มาพิสูจน์กัน ต่างชาติมากอบโกย ไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ | โสภณ พรโชคชัย

มาพิสูจน์กัน ต่างชาติมากอบโกย ไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ | โสภณ พรโชคชัย

ในขณะนี้รัฐบาลกำลังมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ด้วยการให้ต่างชาติมาซื้อที่ดินในประเทศไทย แต่ข้อสมมติฐานนี้เป็นไปไม่ได้ มาดูจากปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอินโดจีนกัน

ผมเพิ่งเดินทางกลับมาจากลาว โดยไปเยือนทั้งเวียงจันทน์และหลวงพระบาง โดยเฉพาะหลวงพระบางที่เป็นเมืองมรดกโลก ถามว่าทำไมจึงเป็นเมืองมรดกโลก คำตอบก็คือมีสถาปัตยกรรมงามๆ ทั้งของลาวและโดยเฉพาะของตะวันตก (ฝรั่งเศส) อยู่มากมาย คำถามก็คือแล้วทำไมลาวจึงมีสถาปัตยกรรมตะวันฝรั่งเศสมาก 

คำตอบก็คือ ลาวเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสในช่วงปี 2436-2496 เป็นระยะเวลาราว 60 ปี แม้แต่พระราชวังของเจ้ามหาชีวิตในหลวงพระบางที่สร้างในปี 2447 (118 ปีก่อน) ก็สร้างตามสถาปัตยกรรมฝรั่งเศส เพราะอยู่ในช่วงเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสนั่นเอง

ในห้วงเวลาที่ฝรั่งเศสปกครองลาวอยู่นั้น หลวงพระบางก็มีความเจริญมากทีเดียว มีอาคารสวยงามมากมายตามแบบฝรั่งเศส ผสมกับบ้านเจ้าพระยา บ้านคนใหญ่คนโตในลาว ในฐานะที่เป็นเมืองหลวงของลาวที่เจ้ามหาชีวิตประทับอยู่ในเมืองนี้ อาจกล่าวได้ว่าในห้วงเวลานั้น ความเจริญของหลวงพระบางและไทยอาจไม่แตกต่างกันมากก็ได้

มาพิสูจน์กัน ต่างชาติมากอบโกย ไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ | โสภณ พรโชคชัย

(ภาพถ่ายโดย Porapak Apichodilok)

เพราะฝรั่งเศสก็พยายามก่อสร้างอาคารต่างๆ ที่ทุกวันนี้ ก็ทิ้งไว้ดูต่างหน้ามากมาย และกลายเป็นว่าเมืองหลวงพระบางเป็นเมืองมรดกโลก เพราะส่วนสำคัญก็คือมีอาคารในสมัยอาณานิคมนั่นเอง ส่วนอาคารไม้ของชาวลาวทั่วไปอาจมีหลงเหลืออยู่บ้าง ก็คงเป็นอาคารขนาดใหญ่ อาคารเล็กๆ ที่เป็นอาคารไม้ก็คงผุพังไปตามกาลเวลา

แม้ว่าฝรั่งเศสจะทำให้เมืองหลวงพระบางดูสวยสง่างามจนกลายเป็นเมืองมรดกโลกในทุกวันนี้นั้น พวกเขาไม่ได้มีเป้าหมายมาพัฒนาบ้านเมืองลาวให้เจริญ ความเจริญที่พอมีขึ้นมาบ้างก็เป็นผลพลอยได้เท่านั้น ผู้ที่ใช้สอยอาคารยุคอาณานิคมเหล่านี้ก็คือเหล่าชาวฝรั่งเศสที่มาทำมาหากินอยู่ในประเทศลาวเท่านั้น คนลาวแท้ๆ คงไม่ได้ “มีบุญ” อยู่อาศัยในอาคารเหล่านี้ พวกฝรั่งเศสสร้างอาคารเหล่านี้ก็เพื่อพวกเดียวกันนั่นเอง

ที่สำคัญที่สุดที่เราพึงตระหนักก็คือว่า ฝรั่งเศสเข้ามาในลาวก็เพื่อกอบโกยทรัพยากรกลับไปยังประเทศของตนเอง ไม่ได้มา “โปรดสัตว์” แต่อย่างใด นี่คือวัตถุประสงค์สำคัญที่สุดของการล่าอาณานิคมของมหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี และมหาอำนาจอื่นๆ เมื่อประมาณ 100-200 ปีก่อนที่เกิดขึ้นทั้งในอินโดจีน อุษาคเนย์ ตะวันออกไกล ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ แอฟริกา อเมริกาใต้ และอื่นๆ

ร่องรอยความเจริญของสถาปัตยกรรมอาณานิคมฝรั่งเศส ยังพบเห็นได้เมืองอื่นๆ ของลาว ไม่ว่าจะเป็นสะหวันนะเขต ท่าแขก ปากเซ จำปาสัก วังเวียง ฯลฯ เพราะบรรดาเจ้าอาณานิคมไปปักหลักปักฐานในแทบทุกเมือง ไปกอบโกยทรัพยากรและควบคุมเศรษฐกิจไว้แทบทุกเมือง อาคารเหล่านี้คนลาวเองคงไม่มีปัญญาเข้าไปอยู่ คนมีฐานะลาวก็คงไม่ชอบอยู่ แต่ก็คงมีคนลาวบางส่วนชอบอยู่อาศัยในบ้านแบบนี้บ้าง แต่คงจะน้อยมาก

มาพิสูจน์กัน ต่างชาติมากอบโกย ไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ | โสภณ พรโชคชัย

แม้แต่ในกรุงฮานอย นครโฮจิมินห์ซิตี หรือเมืองตากอากาศต่างๆ ในเวียดนาม เช่น ดานัง ดาลัด ที่ฝรั่งเศสสร้างไว้ในเวียดนาม หรือกรุงพนมเปญ สีหนุวิลล์ เสียมราฐของกัมพูชา ก็มีอาคารที่มีรูปลักษณ์สถาปัตยกรรมที่แสดงถึงการอยู่ใต้อาณานิคมของฝรั่งเศส แม้แต่ข้ามฝั่งมาทางนครย่างกุ้ง ก็มีอาคารที่จักรวรรดินิยมอังกฤษสร้างอาคารแบบตะวันตกในยุคอาณานิคมไว้มากมายเช่นกัน

ในปัจจุบัน อาคารในสมัยอาณานิคมเหล่านี้อาจดูเหมือนเป็น “มรดก” ของความเจริญที่จักรวรรดินิยมทิ้งไว้ให้ และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ผู้คนให้ความสนใจไปท่องเที่ยวเป็นอันมาก กลายเป็นมนต์เสน่ห์ที่น่าหลงใหลอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะในนครหลวงพระบาง 

อาคารเหล่านี้ได้กลายเป็นโรงแรม ร้านอาหาร พิพิธภัณฑ์ ห้องแสดงศิลปะ ฯลฯ แต่อาคารเหล่านี้ที่พวกจักรวรรดินิยมสร้างไว้ ก็เพื่อความสะดวกสบายของพวกเขาเอง และต้นทุนการก่อสร้างก็มาจากการกอบโกยทรัพยากรของคนท้องถิ่น รวมทั้งใช้แรงงานท้องถิ่นราคาถูกในการก่อสร้าง

ที่ตั้งของอาคารเหล่านี้ ซึ่งเป็นแผ่นดินของลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า ก็คือผืนดินของแต่ละชาติ แต่ถูกจักรวรรดินิยมเข้ายึดครองไป พวกเขาคงมีสิทธิครอบครองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแต่ละผืน จึงได้ก่อสร้างอาคารเป็นถาวรวัตถุ (อาคาร) ที่ก่ออิฐถือปูนมั่นคงแบบนี้ นี่ถ้าฝรั่งเศสหรืออังกฤษไม่แพ้สงครามกับคนท้องถิ่น และยังเป็นเจ้าเข้าครอง อาคารสถานที่เหล่านี้ก็ยังคงเป็นของชาวตะวันตก และอาจมีอาคารสวยงามแบบนี้ขึ้นอีกเป็นจำนวนมากก็ว่าได้ แต่มีไว้เพื่อปกครองและครอบงำทางเศรษฐกิจของประเทศใต้อาณานิคมนั่นเอง

