เปิดประตู SME สู่ตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชน | วาระทีดีอาร์ไอ
วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยเป็นอย่างมาก การสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการขายสินค้า/บริการ เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยสร้างรายได้นำไปเป็น ทุนหมุนเวียน ให้ได้ต่อยอดธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้น หรือช่วยต่อลมหายใจให้รอดพ้นช่วงวิกฤติไปได้
ที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐได้ออกมาตรการสนับสนุนให้ SME สามารถเข้าถึงช่องทางตลาดทั้งที่เป็นลูกค้าประชาชนทั่วไป (B2C) ลูกค้าห้างร้านบริษัทเอกชน (B2B) รวมทั้งลูกค้าหน่วยงานภาครัฐ (B2G) ผ่านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
ในปี 2563 กรมบัญชีกลางได้ออกกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 กำหนดสิทธิประโยชน์สำหรับ SME ในตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
อีกทั้งกำหนดให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้ให้แก่ SME กว่า 5.5 แสนล้านบาทในปี 2564 สสว. จึงมีแนวคิดที่จะขยายผลการขับเคลื่อนไปสู่ตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชน
อย่างไรก็ตาม แม้การจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชนจาก SME จะมีความคล้ายคลึงกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในบางประเด็นและอาจใช้กลไกหรือเครื่องมือในการสนับสนุนบางอย่างร่วมกันได้บ้าง แต่ก็มีหลายประเด็นที่แตกต่างกันอย่างมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชนไม่สามารถใช้ “การขอความร่วมมือแกมบังคับ” ได้ แต่จำเป็นต้องใช้ “การสร้างแรงจูงใจ” ให้ผู้ประกอบการเอกชนโดยเฉพาะผู้ซื้อรายใหญ่ซื้อสินค้า/บริการจาก SME มากขึ้น
สสว. จึงร่วมกับ ทีดีอาร์ไอ ศึกษาแนวทางการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชน ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลยุทธศาสตร์ นโยบาย และกลไกที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ และถอดบทเรียนจากมาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของประเทศไทย
เพื่อสรุปประสบการณ์ของประเทศต้นแบบ (Best practices) และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการและแนวทาง ที่หน่วยงานของไทยควรจะนำมาใช้ในการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชน
"บทเรียนแรกจากมาตรการสนับสนุนให้รัฐจัดซื้อจัดจ้างจาก SME ที่น่าจะนำมาปรับใช้กับการสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชน คือการเตรียมรายการสินค้า/บริการของ SME ที่มีความพร้อมให้ผู้ซื้อได้เลือกสรร"
ผู้ซื้อไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชนมีมุมที่คล้ายกันคือ ต่างก็ต้องการสินค้า/บริการในราคาที่เหมาะสม คุณภาพดี ในปริมาณที่ต้องการและทันเวลา แต่ปัญหาที่พบบ่อยคือผู้ซื้อไม่รู้จะไปหาผู้ขายที่ให้ของเหล่านั้นได้ที่ไหน
ปัจจุบันมีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการทำแพลตฟอร์ม THAI SME-GP (www.thaismegp.com) ให้ SME ที่ต้องการเป็นคู่ค้ากับภาครัฐขึ้นทะเบียนกับ สสว. และในอนาคตอันใกล้นี้ แพลตฟอร์มดังกล่าวจะได้รับการพัฒนาให้ครอบคลุมไปถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชนด้วย
จากข้อมูลเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 มี SME ที่ขึ้นทะเบียนผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว 1.3 แสนราย และมีรายการสินค้าและบริการพร้อมขายกว่า 1 ล้านรายการ น่าจะยังมี SME อีกจำนวนมากที่ยังไม่รู้ว่าการขึ้นทะเบียนจะเป็นประโยชน์กับตัวเองอย่างไร หรือยังไม่ขึ้นทะเบียนเพราะติดขัดอุปสรรคบางประการ หรือคิดว่าไม่คุ้มที่จะขึ้นทะเบียน
สิ่งที่จำเป็นซึ่งเป็นการบ้านของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังช่วยกันคิดและทำอยู่มีอย่างน้อย 2 ข้อที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างทั้งภาครัฐและเอกชน คือ การเพิ่มจำนวนผู้ขึ้นทะเบียนให้มากขึ้น
เพื่อเพิ่มโอกาสที่ผู้ซื้อไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชนได้รู้จัก SME ที่จะมาเป็นคู่ค้าได้มากขึ้น โดยเร่งประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้ SME ได้รู้และตระหนักถึงโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นจากการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นรูปธรรม
รวมทั้งการเสนอสิทธิประโยชน์ที่จับต้องได้และคุ้มค่าให้กับ SME ที่ลงทะเบียน และการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อจัดกลุ่ม SME ตามระดับความสามารถและความน่าเชื่อถือ เพื่อเพิ่มโอกาสที่ผู้ซื้อจะได้ “ของตรงปก” ตามต้องการ
ซึ่งจำเป็นต้องมีการประสานขอและแบ่งปันการใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่ และอาจต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมเพื่อเก็บข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการตัดสินใจของผู้ซื้อ
อีกบทเรียนหนึ่งคือการสนับสนุนให้ผู้ซื้อซื้อสินค้าและบริการจาก SME ให้มากขึ้น ทั้งในด้านจำนวนคู่ค้าและมูลค่าการซื้อขาย ซึ่งจะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้เลย หาก SME เองยังไม่ “ต๊าช” หรือเก่งมากพอ
แม้รัฐจะออกกฎระเบียบที่เอื้อให้ SME มีโอกาสมากขึ้น โดยให้แต้มต่อกับ SME ที่ขึ้นทะเบียนเพื่อการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐไว้กับ สสว. สามารถเสนอราคาสูงกว่าผู้ประกอบการทั่วไปได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของราคาต่ำสุดของผู้ประกอบการทั่วไป
หรือหากเป็น SME ที่ขึ้นทะเบียนกับ สสว. และได้รับการรับรอง Made in Thailand จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยด้วย สามารถเสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุดได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของผู้ประกอบการทั่วไป
รวมทั้งการให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาจัดซื้อจัดจ้างจาก SME เป็นลำดับแรกก่อน กรณีวงเงินจัดซื้อจัดจ้างไม่เกิน 5 แสนบาทต่อครั้ง แต่จะเห็นได้ว่า หากสินค้าและบริการของ SME ตกเกณฑ์คุณภาพหรือเงื่อนไขอื่นๆ SME ก็จะยังขายของไม่ได้อยู่ดี
ดังนั้น หัวใจสำคัญของการสนับสนุนจึงไม่ได้จำกัดเพียงแค่การหามาตรการบังคับหรือจูงใจผู้ซื้อเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่การพัฒนาช่วยเหลือให้ SME มีขีดความสามารถทางการแข่งขัน เก่งและกล้าดำเนินธุรกิจที่ตอบโจทย์ลูกค้า สังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย
ประเทศไทยมี SME ที่เก่งและกล้าอยู่ไม่น้อย แต่เราจะทำอย่างไรให้มี SME ที่เก่งและกล้ามากขึ้น และทำให้ SME มีโอกาสได้เจอกับผู้ซื้อรายใหญ่ โจทย์นี้มีความท้าทายมากและต้องการการร่วมแรงร่วมใจจากหลายฝ่ายในการออกแบบและขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุน ส่งเสริม อำนวยความสะดวก และกำกับดูแลอย่างเหมาะสม
เพื่อให้ SME สามารถขยายตลาด มีรายได้เพิ่มขึ้น มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น จนสามารถอยู่รอดและเติบโตได้อย่างเข้มแข็งต่อไปได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดบทความสร้างโอกาสให้แก่ SME ผ่านการจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชน สนับสนุนโดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในตอนต่อไปจะเป็นการถอดบทเรียนจากต่างประเทศ (Best practices) ที่ควรนำมาปรับใช้กับบริบทในประเทศไทย.
คอลัมน์ วาระทีดีอาร์ไอ
ณัฐวุฒิ ลักษณาปัญญากุล
ยศ วัชระคุปต์
นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)