากรธรรมมาใช้ ก่อมลภาวะในระบบนิเวศน้อยที่สุด หรือกล่าวได้ว่าเป็นการลดกระทบจากผลิตภัณฑ์หรือบริการให้เหลือน้อยที่สุด

โดยมีการอ้างถึงนวัตกรรมการออกแบบ ทั้งผลิตภัณฑ์และบริการที่คำนึงถึงวงจรชีวิตทั้งหมด ตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบไปจนถึงการผลิต การจำหน่าย การใช้งานจนถึงการรีไซเคิล 

 

รัฐบาลหลายประเทศในเอเชียทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีไต้ สิงคโปร์ และประเทศกำลังพัฒนา เช่น ไทย มาเลเซีย เวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ ภูฏาน เป็นต้น

มีการออกนโยบายหรือมาตรการเพื่อสนับสนุนให้ SMEs ดำเนินงานโดยใช้หลักการ Eco-design ในภาคธุรกิจต่าง ๆ เช่น การก่อก่อสร้าง อิเล็คทรอนิค พลังงานหมุนเวียน การเกษตร บรรจุภัณฑ์ สิ่งทอ เป็นต้น เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินงานและการประหยัดต้นทุนการดำเนินงานในระยะยาว

แม้การดำเนินงาน Eco-design ของกลุ่ม SMEs ในแต่ละประเทศ ยังมีข้อจำกัดทั้งด้านการรับรู้และความเข้าใจ นโยบาย การเงิน เทคโนโลยี และการศึกษา แต่ก็พบว่ามีปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้เห็นโอกาสในการปรับตัวของ SMEs ที่จะก้าวไปสู่กิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน

ยกระดับ SMEs ในเอเชีย ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม |  นิธิวดี บัววัฒน์ 

•ความชัดเจนของนโยบายและกรอบการดำเนินงานของรัฐบาล โดยมียุทธศาสตร์หรือนโยบายที่มุ่งเน้นเรื่อง Eco-design สำหรับ SMEs โดยเฉพาะ เช่น การส่งเสริมการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา ส่งเสริมนวัตกรรมและกิจกรรมการดำเนินการภายในบริษัท และการส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี 

ทั้งนี้การมียุทธศาสตร์หรือนโยบายที่ชัดเจนถือเป็นปัจจัยเบื้องต้นที่สามารถส่งเสริมการดำเนินงานด้าน Eco-design ของ SMEs ให้ง่ายขึ้น 

•การพัฒนากลไกทางการเงินและการเข้าถึง เพื่อสนับสนุนให้ SMEs สามารถดำเนินงานด้าน Eco-design สิ่งจูงใจทางการเงินที่รัฐบาลสนับสนุนให้ SMEs ดำเนินงานด้าน Eco-design เช่น การลดหย่อนภาษี การยกเว้นภาษี เงินทุนสนับสนุน เป็นต้น 

ในทางตรงกันข้ามหากผู้ประกอบการที่ดำเนินงานโดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมจะต้องเสียภาษีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่ SMEs บางรายไม่สามารถเข้าถึงกลไกทางการเงินที่รัฐบาลสนับสนุน เช่น SMEs บางรายธุรกิจไม่เข้มแข็ง แผนธุรกิจไม่ชัดเจน ระบบบัญชีไม่ชัดเจน เป็นต้น 

ยกระดับ SMEs ในเอเชีย ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม |  นิธิวดี บัววัฒน์ 

ดังนั้น กุญแจสำคัญในการช่วยให้ SMEs สามารถเข้าถึงกลไกทางการเงินที่รัฐบาลสนับสนุนคือความแข็งแกร่งของธุรกิจและความชัดเจนของแผนดำเนินงาน  

•การขยายตลาดสีเขียว ที่เชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้บริโภคด้านสิ่งแวดล้อมให้เข้าถึงกันได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสร้างทางเลือกสำหรับการค้าอย่างมีความรับผิดชอบและการบริโภคที่ยั่งยืน 

ในบางประเทศมีกิจกรรมส่งเสริม SMEs ให้ผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานคุณภาพควบคู่ไปกับการส่งเสริมพฤติกรรมผู้บริโภคให้ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากสิ่งแวดล้อม 

ซึ่งวิธีการดังกล่าวถือเป็นการส่งเสริมตลาดสีเขียวด้วยเช่นกัน  หากสามารถเชื่อมโยงกับแผนการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของรัฐ ก็จะเป็นการขยายตลาดอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ มีแรงหนุนที่สำคัญจากเทคโนโลยีการสื่อสารและลอจิสติกส์ในการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์และชำระเงินออนไลน์ ทำให้การซื้อขายผลิตภัณฑ์เป็นไปได้ง่ายและขยายวงกว้างขึ้น

ยกระดับ SMEs ในเอเชีย ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม |  นิธิวดี บัววัฒน์ 

•การสร้างขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการ SMEs และพนักงาน  ด้วยกระบวนการศึกษาและการเสริมสร้างทักษะ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ทั้งผู้ประกอบการและพนักงานมีศักยภาพในการดำเนินงาน 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตหรือบริการตามแนวทาง Eco-design ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่ต้องการความรู้เฉพาะทาง ดังนั้น การส่งเสริมทางด้านการศึกษาและทักษะจึงมีความจำเป็นต่อการพัฒนาการดำเนินงานที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าด้านอื่นๆ

ยุคนี้ เป็นห้วงเวลาที่ SMEs จำเป็นต้องปรับตัว ทั้งในฐานะผู้สร้างผลกระทบและผู้ได้รับผลกระทบ เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตส่วนใหญ่มักเป็นทรัพยากรที่มาจากธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด 

ส่วนประเด็นสิ่งแวดล้อมมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจตั้งแต่การผลิตสินค้าและบริการ การขนส่ง การตลาดไปจนถึงการใช้สินค้าและบริการของผู้บริโภค จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องปรับตัวตามกระแสโลกที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ให้สอดรับกับนโยบายจากประเทศคู่ค้าและตลาดที่เน้นการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น และช่วยให้ SMEs ประหยัดทรัพยากรและต้นทุนที่จะทำให้ประกอบธุรกิจได้อย่างยั่งยืน.