ความสุขที่มีคุณภาพ | ประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์
ท่านผู้อ่านคิดว่าค่าเฉลี่ยของอายุคนเราอยู่ที่เท่าไร 80 ปีน่าจะเป็นคำตอบ แต่จากการสังเกตพฤติกรรมของผู้คนที่ใช้ชีวิตเสมือนหนึ่งว่า เขาน่าจะมีอายุเป็นร้อยๆ ปี ทำให้ฟุ่มเฟือยกับเวลา จะทำอะไรก็ทำแบบเรื่อยๆ มาเรียงๆ
ผู้คนบางครั้งใช้เวลาเป็นวันๆ ถกเถียงประเด็นเดิมๆ วนไปมาเหมือนพายเรืออยู่ในอ่างกะละมัง แล้วที่ประหลาดใจคือไปไม่ถึงไหน กว่าจะตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง ใช้เวลาเป็นอาทิตย์
ผมไม่ได้บอกว่าเราต้องทำอะไรรวดเร็วจนขาดความรอบคอบ แต่ผมกำลังบอกว่าการใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพคือสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิต เวลาเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่หมดไปตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะใช้มันหรือไม่ การบริหารจัดการเวลาเป็นปัจจัยที่ทำให้เรามีความสุขอย่างมีคุณภาพ
ความสุขอย่างมีคุณภาพคืออะไร มันคือความสุขที่เกิดขึ้นจากกิจกรรม 4 อย่างคือ ความสุขจากการทำงาน ความสุขจากการพักผ่อน ความสุขที่มีโอกาสทำให้คนรอบตัวเรามีความสุข หรือที่เรียกกันเป็นภาษาอังกฤษว่า good deed for others ประการสุดท้ายเป็นความสุขที่เกิดจากความสงบในใจของเรา
ความสุขทั้งสี่เกิดขึ้นได้อย่างไร เราต้องค้นหาตัวเอง รู้จักตัวเองดีพอที่จะบอกว่าอะไรถูกจริตเราและอะไรที่เราไม่ชอบ ทั้งเรื่องงาน ผู้คน และความสนใจส่วนตัว เลือกทำสิ่งที่ใช่ และปฏิเสธสิ่งที่ไม่ตรงกับจิตวิญญาณของตัวเรา ไม่ดำรงตนแบบสีเทาๆ
ในเรื่องงาน ความหมายของคำว่างาน ไม่ใช่ตื่นนอน ทำงาน แล้วคอยรับเงินเดือนตอนปลายเดือน เลือกทำสิ่งที่เราหลงใหลและเป็นความพิเศษของเรา เลือกอยู่ในสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมที่เข้ากับตัวเรา
"มาถึงตรงนี้ผู้อ่านอาจจะมีคำถามว่าชีวิตของคนเราเลือกงานได้หรือ คำตอบของผมคือเลือกได้แน่นอนครับ"
เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ผมเลือกไปทำงานกับบริษัทโฆษณาข้ามชาติ ที่เป็น start up เล็กๆ เพราะผมมีความเห็นว่าวัฒนธรรมตรงกับจริตผม ตอนนั้น start up นี้มีคนเพียง 30 กว่าคน และเป็นบริษัทโฆษณารั้งท้ายในอุตสาหกรรม
ผมใช้เวลา 10 ปีอยู่ที่นั่น และมีส่วนร่วมสร้าง start up นี้เป็น top 5 agency ของประเทศ สิ่งที่ผมอยากสื่อสารคือเลือก “คน” ก่อนที่จะเลือก “งาน”
ผมมีข้อเสนอแนะของเรื่องการบริหารจัดการเวลาสักสองสามข้อ
1.ต้องรู้จักคำว่า “the art of prioritization” เรียงลำดับความสำคัญของงาน และกล้าหาญพอที่จะปฏิเสธแบบหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสไม่ทำสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย
2.มี sense of immediacy คิดแล้วทำเลย อย่าปล่อยค้างไว้ในอากาศ
3.มีภาวะความเป็นผู้นำในการบริหารการประชุม ผมมีความเห็นการประชุมที่ได้ผลไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมง ถ้าเกินกว่านั้น มันเป็นการรีไซเคิลปัญหาแล้วหาข้อสรุปไม่ได้
แล้วเราควรจะทำอย่างไรถ้ามีการประชุมที่ยืดเยื้อเกินกว่าสองชั่วโมงแล้วขมวดเรื่องไม่ได้ เลิกประชุมครับ แล้วต่างคนต่างแยกย้ายไปทำความทำความเข้าใจกับประเด็นปัญหาในความรับผิดชอบของตนเอง หามุมมองใหม่ๆ ให้ครบด้าน แล้วค่อยกลับมาประชุมกันใหม่
การประชุมจะมีประสิทธิภาพเกิดจากการที่ผู้นำต้องมีทักษะในการฟังสูงแบบ deep listening จับและอ่านประเด็นได้แม่น แล้วกล้าตัดสินใจ
ที่ผมหยิบเรื่องการประชุมมาเป็นประเด็น เพราะชาติจะเจริญได้ด้วยการทำงาน เราไม่ได้ถูกจ้างมามีอาชีพเป็นนักประชุม
ในเรื่องของการพักผ่อนและสันทนาการ เราต้อง expose ตัวเองกับสิ่งต่างๆ ที่เป็นความสวยงามของโลกใบนี้ แล้วค้นหาว่าตัวเราเองชอบอะไร อย่าปิดกั้นตัวเองจากความงดงามที่โลกมีไว้กับมนุษยชาติ
Good deed for others เป็นเรื่องที่ผู้คนไม่ใส่ใจ การสร้างให้คนรอบตัวมีความสุขเป็นการกระทำที่ไม่ได้ลงทุนลงแรงอะไรมากมาย เพียงแต่มีใจ ให้เวลา และทำด้วยความละเมียด จะทำให้โลกใบนี้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น
คำว่าผู้คนรอบตัวไม่ใช่ผู้คนมากมาย แต่หมายถึงคนเพียงไม่กี่คนที่ถูกจริตกับเรา และเรายินดีที่จะไปไกลที่สุดที่จะสร้างความรู้สึกพิเศษให้คนเหล่านั้น
ถ้าจะถามว่าทำไมฝนตกไม่ทั่วฟ้า เพราะเรามีเวลาจำกัด
สุดท้ายเราต้องจัดเวลาให้ตัวเองในการสร้างความสงบในใจ คนเราทุกวันนี้ดำรงตนด้วยความรีบเร่งทำให้ใจมัวหมอง เราต้องหาเวลาสนทนากับตัวเอง เวลาที่เราสามารถทำตัวนิ่งๆ เพื่อตกตะกอน เพื่อพิจารณาว่าจะเดินไปข้างหน้าอย่างไรอย่างมีสติ เราต้องเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตตนเอง โดยใช้สติและปัญญา ไม่ใช่เดินหน้าโดยใช้ auto pilot mode
จะเห็นได้ว่าถ้าจะทำครบทั้ง 4 อย่าง เวลาของคนเรามีไม่มากอย่างที่คิด
การบริหารเวลาให้มีความสุขอย่างมีคุณภาพก็เปรียบเสมือนการถ่ายรูป ที่เราต้องจัด composition ของภาพให้ลงตัว ภาพที่ดีต้องมี focal point และมีองค์ประกอบของภาพอื่นๆ มาเติมแต่งให้ focal point ดูเด่น ในขณะเดียวกันที่ว่างของภาพก็เป็นสิ่งจำเป็น เป็นตัวสร้างมิติของภาพไม่ให้ภาพดูแน่นจนอึดอัด
มาฝึกถ่ายรูปของชีวิตทุกวันกันเถอะครับ.