ประชาชนควรตั้งรับผลจากนโยบายกัญชาเสรีอย่างไร | บัณฑิต นิจถาวร
9 มิ.ย. รัฐบาลได้ปลดล็อกไม่ให้กัญชาอยู่ในรายชื่อยาเสพติดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข หมายถึง ประชาชนสามารถปลูกและบริโภคส่วนประกอบของพืชนี้ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ทำได้ไม่จำกัดจำนวน ทั้งในครัวเรือนและเชิงพาณิชย์ เป็นการใช้อำนาจรัฐทำสิ่งที่ผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมาย
แต่การปลดล็อกทำในขณะที่รัฐยังไม่มี พ.ร.บ .กัญชง กัญชา พ.ศ...ที่จะใช้ควบคุมการปลูก และบริโภคกัญชาเพื่อความปลอดภัยของคนในสังคมเหมือนในต่างประเทศ
ช่องว่างนี้ทำให้ประชาชนมีความเป็นห่วงถึงผลเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ที่ไม่รู้ว่าจะนานเท่าไรจนกว่ากฎหมายใหม่จะออก เป็นความห่วงใยที่มีเหตุมีผล รัฐบาลจึงควรแสดงความรับผิดชอบโดยเร่งดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
ในทางเศรษฐศาสตร์ การเปิดเสรีทำให้สินค้าที่เปิดเสรีเติบโตเพราะการผลิตและการบริโภคไม่มีการควบคุม ใครใคร่ซื้อ...ซื้อ ใครใคร่ขาย...ขาย กลไกตลาดและความต้องการแสวงหากำไรจะเข้ามาขับเคลื่อนการผลิต การบริโภคและราคาของสินค้านั้น นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับกัญชาเช่นกัน
สิ่งที่จะเกิดขึ้นและเป็นสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่มีความเป็นห่วงคือ
1. การปลดล็อกไม่ให้กัญชาเป็นสารเสพติด โดยไม่มีมาตรการควบคุมจะสร้างแรงจูงใจให้การปลูกและการผลิตกัญชาขยายตัวมาก พร้อมมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะใช้กัญชาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าหรือทำอาหารเพื่อกระตุ้นการบริโภค อุปทาน
หรือการผลิตกัญชาที่มีมากขึ้นจะทำให้ราคากัญชาลดลงและการบริโภคขยายตัว เป็นไปตามกฎของเซย์หรือ Say's Law ของเศรษฐศาสตร์ คือ อุปทานสร้างอุปสงค์ ผลคือสังคมจะผลิตและบริโภคกัญชามากขึ้น
จุดที่หลายฝ่ายห่วงใยคือ เด็ก เยาวชน รวมถึงผู้ใหญ่ในกลุ่มเปราะบางจะเข้าถึงและเสพกัญชากันได้ง่ายเพราะราคาถูกและไม่มีการควบคุม ตั้งแต่เด็กนักเรียน นักศึกษา คนในวัยทำงาน และผู้ใหญ่ที่ติดหรืออยากลอง ซึ่งจะสร้างปัญหาตามมามากมาย โดยเฉพาะถ้าคนบริโภคมีมากทั้งในเรื่องสุขภาพและการบั่นทอนคุณภาพและสติสัมปชัญญะของคนในสังคม
2. ปัญหาทางสังคมที่จะเกิดขึ้นตามมาโดยเฉพาะในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากและความยากจนกำลังเพิ่มขึ้นอย่างประเทศเรา ที่ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์และพิษของกัญชา
นโยบายกัญชาเสรีที่ไม่มีการควบคุมทำให้ผู้ที่ยากจนหรือมีรายได้น้อยจะอ่อนไหวง่ายต่อการบริโภคและการใช้ประโยชน์กัญชาในทางที่ผิด และถ้าบริโภคมากก็จะสร้างภาระและปัญหาให้กับครอบครัว เป็นการสร้างปัญหาให้กับสังคมแม้จะสามารถหลีกเลี่ยงได้
3. กัญชาโดยเนื้อแท้ที่คนทั้งโลกเข้าใจคือ สารเสพติด การที่ประเทศมีคนบริโภคกัญชามากเพราะนโยบายในประเทศไม่มีการควบคุมจะสร้างปัญหาทางสาธารณสุขตามมาจากการเจ็บป่วยที่จะเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลต้องใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อเยียวยาคนเหล่านี้โดยการจัดตั้งสถานที่บำบัดต่างๆ ทำให้สังคมจะมีภาระมากขึ้นทั้งในแง่การเงินและจิตใจที่ต้องดูแลคนเหล่านี้
(ภาพถ่ายโดย Aphiwat chuangchoem)
ความห่วงใยเหล่านี้มีเหตุมีผลและบทเรียนที่ชัดเจนสุดในเรื่องนี้ในระดับประเทศก็คือ กรณีสงครามฝิ่นในจีนเมื่อปี 1840s ที่การบริโภคฝิ่นอย่างแพร่หลายในจีนแม้เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ได้ทำให้สังคมจีนอ่อนแอลงและในที่สุดก็ถูกรุกรานโดยประเทศมหาอำนาจ
นโยบายกัญชาเสรีเป็นตัวอย่างของการทำนโยบายสาธารณะที่ส่งผลกระทบกว้างขวางต่อสังคมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทางเลือกที่ดีสุดคือชะลอการปลดล็อกจนกว่ากฎหมายที่จะใช้ป้องกันและควบคุมการผลิต และการบริโภคกัญชามีการประกาศใช้เพื่อให้การใช้ประโยชน์
กัญชามีการควบคุมดูแลและเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้คือการแพทย์และเศรษฐกิจเพื่อความปลอดภัยของคนในสังคม แต่เมื่อรัฐบาลไม่ชะลอและเลือกที่จะให้เกิดช่องว่างก็ควรต้องมีมาตรการป้องกันเพิ่มเติม ไม่ใช่ปล่อยเลยตามเลย ขณะเดียวกันสังคมก็ต้องร่วมมือกันหาทางลดผลทางลบที่อาจเกิดขึ้น
ในเรื่องนี้มีสามเรื่องที่ควรพิจารณา
1. รัฐบาลควรเร่งออก พ.ร.บ.กัญชง กัญชา พ.ศ...ที่เตรียมไว้เป็นเครื่องมือในการควบคุมโดยเร็วสุด กำหนดเงื่อนเวลาที่ชัดเจน เช่น หนึ่งเดือน ที่จะให้ พ.ร.บ. ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ถือเป็นเรื่องด่วนที่ต้องรับผิดชอบที่ต้องรีบทำเป็นกรณีพิเศษ
เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในการควบคุม โดยความร่วมมือของทั้งสองสภา เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ถ้ามีความจำเป็นเพื่อประโยชน์และความปลอดภัยของประชาชน ตัวอย่างเช่น พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจจากโรคระบาดโควิด เป็นต้น
2. ประชาชนควรสั่งสอนและให้ความรู้ลูกหลาน เพื่อนฝูงและคนใกล้ชิด ถึงภัยจากการเสพสิ่งเสพติดเพื่อลดการมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เกี่ยวกับกัญชา ไม่ว่าจะเป็น การผลิตและการบริโภคทั้งเพื่อตัวเองและสังคม รณรงค์ไม่ให้มีการใช้ พกพา หรือบริโภคกัญชาในสถานที่กึ่งสาธารณะที่ประชาชนใช้ร่วมกัน
เช่น โรงแรม หอพัก บ้านเช่า อาคารชุด สถานศึกษา ร้านอาหาร พับ บาร์ อาคารพาณิชย์ ห้างสรรพสินค้า รวมถึงการใช้กัญชาเป็นวัตถุดิบในการทำอาหารโดยไม่แจ้งให้ผู้บริโภคทราบ สิ่งเหล่านี้สำคัญต่อสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของส่วนรวม
3. กระทรวงการคลังควรพิจารณาเก็บภาษีการปลูกและผลิตกัญชาเชิงพาณิชย์ รวมถึงที่ครัวเรือนผลิตในปริมาณที่เกินกำหนด เก็บภาษีในอัตราที่สูงเป็นพิเศษ เพื่อชดเชยความเสี่ยงที่กัญชาอาจนำภัยสู่ผู้บริโภคและสังคมเหมือนภาษีเหล้าและบุหรี่ เพื่อลดแรงจูงใจในการผลิตและบริโภค
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
[email protected]