ครึ่งปีผ่านไป .. กับผลตอบแทนสินทรัพย์ประเภทต่างๆ

ครึ่งปีผ่านไป .. กับผลตอบแทนสินทรัพย์ประเภทต่างๆ

ผ่านไปแล้วครึ่งปี 2022 แม้เศรษฐกิจโลกในภาพรวมจะยังขยายตัวได้ในเกณฑ์ดีอยู่ อันเป็นผลต่อเนื่องมาจากนโยบายการเงินการคลังในช่วงของการแพร่ระบาด แต่แรงกดดันเงินเฟ้อที่สร้างความกังวลต่อเนื่อง และการเปลี่ยนนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมากเป็นเข้มงวดขึ้นภายในระเวลาอันสั้นก็ส่งผลเสียต่อราคาสินทรัพย์อย่างมาก ทำให้ตราสารแทบจะทุกอย่างปรับตัวลดลงมาก และน่าจะต่ำสุดในรอบหลายสิบปี ...

วันนี้ลองมาทบทวนเพื่อตรวจสอบฐานะการลงทุนและเพื่อเป็นไอเดียสำหรับการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังกันครับ

กลุ่มตราสารหนี้ (Bloomberg Barclays Global Aggregate) ลดลง 13.9% ซึ่งเป็นการลดลงในทุกชนิดของกลุ่มตราสารหนี้ ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรรัฐบาล (Global Treasury) -14.8% หุ้นกู้เอกชนในกลุ่ม Investment Grade (IG) -13.5% และกลุ่ม High Yield (HY) -16.7% โดยส่วนสำคัญคือแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นเร็ว ทำให้ราคาพันธบัตรปรับลดลงมาก ทำให้กระแสเงินสดที่นักลงทุนได้รับจากอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วไม่เพียงพอจะชดเชยในส่วนนี้

หลังจากเศรษฐกิจโลกอยู่ในแนวโน้มดอกเบี้ยต่ำมานาน ทำให้การเปลี่ยนแปลงในรอบนี้กลุ่มตราสารหนี้ได้รับผลกระทบเยอะมากกว่าที่ผ่านๆ มา ในส่วนของแนวโน้มในช่วงถัดไปก็คงต้องจับดูแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก ว่าจะยังคงเพิ่มขึ้นไปมากกว่าที่คาดไว้ในปัจจุบันหรือไม่

ในส่วนของตลาดตราสารหนี้ในเมืองไทย กลุ่มตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนในทำนองเดียวกัน แต่อาจจะมีขนาดที่เล็กกว่าเนื่องจากแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยที่น้อยกว่า แต่ก็ยังคงต้องจับตาดูท่าทีของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยต่อไป

กลุ่มตราสารทุน (MSCI All Country World Index) ลดลง 17.3% และปรับลดลงในเกือบทุกประเทศทั้งในประเทศพัฒนาแล้ว (-17.7%) และกำลังพัฒนา (-18.6%) โดยดัชนีในกลุ่มที่เราคุ้นเคยกันดี ดัชนี NASDAQ ให้ผลตอบแทนต่ำสุด (-28.9%) ตามด้วยดัชนี KOSPI (-22.6%) ของเกาหลีใต้ และดัชนี TAIEX (-21.3%) ของไต้หวัน

ซึ่งทั้งสามดัชนีเป็นกลุ่มที่ได้รับผลดีและปรับตัวขึ้นมากในช่วงก่อนหน้านำโดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีต่างๆ ในขณะที่ประเทศในเอเชียส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนติดลบเช่นกัน ยกเว้นอินโดนีเซีย (3.2%) ในขณะที่ประเทศอื่นๆ รวมถึงดัชนี SET Index ของไทยด้วย ติดลบในช่วง 5 ถึง 10%ซึ่งน้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว 

อย่างไรก็ตามในช่วงก่อนโดยเฉพาะในปี 2021 หน้าดัชนีต่างๆ เหล่านี้ก็ปรับตัวขึ้นไม่มากนักเช่นกัน ส่วนดัชนี CSI300 ของจีนที่ดูจะฟื้นตัวก่อนใครเพื่อน (+9.4% ในช่วงเดือนล่าสุด) แต่เนื่องจากได้รับแรงกดดันอย่างมากในช่วงต้นปี ทำให้โดยรวมยังคงให้ผลตอบแทน -9.6% ในช่วงครึ่งปีแรก

โดยราคาที่ปรับตัวลดลงมาอย่างมีนัยสำคัญก็ทำให้ในแง่ของระดับมูลค่าการซื้อขายใกล้เคียงหรือต่ำกว่ากับค่าเฉลี่ยในระยะยาวมากขึ้น เช่น อัตราส่วน Forward Price-to-Earning ของดัชนี S&P500 อยู่ที่ 16.7 เท่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่ 18.2 เท่า ดัชนี NASDAQ อยู่ที่ 23.2 เท่า เทียบกับ 24.1 เท่า หรือดัชนี SET Index ของไทยที่ 16.1 เท่า เทียบกับ 16.2 เท่า

ทำให้หลายๆ ฝ่ายคาดว่าการปรับลดลงน่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงในอนาคต อย่างไรก็ตามแรงกดดันของตราสารทุนน่าจะขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลักที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน ได้แก่ เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย และความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ ภาวะ Stagflation เป็นสำคัญ

กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์และการลงทุนทางเลือก (S&P GSCI Commodity Index) น่าจะเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดที่ +28.2% โดยเป็นการปรับตัวขึ้นในลักษณะที่ไม่เท่ากันระหว่างกลุ่มพลังงาน (+51.1%) สินค้าเกษตร (+8.6%) ซึ่งได้ประโยชน์ด้านราคาจากความไม่แน่นอนของปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ กับกลุ่มแร่โลหะต่างๆ (-13.8%)

ดังนั้นหากสนใจการลงทุนในกลุ่มนี้จำเป็นจะต้องเลือกให้ดี และสุดท้ายต้องอย่าลืมว่าผลตอบแทนของกองทุนที่ลงทุนในกลุ่มนี้ซึ่งมีการใช้ตราสารอนุพันธ์เข้ามาเกี่ยวข้องอาจจะให้ผลตอบแทนที่แตกต่างกันออกไปได้ ในขณะที่กลุ่มกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ซึ่งได้รับแรงกดดันจากภาวะตลาดหุ้นโดยรวมที่ไม่ดี และดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นก็ให้ผลตอบแทนติดลบเช่นกัน (S&P Global REIT Index -20.1%)

ภาพรวมในช่วงครึ่งปีหลัง ยังมีแนวโน้มที่จะได้รับแรงกดดันต่อเนื่องจากปัจจัยที่ยังดูมีความไม่แน่นอนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มเงินเฟ้อที่แม้หลายๆ ส่วนคาดว่าน่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในสหรัฐฯ แต่การส่งผ่านเงินเฟ้อไปยังกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เศรษฐกิจมีความสามารถในการรองรับต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มมีน้อยกว่า

จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตามองต่อไป ไม่นับราคาพลังงานและอาหารที่ยังคงได้รับแรงกดดันจากเรื่องของสงครามในยูเครนที่ยังไม่มีทีท่าสิ้นสุดหรือหาข้อสรุปได้ในเร็ววัน นอกจากนั้นช่วงไตรมาสสามน่าจะเห็นแนวโน้มเศรษฐกิจได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

สุดท้ายนี้ ในภาพรวมก็น่าจะยังคงต้องเน้นการลดความเสี่ยงและถือเงินสดเพื่อรอให้ความแน่นอนเกี่ยวกับเงินเฟ้อและผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเด่นชัดขึ้นในช่วงถัดไปมีมากขึ้นเสียก่อน รวมถึงการกระจายความเสี่ยงของเงินลงทุนให้มากขึ้น หรือหากจะลงทุนในช่วงนี้สำหรับระยะยาว การลงทุนในกองทุนที่มีการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ก็นับเป็นทางเลือกที่ดูจะปลอดภัยกว่า แต่ทั้งนี้ก็คงต้องขึ้นอยู่กับพอร์ตการลงทุนของทุกท่านและระดับความเสี่ยงที่รับได้เป็นหลักครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด