สงครามจัดระเบียบโลกใหม่ แต่ใครจะขึ้นนำ | เรือรบ เมืองมั่น
สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อเกินคาด สร้างความเปลี่ยนแปลงแก่สภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงของโลกหลายประการ
นอกเหนือจากวิกฤติด้านเศรษฐกิจที่ลามไปทั่วโลก อันเนื่องมาจากปัญหาด้านพลังงาน และผลผลิตการเกษตรแล้ว การแบ่งกลุ่มระหว่างฝ่ายที่ถือหางขั้วอำนาจเดี่ยวสหรัฐ นับตั้งแต่สิ้นสุดยุคสงครามเย็น กับฝ่ายที่ยอมรับแกนขั้วอำนาจใหม่รัสเซีย-จีน มีความชัดเจนมากขึ้น
ทำให้โลกกลายเป็นแบบพหุภาคีอย่างที่จะย้อนกลับไปได้ ก็ด้วยการล่มสลายของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น วันนั้นอาจไกลหรือใกล้ก็ได้ ระเบียบโลกใหม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน ไม่ว่าฝ่ายใดจะชนะ ก็เหมือนกับจักรวรรดิในอดีต
สหรัฐที่เคยอยู่ในจุดสูงสุดของโลก ในวันที่ชนะสงครามเย็น ก็ได้พยายามธำรงรักษาความยิ่งใหญ่ของตนไว้ด้วยการส่งเสริมหลักการเดิมของตน ซึ่งของสหรัฐก็คือ คุณค่ายึดถือแบบตะวันตกที่สืบมาจากชาวคริสต์อีกทีหนึ่ง คือพวกมนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม การค้าเสรี ไม่ทุจริตคอร์รัปชัน และประชาธิปไตย สมทบด้วยการปรับตัวทีละเล็กละน้อยไม่ให้ดูเป็นหลักการที่ชนผิวขาวเป็นใหญ่
เช่น หลักความหลากหลายของชาติพันธุ์และศาสนา สิทธิกำหนดใจตนเองของชนกลุ่มน้อย และการอ้างความชอบธรรมที่ทั่วโลกยอมรับได้ พาประชาคมโลกดำเนินต่อไปตามแนวทางนี้ ซึ่งสหรัฐที่มีความพร้อมในทุกมิติกว่าใครก็จะยังคงเป็นอันดับหนึ่งของโลกในด้านสำคัญ ๆ หากต้องรบเพื่อปกป้องหลักการก็พร้อมจะทำ เราจึงเห็นว่า สงครามกับประเทศเล็กนอกแถวยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ไม่ว่าจะเป็นยูโกสลาเวีย อิรัก หรืออัฟกานิสถาน
การนำของสหรัฐสร้างประโยชน์แก่ประเทศผู้คล้อยตามที่ยึดถือหลักการระเบียบโลกแบบเดียวกัน เช่น ยุโรปตะวันตก ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ทำให้ประเทศเหล่านี้มั่งคั่งกว่าชาติอื่น ๆ และพร้อมที่จะร่วมมือกับสหรัฐในเรื่องใหญ่ ๆ โดยเฉพาะด้านความมั่นคงและการทหาร
ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่อยากค้านขัดสหรัฐและพันธมิตร การให้ความร่วมมือในกรอบภาคีต่าง ๆ ในกลไกที่สหรัฐโดดเด่นอยู่ ยังประโยชน์ให้ประเทศเหล่านี้ไม่น้อย รูปแบบนี้สหรัฐหวังว่าจะยืนยาวไปตลอดกาล แต่สเกลของความขัดแย้งกับจีน-รัสเซีย อาจทำให้ความหวังของสหรัฐไม่เป็นเช่นนั้น
แม้ว่าจะดูเป็นประเทศที่ทันสมัย มีศักยภาพหลายด้านไม่น้อยหน้าสหรัฐ แต่รัสเซียและจีนมีหลักการและความเป็นมาที่ต่างจากพวกแองโกลแซกซอน-ยุโรปตะวันตกมาตั้งแต่ไหนแต่ไร หนทางเดียวที่จะทำให้สองชาตินี้กลืนเข้าสู่ระบบที่สหรัฐเป็นใหญ่เหมือนที่อังกฤษหรือฝรั่งเศสเป็นนั้น น่าจะเป็นการที่รัสเซียและจีนต้องแตกสลายเป็นรัฐย่อย ๆ ซึ่งโลกไม่เคยเห็นมานานหลายร้อยปีหรือพันปีแล้ว
แม้ว่าก่อนหน้านี้ สองชาติที่อ่อนแอกว่าโลกตะวันตกจะ “ตั้งแข็งเมือง” แบบไม่กล้ารุก (จริง ๆ ก็เคยรุกมาแล้วในยุคอุดมการณ์คอมมิวนิสต์แรง ๆ แต่สู้โลกเสรีไม่ไหว ต้องชะงักงันไปแก้ปัญหาภายในของตนให้เสร็จก่อน) แต่ปัจจุบันที่รัสเซียและจีนมีผู้นำที่เข้มแข็งและทะเยอทะยานในการที่จะเผยแพร่หลักการของตน ภายใต้กรอบปณิธานแห่งอดีต พร้อมด้วยศักยภาพอย่างเต็มที่ จึงมีลักษณะเป็นภัยคุกคามกับระบอบเก่าของสหรัฐอย่างเลี่ยงไม่ได้
ปณิธานแห่งอดีตของรัสเซียกับจีน คือ อยากล้างอายที่เคยตกต่ำ กลับไปเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่เหมือนสมัยสองร้อยปีก่อน ด้วยหลักคิดเช่นนี้จึงทำให้รัสเซียเผชิญหน้ากับนาโต และจีนเผชิญหน้ากับมหาอำนาจอันดับหนึ่งคือสหรัฐ แต่สิ่งที่ทำให้ชาติตะวันตกยอมไม่ได้คือ หลักการของรัสเซียกับจีนไม่จำเป็นต้องเดินตามคุณค่ายึดถือแบบตะวันตก อยากจับผู้เห็นต่างทางการเมืองก็ทำ อยากยึดดินแดนด้วยกำลังก็เอา แล้วอ้างเหตุผลที่ไม่อิงกับบรรทัดฐานสากลที่ก่อร่างยอมรับกันมาในสหประชาชาติ
มาวันนี้ทั้งสองชาติเหมือนจะเดินเกมแตกหักกับชาติตะวันตก จนถูกบีบด้วยกลไกแทบทุกด้านของสหรัฐกับพันธมิตรยกเว้นสงคราม ทำให้ทั้งสองชาติต้องแสวงหามิตรอย่างกว้างขวางขึ้นกว่าเดิมที่พยายามทำอยู่แล้ว ผลคือ ทั้งสองชาติร่วมมือกันมากขึ้น พันธมิตรที่จะร่วมมือกับสองชาติในเวทีต่าง ๆ เช่น BRICS+ หรือ BRI ก็ได้รับการเชื้อเชิญแบ่งปันผลประโยชน์มากขึ้น ภายใต้ระเบียบโลกเดิม
ใช่ว่าชาติเล็ก ๆ ที่ได้รับประโยชน์น้อยจะชอบใจสหรัฐและพันธมิตร ประเทศในอเมริกาใต้ แอฟริกา และตะวันออกกลาง จำนวนไม่น้อยมองว่าตนเองถูกสหรัฐหลอกใช้ สงครามยูเครนไม่เกี่ยวอะไรกับตน และจีนเป็นทางเลือกที่อาจจะดีกว่า การเดินเหินของประเทศเหล่านี้จึงไม่รู้สึกผิดอะไรหากเจรจาและมีข้อตกลงกับจีน-รัสเซีย ในขณะที่ก็ยังร่วมมือกับชาติตะวันตกอยู่ นั่นคือในยุคก่อนปี 2022
ตอนนี้สงครามในยุโรปเกิดขึ้นแล้ว และอาจเกิดในแปซิฟิกเมื่อใดก็ได้ เราเห็นรัฐบาลวอชิงตันเดินเกมเร็ว คล้ายกับสไตล์ของ George Bush ตอนทำสงครามต่อต้านก่อการร้ายเข้าไปทุกที ว่าถ้าไม่เลือกข้างนี้ก็ต้องเป็นศัตรูกัน กฎหมายแรง ๆ อย่าง CAATSA หรือเย้ายวนใจอย่างโครงการ PGII จึงทยอยออกมาบีบให้ชาติที่อยากเป็นกลางต้องเลือกข้าง
และอาจชัดเจนยิ่งกว่านี้หากเกิดสงครามตรงระหว่างมหาอำนาจจริง ๆ หลังฝุ่นตลบแล้วนั่นแหละจึงจะรู้ว่าระบอบสังคมนิยมแบบจีน หรือสหภาพแบบยูเรเชีย จะกลายเป็นโมเดลใหม่ของโลกได้หรือไม่