เศรษฐกิจฐานราก คือโอกาสในอนาคต | ธราธร รัตนนฤมิตศร
ท่ามกลางโลกผันผวนปรวนแปร ภาวะสงคราม เงินเฟ้อ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโลกที่กำลังมุ่งหน้าสู่โลกดิจิทัลและเมตาเวิร์สอย่างเต็มรูปแบบ การอยู่รอดและเติบโตในอนาคตดูจะเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง
เมื่อมองไปที่รากฐานที่แท้จริงของมนุษย์ ภาคเกษตรกรรมและความมั่นคงทางอาหารก็ยังคงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในลำดับสูงสุด ดังคำกล่าวของ ม.จ.สิทธิพร กฤดากรที่ว่า “เงินทองคือมายา ข้าวปลาคือของจริง”
เมื่อใครๆ กล่าวถึงจุดแข็งของไทย ไม่ว่าจะประเมินด้วยตนเองหรือประเมินด้วยสายตาของคนนอก ภาคเกษตรกรรมก็จะถูกนับเป็นจุดแข็งของประเทศในอันดับต้นๆ เสมอ
แม้ปัจจุบัน ภาคเกษตรกรรมจะมีส่วนแบ่งในจีดีพีไม่มากนัก แต่คนไทยจำนวนมากก็ยังคงต้องพึ่งพาภาคเกษตรกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม
และแม้ว่าเกษตรกรไทยจะเผชิญปัญหาสารพัดจนรัฐบาลทุกยุคสมัยจะต้องมีนโยบายเข้าไปช่วยเหลือ แต่ภาคเกษตรกรรมก็ยังน่าจะเป็นพื้นที่แห่งโอกาสสำคัญรอการยกระดับขึ้นไปในอนาคต
ผู้เขียนมีโอกาสได้ทำงานวิจัยและพูดคุยกับคนรุ่นใหม่หลายคนที่เห็นโอกาสของพื้นแผ่นดินและภาคเกษตรไทย ที่เปรียบประดุจเหมืองทองคำที่รอการขุดค้นพบ
คนรุ่นใหม่เหล่านี้ ได้นำความรู้ เทคโนโลยีและการตลาดสมัยใหม่เข้าไปพัฒนาพื้นแผ่นดินจนสามารถทำการเกษตรได้อย่างประสบความสำเร็จ
ผู้เขียนขอยกตัวอย่างกรณีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทอง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ปลูกกล้วยหอมทองส่งร้านสะดวกซื้อชั้นนำทั่วภาคอีสานตอนบน และสามารถส่งออกไปตลาดต่างประเทศอย่างญี่ปุ่นที่มีมาตรฐานสูงได้สำเร็จ
คุณจักรินทร์ โพธิ์พรม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทอง อำเภอสร้างคอม จังหวัดอุดรธานี ได้เล่าให้ฟังว่าตนเองเริ่มต้นเรียนรู้การปลูกกล้วยหอมทองในพื้นที่ด้วยตนเองและอาศัยการดูงานในจังหวัดอื่นๆ ที่ปลูกกล้วยหอมได้ดี เช่น นนทบุรี ในช่วงเริ่มต้น เริ่มปลูกเพียง 4 ไร่ ทำให้ยังไม่ได้รายได้ที่ดีและต่อเนื่อง
ต่อมามีกระแสนิยมกล้วยหอมทองที่นิยมซื้อเป็นของฝากในช่วงเทศกาลบั้งไฟพญานาค เป็นผลให้คนเริ่มหันมาปลูกกล้วยหอมทองเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โจทย์สำคัญในเวลานั้นคือจะทำอย่างไรให้กล้วยหอมทองขายได้ในทุกช่วงเวลา ไม่ใช่เฉพาะช่วงเทศกาล
ต่อมาคุณจักรินทร์ได้เดินทางไปประกอบอาชีพด้านเกษตรที่ประเทศอิสราเอล ซึ่งทำให้ได้รับการถ่ายทอดทักษะใหม่ๆ ด้านการเกษตร ระหว่างอยู่ที่ต่างประเทศก็ได้ถ่ายทอดทักษะให้กับครอบครัวที่บ้าน
เพื่อนำไปทดลองปรับใช้ด้วย ผ่านการเริ่มเปลี่ยนวิธีการผลิตตั้งแต่ “การทำระบบน้ำหยด” ซึ่งได้ผลลัพธ์ค่อนข้างดี
พื้นที่อีสานไม่มีแหล่งน้ำจึงต้องขุดน้ำบาดาลกักเก็บน้ำเอง การทำระบบน้ำหยดถือเป็นระบบน้ำที่เหมาะสมเพราะสามารถควบคุมและบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถให้น้ำได้ทุกวัน
การปลูกเป็นระบบน้ำหยด ทำให้ปลูกกล้วย 1 รุ่น สามารถเก็บเกี่ยวได้ 5-6 รุ่น จนถึงปัจจุบันมีพื้นที่การปลูกกว่า 130 ไร่ และกำลังจะขยายพื้นที่ปลูกเป็น 170 ไร่
ส่วนการให้ปุ๋ย เน้นปุ๋ยคอกเพราะจะได้ความหอมที่ดีที่สุด ส่วนไนโตรเจนเน้นจากอินทรีย์วัตถุเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังมีการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาควบคุมโรคในแปลงและใช้ผ้าพลาสติกคลุมลดวัชพืช
เมื่อกลับมาที่ไทยและเริ่มกระบวนการพัฒนาอย่างเต็มระบบ จุดเปลี่ยนสำคัญคือเมื่อสามารถส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นได้สำเร็จ ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญของการขยายตลาดสู่ต่างประเทศและความสามารถในการพัฒนาคุณภาพกล้วยหอมทองให้ปลอดสารพิษ ก่อนที่จะขยับมาส่งกล้วยหอมทองเข้าร้านสะดวกซื้อชั้นนำในพื้นที่ 8 จังหวัดอีสานตอนบนที่เป็นตลาดใหญ่ควบคู่กันไป
ส่งผลทำให้เกษตรกรในพื้นที่เริ่มสร้างเนื้อสร้างตัวควบคู่ไปกับการได้อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัวได้ โดยไม่ต้องย้ายถิ่นฐานไปประกอบอาชีพที่อื่น
อันเป็นวัตถุประสงค์แกนแห่งหลักการของการรวมกลุ่ม สำหรับยอดขายโดยเฉลี่ยของกลุ่มมีไม่ต่ำกว่าวันละ 25,000 ลูก คิดเป็นรายได้ประมาณปีละ 40 ล้านบาท
วิกฤติโควิด-19 ทำให้กลุ่มตระหนักถึงการเตรียมความพร้อมรับวิกฤติผ่านการกระจายความเสี่ยง และยกระดับการแปรรูปผลิตภัณฑ์และพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์จากกล้วยหอมทองใหม่ๆ ในอนาคต เช่น การทำแป้งสเปรย์ดราย สาเกกล้วย ผ้าทอจากเส้นใยกล้วย เป็นต้น
"กรณีศึกษาแบบนี้เกิดขึ้นจำนวนมากในประเทศไทย ที่คนรุ่นใหม่กำลังนำความรู้จากโลกกว้างไปประยุกต์ทดลองกับพื้นที่ของตน"
มองเห็นโอกาสทางการตลาด โดยใช้ตลาดนำการผลิต มีการบริหารจัดการมาตรฐานตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่ผลิตไปจนถึงการตลาด รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จากพืชหลักที่เป็นวัตถุดิบสำคัญและมีความต้องการของผู้บริโภค
ปัจจุบัน อายุเฉลี่ยของเกษตรกรไทยโดยภาพรวมกำลังเข้าสู่วัยผู้สูงอายุมากขึ้น หากประเทศใช้จังหวะนี้ ออกนโยบายที่สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่เข้าไปรับไม้ต่อ เพื่อปรับเปลี่ยนพลิกโฉมภาคเกษตรไทยให้ทันสมัย หันไปปลูกพืชมูลค่าสูง (High Value Crop) ที่รับกระแสโลก
กระแสโลก กำลังมุ่งไปทางอาหารปลอดสารพิษและอาหารออร์แกนิก สนับสนุนการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมและการจัดการสมัยใหม่เข้าไปพลิกฟื้นภาคเกษตรไทย ก็จะเป็นโอกาสสำคัญของเศรษฐกิจฐานรากไทยที่น่าจะสามารถกลายเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่จะขับเคลื่อนประเทศไปพร้อมกับกระจายความเจริญและรายได้ออกไปทั่วประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน.
คอลัมน์ คิดอนาคต
ธราธร รัตนนฤมิตศร
สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)
https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/