Technical Recession น่ากลัวแค่ไหน
นอกจากเรื่องเงินเฟ้อสูง ที่เร่งให้ธนาคารกลางทั่วโลกขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ประเด็นใหญ่ที่ปกคลุมให้บรรยากาศการลงทุนอึมครึมหนักขึ้นไปอีกก็คือความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย ล่าสุด FED สาขา Atlanta นำเสนอโมเดลการคำนวนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP Now ซึ่งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไตรมาส 2/2022 จะหดตัว -1.2% QoQ (ข้อมูล ณ 8 กรกฎาคม)
หลังจากหดตัวไปแล้ว -1.6% QoQ ในไตรมาสแรก ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง นั่นหมายถึงจะเกิดเหตุการณ์ที่ GDP สหรัฐฯ ติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน เข้ากับนิยามของ การเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค หรือ Technical Recession
ก่อนหน้านี้ เคยมีสัญญาณลบจากตลาดพันธบัตรที่ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี และ 2 ปี (Yield spread) ปรับลดลงจนติดลบ หรือเรียกว่า Inverted Yield curve ในช่วงต้นเดือนเมษายน แต่เกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ และพลิกกลับมาเป็นบวกได้ แต่ล่าสุดส่วนต่างนี้กลับลงมาอยู่ที่ -23 bps หรือ -0.23% (ข้อมูล ณ 13 กรกฎาคม)
ถ้าหาก Yield spread อยู่ในแดนลบเป็นระยะเวลาหนึ่ง จะบ่งชี้ถึงความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย จากข้อมูลในอดีตย้อนหลัง 40 ปี พบว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยหลังเกิด Inverted Yield curve ติดต่อกันเกิน 1 เดือน โดยเฉลี่ย 15 เดือน อีกทั้งยังมีการสำรวจจาก Bloomberg ว่านักเศรษฐศาสตร์จำนวน 38% มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเกิดภาวะถดถอยในอีก 1 ปี ข้างหน้า
ถ้าถามว่า Technical Recession น่ากลัวหรือไม่ คงจะดูเพียงตัวเลข GDP ที่ติดลบอย่างเดียวไม่ได้ ต้องพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ด้วย เช่น สถานการณ์ในตลาดแรงงาน ถ้าคนอเมริกันยังมีงานทำ มีรายได้ที่เติบโต ย่อมมีกำลังไปจับจ่ายให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้ เพราะการบริโภคภาคเอกชนคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 60% ของเศรษฐกิจโดยรวม
รายงานล่าสุดยังบอกว่าตลาดแรงงานอยู่ในเกณฑ์ดี การจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้นถึง 372,000 ตำแหน่ง สูงกว่าตลาดคาดที่ 265,000 ตำแหน่ง และเป็นการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มสุขภาพ โรงแรมและสันทนาการ การขนส่ง ตลอดจนภาคการผลิต
ทำให้ภาพรวมการจ้างงานนอกภาคการเกษตรต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิดเพียงแค่ 5.24 แสนตำแหน่ง ด้านอัตราการว่างงานอยู่ที่ 3.6% ซึ่งลดลงมาเท่ากับช่วงก่อนโควิดแล้ว ดังนั้น ตลาดแรงงานถือว่ายังแข็งแกร่ง
นอกจากตลาดแรงงานแล้ว ด้านยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้ดีแม้จะชะลอตัวลงไปบ้างจากช่วงต้นปี โดยยอดค้าปลีกล่าสุด (เดือนพฤษภาคม) อยู่ที่ +8.2% ส่วนสถานะการเงินภาคครัวเรือนยังแข็งแกร่ง หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำเพียง 75% ของ GDP
ดังนั้น เศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะสามารถรับมือกับดอกเบี้ยที่จะขยับสูงขึ้นได้ แม้มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเล็กน้อยหรือ Mild Recession แต่คาดว่าจะไม่นำไปสู่วิกฤต หรือภาวะถดถอยอย่างรุนแรง
ทั้งนี้ อาจเห็นสัญญาณลบอยู่บ้างในส่วนของค่าแรงเฉลี่ยรายชั่วโมงที่แม้จะยังเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าเงินเฟ้อ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในอนาคต อย่างไรก็ตามตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นช่วงที่ผ่านมา เริ่มมีสัญญาณชะลอลงหลังจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ เริ่มลดลง (อ้างอิงจาก Bloomberg Commodity Index ที่ลดลงมาราว 17% จากจุดสูงสุด)
โดยราคาน้ำมัน (WTI) ปรับลงแรงสู่ระดับต่ำกว่า 100 จากจุดสูงสุดที่กว่า 120 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (ข้อมูล ณ 13 กรกฎาคม) ด้านราคาโลหะและสินค้าเกษตรก็ปรับตัวลงเช่นกัน นอกจากนั้น ปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่เริ่มคลี่คลายลง หลังจีนค่อยๆ คลายล็อกดาวน์ ก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตค่อยๆ ลดลงด้วย
โดยสรุป แม้ GDP สหรัฐฯ มีโอกาสติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน (Technical Recession) แต่ยังไม่ใช่สถานการณ์ที่น่ากังวลมาก อย่างไรก็ตาม ในแง่การลงทุน นักลงทุนยังควรอยู่ในโหมดระมัดระวัง เพราะหากเงินเฟ้อยังไม่ทำจุดสูงสุด ธนาคารกลางทั่วโลกจะยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเช่นนี้ต่อไป ย่อมเป็นความท้าทายต่อการลงทุนในสินทรัพย์ทุกประเภท ทั้งตราสารหนี้ที่ราคาผันผวนตามบอนด์ยีลด์ และหุ้นที่ถูกกดดันจากความกังวลจากภาวะถดถอย
จึงแนะนำกระจายการลงทุนในหลายๆ สินทรัพย์ รวมถึงสินทรัพย์นอกตลาดที่นอกจากจะมีศักยภาพในการเติบโตสูงในระยะยาวแล้ว ยังช่วยลดความผันผวนโดยรวมของพอร์ตได้ เพราะราคาจะขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานจริงๆ ไม่เคลื่อนไหวตามแรงเก็งกำไรหรือข่าวรายวัน จึงถือเป็นส่วนเติมพอร์ตที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง