การดูแลสุขภาพ ≠ การรักษาโรค (2) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ครั้งที่แล้วผมอ้างถึงสถิติการเสียชีวิตของมนุษย์ ซึ่งเป็นข้อมูลปี 2019 จาก WHO ระบุว่าผู้เสียชีวิตจากโรคที่ไม่ติดต่อ (NCDs) มีทั้งสิ้นประมาณ 41.2 ล้านคนจากผู้เสียชีวิตทั้งหมด 55.6%
แปลว่ามีผู้เสียชีวิตเพราะ NCDs (non-communicable disease) คิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 74% ของการเสียชีวิตทั้งหมด แปลว่าปัญหาใหญ่ของมนุษย์ในวันนี้คือโรคที่เกิดขึ้นจากการดำเนินชีวิต ไม่ใช่โรคติดต่อ
ดังนั้น การดูแลสุขภาพคือการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดี ไม่ใช่การรอให้เป็นโรคแล้วค่อยไปขอรับยารักษาโรค
ผมขอยกตัวอย่างโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ (cardio vascular disease) และการที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ (stroke) ซึ่งในปี 2019 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจ 8.9 ล้านคน (การเสียชีวิตจาก Covid-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเท่ากับ 6 ล้านคน)
เพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านคนจากตัวเลขในปี 2000 ในขณะเดียวกันมีผู้เสียชีวิตจาก stroke อีก 6.2 ล้านคนในปี 2019 รวมเป็น 15.1 ล้านคน
โรคทั้งสองนี้เกี่ยวเนื่องกับเลือด เส้นเลือด ความดันโลหิตและกล้ามเนื้อหัวใจเป็นหลัก ซึ่งสัญญาณเตือนภัยเบื้องต้นคือความดันโลหิตสูง
ซึ่งแปลได้ว่าย่อมจะเริ่มทำความเสียหายให้กับเส้นเลือดที่ต้องทนกับแรงกดดันที่สูงขึ้น (อาจแตกได้หรือเกิดเพราะเส้นเลือดตีบตันหรือทั้งสอง)
นอกจากนั้นกล้ามเนื้อหัวใจก็ย่อมจะต้องทำงานหนักมากขึ้น แต่กล้ามเนื้อหัวใจก็ต้องพึ่งพาเลือดมาเลี้ยงให้เพียงพอเช่นเดียวกัน และหากเลือดมีปัญหาคือเกิดเป็นลิ่มเลือด (blood clot) ขึ้นมาก็อาจจะทำให้เส้นเลือดอุดตันได้
สำหรับสาเหตุที่จะนำไปสู่ความเสี่ยงดังกล่าวนั้น เกิดจากการ “กิน” เป็นหลัก เช่น การกินอาหารมากเกินไปจนน้ำหนักเกิน ทำให้ร่างกายและเส้นเลือดมีไขมันมากเกินไปหรือการกินหวานมากเกินไปจนเป็นโรคเบาหวาน (เส้นเลือดแข็ง ความดันสูง สารอาหารเข้าไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ฯลฯ) หรือการกินอาหารที่เค็มเกินควรทำให้ความดันสูง เป็นต้น
หากคิดว่าไม่เป็นไรปัจจุบันมีหมอและยารักษาโรคหัวใจมากมาย ก็ต้องตอบว่าจริง แต่คงจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ซึ่งผมได้ลองสำรวจดูว่าปัจจุบันแนวทาง “รักษา” โรคหัวใจและ stroke นั้นใช้ยาอะไรบ้างก็ต้องตอบว่ามียี่ห้อยาให้เลือกน่าจะเป็น 60-70 ยี่ห้อ
แต่จากสรรพคุณของยาดังกล่าวนั้นน่าจะสรุปว่า เป็นการลดความเสี่ยงและแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่าการ “รักษา” โดยอาจแบ่งออกได้เป็นประมาณ 8 แนวทางเป็นหลัก นอกจากนี้ก็ต้องอาศัยการผ่าตัด เช่น การใส่ท่อ stent เพื่อถ่างเส้นเลือดหัวใจ ตามมาด้วยการผ่าตัดเส้นเลือดจากส่วนอื่นของร่างกายมาเย็บที่หัวใจเพื่อใช้แทนเส้นเลือดหัวใจที่ตีบตัน (by pass)
1.Anti-coagulant (มีให้เลือกนับสิบยี่ห้อ) คือยาที่ป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือด (blood clot)
2.Anti-platelet Agent และ DAPT ตัวอย่างเช่นการกิน Aspirin เพื่อป้องกันไม่ให้เกล็ดเลือด (blood platelets) เกาะตัวกันทำให้เกิดลิ่มเลือด มีเป็นสิบยี่ห้อให้เลือกเช่นกัน
3.ACE Enzyme Inhibitor (มีให้เลือกเป็นสิบยี่ห้อ) เพื่อลดระดับเอนไซม์ที่ชื่อว่า angiotensin II ทำให้เส้นเลือดขยายตัว
4.ARBs (ประมาณ 8 ยี่ห้อ) ช่วยลดความดันโลหิตให้ต่ำลง
5.ARNIs เป็นยาคล้ายกับข้อ 3 ในการขยายเส้นเลือดและช่วยให้เลือดไหลเลื่อนได้ดีขึ้นด้วย
6.Beta blockers ยาประเภทนี้ชะลอการเต้นของหัวใจให้ช้าลง
7.Calcium Channel Blocker ช่วยลดความดันโลหิตโดยการปิดกั้นไม่ให้แคลเซียมเข้าไปในเซลล์ของหัวใจและเส้นเลือดเพื่อลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจและขยายเส้นเลือด ตลอดจนชะลอการเต้นของหัวใจ
8.ยาลดระดับ คอเลสเตอรอล เช่น ยาประเภท statin, nicotinic acid ซึ่งลดะระดับคอเลสเตอรอลเพื่อลดความเสี่ยงของการตีบตันของเส้นเลือด
ยาดังกล่าวนั้นหากต้องกินไปตลอดชีวิตก็คงจะเป็นภาระไม่น้อย นอกจากนั้นก็ย่อมจะมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์มากมาย
ที่สำคัญคือยาทั้งหมดที่ผมกล่าวถึงนั้นดูเสมือนว่าไม่ได้เป็นการรักษาโรคหัวใจให้หายและเป็นปกติ แต่เป็นเพียงการลดอาการเสี่ยง ซึ่งอาจนำไปสู่อันตรายจนถึงชีวิต
ทางเลือกที่จะไม่ใช้ยาดังกล่าว คือการการดำเนินชีวิตให้ความดันโลหิดอยู่ในระดับปกติเส้นเลือดแข็งแรงและกล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง คือการหลีกเลี่ยงไม่ให้เป็นโรคหัวใจและ stroke ซึ่งทำได้โดยการกินให้น้อยลงทั้งในเชิงของปริมาณ ความหวานและความเค็มของอาหาร
นอกจากนั้นก็ยังมีปัจจัยที่สำคัญมากคือ การออกกกำลังกายแบบ cardio คือการทำให้หัวใจเต้นเร็วเพียงพอที่จะเป็นการออกกำลังกายของหัวใจให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงขึ้นและทำให้เส้นเลือดขยายตัวและมีความยืดหยุ่น ตลอดจนช่วยควบคุมระดับของคอเลสเตอรอลในเลือด
เพราะการออกกำลังกายจะทำให้ระดับ HDL คอเลสเตอรอลสูงขึ้น ซึ่ง HDL นั้นจะช่วยเก็บกวาด LDL ไม่ให้เกาะตามเส้นเลือด
การออกกำลังกายเช่นการวิ่งให้หัวใจเต้นเร็วให้ได้ประโยชน์ในการทำให้เส้นเลือดและหัวใจแข็งแรงนั้น ข้อมูลจาก Harvard Medical School บทความชื่อ “Interval training for a stronger heart” 6 สิงหาคม 2015 สรุปได้จากตารางข้างล่างนี้
เริ่มต้นที่การคำนวณการเต้นของหัวใจที่เร็วที่สุดตามอายุ เช่น หากอายุ 55 ปี หัวใจควรเต้นเร็วที่สุดไม่เกิน 165 ครั้งต่อ 1 นาที (คำนวณโดยการนำเอา 220 ตั้งแล้วลบด้วยอายุ) แต่หากอายุ 65 ปีหัวใจควรเต้นสูงสุดไม่เกิน 155 ครั้งต่อ 1 นาที
การจะออกกำลังกายให้ให้หายใจเร็วเพื่อให้หัวใจเต้นเร็วเพียงพอ (aerobic zone) ที่จะ ทำให้หัวใจและเส้นเลือดแข็งแรงขึ้น (enhance cardio vascular fitness) นั้นในเบื้องต้นจะอยู่ที่ระดับ 60% ถึง 70% ของการเต้นเร็วที่สุดของหัวใจ
เช่น กรณีที่อายุ 55 ปี ก็ควรจะออกกำลังกาย เช่น การวิ่งหรือเดินเร็วเพื่อให้หัวใจเต้นประมาณ 100-116 ครั้งต่อ 1 นาที ในขั้นต้นและเมื่อแข็งแรงขึ้นตามลำดับแล้วก็สามารถเพิ่มขึ้นไปที่ 80% ซึ่งจะเป็นระดับที่ให้ประโยชน์อย่างชัดเจนมากขึ้นในเชิงของการทำให้หัวใจแข็งแรง (the fitness gains will be even more noticeable)
แปลว่าหากต้องการให้การอออกกำลังกายให้ได้ผลอย่างชัดเจนต่อการทำให้หัวใจแข็งแรงเพื่อหลีกเลี่ยงการต้องพึ่งพาการกินยา ก็คงต้องตั้งเป้าเอาไว้ที่ประมาณ 132 ครั้งต่อ 1 นาทีสำหรับคนที่อายุ 55 ปี และประมาณ 124 ครั้งต่อนาทีสำหรับคนอายุ 65 ปี เป็นต้น
ทั้งนี้ งานวิจัยพบว่าการออกกำลังกายให้ได้ประโยชน์ทาง cardio นั้นสามารถทำได้ถึง 2-3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เทียบเท่าการวิ่งสัปดาห์ละ 15-20 กิโลเมตร
ผมจึงจะต้องขอเขียนถึงเทคโนโลยีในอนาคตที่น่าจะพลิกผัน (disrupt) การดูแลรักษาสุขภาพและการนำไปสู่การสูงวัยอย่างมีสุขภาพเอาไว้ในครั้งหน้าครับ โดยในช่วงนี้กลยุทธ์ของผมคือดูแลสุขภาพตัวเองให้สมบูรณ์ที่สุด (แปลว่าชะลอความแก่ของร่างกาย) เพื่อรอเทคโนโลยีล้ำสมัยให้สามารถนำมาใช้ได้จริง
ซึ่งเทคโนโลยี 3 แนวทางที่ผมคิดว่าน่าจะมีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพในอนาคตคือ mRNA, partial induced pluripotent stem cells และ Crispr-Cas 9 ครับ.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร
ลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร