คำไทย "พูดผิด-เขียนผิด" ก็เข้าใจผิดๆ | ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ทุกครั้งที่ผมจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องการใช้ภาษาไทย โดยเฉพาะในโอกาสวันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 29 ก.ค. ของทุกปี
ผมมักออกตัวก่อนเสมอว่าผมไม่ใช่นักภาษาศาสตร์ ผมเป็นเพียงอาจารย์สอนหนังสือทางวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม แต่กระนั้นก็ตาม วันนี้ผมอยากจะขอโอกาสแสดงความคิดเห็นว่า ในปัจจุบันมีคำไทยหลายคำที่เราใช้กันอย่างผิดๆ อย่างไม่น่าจะผิด
คำแรก ที่กำลังฮิตและผมอยากพูดถึง เพราะมันเกี่ยวข้องกับการเสพกัญชาที่สังคมกำลังถกเถียงว่าควรหรือไม่ควร คือคำว่า “สันทนาการ” ซึ่งเป็นคำที่หลายคน รวมทั้งสื่อมวลชนมักใช้กันในความหมายของการบันเทิง แต่หากเราไปเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสภา เราคงแปลกใจที่จะไม่พบคำนี้อยู่ในสารบบของศัพท์บัญญัติของสภา คำที่ถูกต้องสำหรับกรณีนี้คือ “นันทนาการ” ซึ่งมีความหมายว่ากิจกรรมที่ทำตามสมัครใจในยามว่าง เพื่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินและผ่อนคลายความตึงเครียด หรือจะพูดให้สั้นๆ ก็คือ “การสราญใจ” นั่นเอง
คำที่สอง คือ “วาระ” ที่หลายคนแปลมาจากคำในภาษาอังกฤษว่า agenda ซึ่งก็อีกเช่นกัน ที่หากเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสภา เราจะพบว่าคำว่าวาระนี้หมายถึงครั้งหรือคราว เช่น ส.ส.อยู่ในตำแหน่งได้วาระละ 4 ปี ซึ่งไม่ใช่ความหมายของ agenda ที่ต้องแปลว่า “ระเบียบวาระ” อันหมายถึงลำดับรายการที่กำหนดไว้ในการประชุมแต่ละครั้ง เข้าใจว่าเราใช้คำว่าวาระสั้นๆ นี้ก็เนื่องมาจากการกร่อนของคำ “ระเบียบวาระ” เพื่อความง่ายและสะดวกลิ้น (แต่ผิด) ของเรานั่นเอง
คำที่สาม คือ “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ที่บางคนแปลมาจากคำว่า Conflict of Interest (CoI) ซึ่งไม่ถูก เพราะจริงๆ แล้วต้องแปลว่า “ผลประโยชน์ขัดแย้ง” หรือ “การขัดแย้งทางผลประโยชน์” เพราะการทับซ้อนประโยชน์ (เช่น อันหนึ่งอยู่บน อันหนึ่งอยู่ล่าง) กันนั้น นอกจากอาจไม่ได้ขัดแย้งกันแล้วยังอาจส่งเสริมประโยชน์แก่กันและกันก็ได้
เช่น มีคนทำธุรกิจปิโตรเคมีที่ต้นน้ำ อีกคนทำที่กลางน้ำ และอีกคนทำที่ปลายน้ำ แต่ละคนก็จะทำธุรกิจผลิตสินค้าแบบพึ่งพากันและกันและได้ประโยชน์แบบซ้อนๆ กัน รวมทั้งร่วมกันได้และไม่ได้ขัดแย้งกันแต่ประการใด แต่สำหรับคำ CoI นั้นมันต้องมีการขัดกันในผลประโยชน์ มิฉะนั้นก็มิใช่ CoI
ทีนี้ก็มาถึง คำที่สี่ คือคำว่า “ต้นทุน” ที่หลายคนพูดถึงคำนี้ออกไปในความหมายเชิงบวก เช่น ประเทศไทยมีต้นทุนชีวิตหรือต้นทุนทางสังคมที่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่หากไปถามนักธุรกิจ นักการเงิน นักเศรษฐศาสตร์ เขาจะบอกว่าคำนี้หมายถึง cost หรือค่าใช้จ่ายที่ต้องลงทุนหรือจ่ายออกไป มิใช่ “ทุน” ซึ่งมีอยู่แต่เดิมและตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า capital นั่นคือหากเราต้องการพูดถึง social capital เราต้องพูดว่าทุนทางสังคม มิใช่ต้นทุนทางสังคม
คำที่ห้า เป็นคำที่กร่อนมาจากคำดั้งเดิม “ส่วนได้ส่วนเสีย” มาเป็น “ส่วนได้เสีย” ที่สั้นลง แต่ความหมายผิดอย่างสิ้นเชิง เพราะจากพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสภาอีกเช่นกัน ที่บอกว่าการได้เสียกันนั้นคือการได้เป็นผัวเมียกัน (ฮา) หรือการได้เสียในวงพนันมวยก็คือการได้เงินหรือเสียเงินจากการพนันนั้นๆ ซึ่งเป็นคนละความหมายกับคำ “ส่วนได้ส่วนเสีย” ที่หมายถึงประโยชน์ที่ควรได้ควรเสียซึ่งมีอยู่ในส่วนร่วม เช่น เขาไม่สนใจงานนี้เพราะไม่มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย
พูดถึงการกร่อนคำ ก็อยากพูดถึง คำที่หก คือ การ “เสียชีวิต” ที่หลายคนพูดสั้นจนมีความหมายออกไปในเชิงลบ เช่น คุณได้ยินข่าวแล้วยังว่าท่านประธาน “เสีย” แล้ว ซึ่งสื่อออกไปในแนวคล้ายๆ กับว่าท่านประธานเป็นคนที่ไม่ค่อยดีแล้วชำรุดแล้ว แต่ก็นั่นแหละ เราได้กร่อนคำนี้มานานจนกลายเป็นคำทั่วไปที่ทุกคนฟังแล้วก็เข้าใจ การกร่อนคำในลักษณะนี้จึงเข้าข่ายของการยกเว้นที่เกิดจากความเคยชิน
คำที่เจ็ด เป็นคำที่เป็นที่นิยมใช้กันอย่างไม่ถูกต้องของหน่วยราชการหลายแห่งและนักวิชาการหลายคนในการอภิปรายหัวข้อหนึ่งๆ ในที่ประชุมหรือเสวนา คือคำว่า “วิพากษ์” โดยเป็นการกร่อนคำจากคำว่า “วิพากษ์วิจารณ์” และที่ว่าไม่ถูกต้องนั้นเป็นเพราะตัวอักษร “ว” กับ “พ” นั้นแผลงกันได้ แบบวิษณุแผลงเป็นพิษณุ
ซึ่งนั่นหมายความว่าคำว่า วิพากษ์ จะแผลงเป็น “พิพากษ์” ซึ่งก็คือ “พิพากษา” อันแปลว่าตัดสิน หรือคำว่า “วิพากษ์” ด้วยตัวของมันเองก็แปลว่า “พิจารณาตัดสิน” ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ในการถกเถียงอภิปรายในหัวข้อหนึ่งๆ ในการประชุมหนึ่งๆ คนคนหนึ่งจะไปตัดสินหรือพิจารณาตัดสินความคิดของคนอื่นในที่ประชุมอภิปรายที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้
คำที่แปด ที่จะเขียนถึงจะออกไปในแนววิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คือคำว่า Climate Change ที่แปลตรงตัวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่เป็นที่น่าเสียดายและน่าเป็นห่วงที่มีหน่วยราชการของรัฐบางแห่งและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมบางองค์กรไปกำหนดหรือบัญญัติศัพท์กันเองใหม่ว่า “โลกรวน”
ทั้งที่การที่โลกเราจะรวนนั้นไม่ได้มาจากเหตุการณ์ผิดปกติที่มาจากพายุฝน หิมะถล่ม น้ำท่วม ฯลฯ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแต่เพียงอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นอีกมากมายที่ทำให้โลกรวนได้ เช่น วิกฤติโควิด การสู้รบที่ยูเครน สงครามทางเศรษฐกิจการเงินและการค้าโลก คริปโทเคอร์เรนซี ความเหลื่อมล้ำทางสังคม การร่อยหรอของทรัพยากรธรรมชาติ การผลิตและการบริโภคที่ไม่ยั่งยืน หรือแม้กระทั่งความเสื่อมลงทางศีลธรรมของคน
ดังนั้น อย่าใช้เลยครับ คำว่าโลกรวน เดี๋ยวจะพากันเข้าใจผิดและเข้ารกเข้าพงกันไปใหญ่