บทเรียนเหล่านี้ให้ข้อคิดแก่ประเทศไทยได้ว่า ถ้าหากไทยเรา “ขายชาติ” ด้วยการยอมให้ฝรั่งมาครอบครองที่ดินในประเทศไทยของเราได้ เมืองต่างๆ ในไทย โดยเฉพาะในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทย เมืองท่องเที่ยว เช่น พัทยา ระยอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ สมุย หัวหิน เชียงใหม่ และเมืองชายแดนต่างๆ ก็คงตกเป็นของจักรวรรดินิยมอีกครั้งหนึ่ง เพียงแต่ในครั้งนี้ไม่ใช่จักรวรรดินิยมอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี หรืออเมริกา แต่เป็นจักรวรรดินิยมจีนนั่นเอง

การให้ต่างชาติมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะ

1. ประเทศไทยไม่มีการเก็บภาษีซื้ออสังหาริมทรัพย์กับคนต่างชาติ เช่นในสิงคโปร์และฮ่องกง มีการเก็บภาษีซื้อกับคนต่างชาติถึง 30-40% ของมูลค่าตลาด เช่น ถ้าซื้อห้องชุดในสิงคโปร์ราคา 40 ล้านบาท ก็ต้องเสียภาษีอีก 12 ล้านบาทเข้าหลวง เราเพียงแต่มีภาษีค่าธรรมเนียมโอนซึ่งผู้ขายเป็นผู้ออก ไม่ใช่ผู้ซื้อ ดังนั้น ถ้าให้ต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทย จึงไม่ได้เม็ดเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ

2. ประเทศไทยแทบไม่มีการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรายปี โดยเฉพาะชาวต่างประเทศที่มาซื้อบ้านในไทย เราเก็บภาษีล้านละ 200 บาท ซึ่งแทบจะไม่ได้มีความหมายอะไร ต่างจากในอารยประเทศ เช่น สหรัฐ เขาเก็บล้านละ 10,000-30,000 บาท (1-3%) ของราคาซื้อขายจริง ไม่ใช่เก็บตามราคาประเมินที่แสนจะต่ำกว่าราคาตลาดจริง อย่าง ดร.ชัชชาติที่ไปซื้อบ้านในสหรัฐ ราคา 70 ล้านบาท แต่ละปี ก็ต้องเสี่ยภาษี 700,000 บาท เพื่อบำรุงท้องถิ่น แต่สำหรับประเทศไทย ต่างชาติมาซื้อโดยแทบไม่ต้องเสียภาษีนี้เลย

3. ที่หวังว่าต่างชาติจะมาช่วยซื้อบ้านและห้องชุดประมาณ 3-400,000 หน่วย ที่ในมือผู้ประกอบการนั้น ก็ไม่เป็นความจริง พวกเขาคงซื้อเฉพาะห้องชุดใจกลางเมือง ในบริเวณอื่นคงไม่ซื้อ การให้ต่างชาติมาซื้อบ้านในไทยจึงไม่ช่วยระบายสินค้า ถ้าเป็นจีน เขาคงมุ่งมาเช่าที่ดิน 99 ปี หรือซื้อที่ดินเพื่อสร้าง “อาณานิคม” ของตนเองมากกว่าที่จะมาซื้อบ้านหรือห้องชุดทั่วๆ ไป

ถ้าเราขืนให้ต่างชาติมาซื้อบ้านและที่ดินส่งเดชในประเทศไทยโดยไม่มีมาตรการป้องกันเช่นนานาอารยประเทศ จึงเท่ากับเรากำลัง “ขายชาติ” โดยแท้

คอลัมน์ : อสังหาริมทรัพย์ต่างแดน
ดร.โสภณ พรโชคชัย 
ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย 
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส 
www.area.co.th