กฎหมายควบคุมการใช้อุปกรณ์ติดตามคน-สิ่งของ | ณิชนันท์ คุปตานนท์
AirTag เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยติดตามสิ่งของผ่านการเชื่อมต่อ Bluetooth กับสมาร์ทโฟน ซึ่งบริษัท Apple ได้พัฒนาขึ้นเมื่อเดือนเม.ย. ปี 2564 โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถติดตามสิ่งของส่วนบุคคล เช่น กุญแจ กระเป๋า ซึ่งอาจตกหล่น หรือทำหาย หรือใช้ตามหารถที่จอดไว้
โดยที่ทางบริษัทเองก็ได้เน้นย้ำจุดประสงค์ของการออกแบบว่า ไม่ได้มีไว้เพื่อใช้ติดตามผู้คนหรือทรัพย์สินของผู้อื่น อีกทั้งประณามการใช้ AirTag ในทางที่ผิด และด้วยเหตุนี้ Apple จึงได้พัฒนาระบบแจ้งเตือนเพื่อให้ผู้ใช้บริการทราบกรณีมีการติดตามที่ไม่พึงประสงค์ด้วย หลังจากที่เริ่มมีรายงานการใช้ AirTag ผิดวัตถุประสงค์
อย่างไรก็ดี ระบบแจ้งเตือนดังกล่าวยังมีจุดอ่อน โดยเฉพาะในกรณีผู้ที่ถูกติดตามไม่ได้ใช้ iPhone หรืออุปกรณ์อื่นๆ ของ Apple ด้วยลักษณะของการออกแบบ AirTag ที่มีขนาดเล็ก สะดวกต่อการใช้งานในราคาที่ไม่แพง และแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ยาวนานถึงหนึ่งปี แต่ไม่ได้ออกแบบป้องกันการถูกเอาไปใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์หรือเกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรม
จึงยังคงเกิดกรณีที่มีผู้ใช้บริการผิดวัตถุประสงค์ โดยการนำไปใช้ติดตามบุคคล เช่น นำไปใส่ไว้ในรถหรือเสื้อผ้าของคนที่ต้องการติดตาม และในหลายๆ กรณีก็เป็นเหตุนำไปสู่อาชญากรรมร้ายแรงตามมา
(ภาพถ่ายโดย kat wilcox)
ไม่ว่าจะเป็นการฆาตกรรม หรือแม้กระทั่งการค้ามนุษย์ ซึ่งจะเห็นได้จากรายงานข่าวอาชญากรรมไม่ว่าจะเรื่อง stalker ซึ่งได้แก่ผู้ที่สะกดรอยติดตามความเคลื่อนไหวของบุคคลอื่น จนไปรุกล้ำ หรือละเมิดความเป็นส่วนตัวของบุคคลนั้น หรือการโจรกรรมต่างๆ ทั้งในอเมริกาและแคนาดาที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น และเกิดจากการใช้ AirTag
ในปัจจุบัน หลายมลรัฐในสหรัฐอเมริกาได้ห้ามการใช้อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ติดตามทางไกลในทางที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ทั้งในกรณีที่ไม่ใช่กฎหมายที่บังคับใช้เป็นการเฉพาะ เช่น การปรับใช้จากกฎหมายต่อต้านการ stalking หรือกฎหมายการเฝ้าติดตาม (surveillance laws) และในกรณีที่บัญญัติเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ติดตามแบบอิเลกโทรนิกส์ และเริ่มมีบางรัฐที่พยายามออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการใช้ AirTag โดยตรง
มลรัฐเพนซิลเวเนียเป็นมลรัฐแรกที่ออกร่างกฎหมายเกี่ยวกับการต่อต้านการติดตาม โดยได้ออกร่างกฎหมายบัญญัติให้การใช้ AirTag หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการติดตามอื่นๆ ในทางที่ไม่ถูกต้อง (misuse) เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวร่างขึ้นมาบนพื้นฐานจากรายงานเรื่องของการใช้ AirTag อย่างไม่ถูกต้อง
เช่น ใช้ในการติดตามบุคคลอื่น โดยร่างกฎหมายฉบับนี้วางเกณฑ์ห้ามการใช้ AirTag นอกขอบเขตวัตถุประสงค์การใช้งาน ซึ่งก็คือ การใช้ค้นหาสิ่งของส่วนบุคคลซึ่งอาจตกหล่นหรือหาย
(ภาพถ่ายโดย Ellie Burgin)
เมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา มลรัฐนิวเจอร์ซีย์ได้เสนอร่างกฎหมายซึ่งจะทำให้การใช้ AirTag ในการสะกดรอยติดตามความเคลื่อนไหวของบุคคลอื่นจนไปรุกล้ำหรือละเมิดความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่น (stalking) เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยการบัญญัติห้ามบุคคลไม่ให้ใช้หรือติดตั้งอุปกรณ์หรือแอปพลิเคชันซึ่งใช้ในการติดตามบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม
เนื่องจากปัญหา stalker ซึ่งปรับเปลี่ยนรูปแบบจากการติดตามแบบเดิม มาเป็นแบบทางไกลโดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยซึ่งมีรายงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ โดยมีข้อยกเว้นกรณีผู้ใช้กฎหมายที่มีอำนาจหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติการในการติดตาม หรือกรณีบิดามารดาหรือผู้ปกครองที่อาจใช้เพื่อติดตามผู้เยาว์
ในมลรัฐโอไฮโอเองก็ได้มีร่างกฎหมายในลักษณะเดียวกันกับนิวเจอร์ซีย์ โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติมบ้าง เช่น แม้เป็นกรณีที่เคยให้ความยินยอมในการถูกติดตามก็ตาม แต่หากเข้ากรณีที่ศาลออกคำสั่งห้ามเข้าใกล้ (restraining order) หรือในกรณีมีการยื่นฟ้องหย่า ความยินยอมดังกล่าวจะถูกยกเลิกทันที และเพิ่มกรณียกเว้นสำหรับผู้ที่ต้องดูแลผู้สูงอายุกับการติดตามสิ่งของส่วนตัวบางอย่าง เพื่อวัตถุประสงค์ด้านความปลอดภัย
แม้ในประเทศไทยอาจยังไม่มีรายงานอาชญากรรมเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ติดตามมากนัก แต่ก็ควรที่จะต้องตรากฎหมายเพื่อควบคุมการใช้อุปกรณ์ติดตามเพื่อป้องกันเหตุอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้น โดยควรคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลรวมถึงสิทธิที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญประกอบด้วย
โดยในกฎหมายฉบับดังกล่าว อาจไม่จำต้องบัญญัติโดยเฉพาะเจาะจงไปที่เทคโนโลยีใดเป็นการเฉพาะแต่อาจครอบคลุมในกรณีกว้างๆ เป็นการใช้อุปกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่สามารถใช้ติดตามตำแหน่งของบุคคลอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์หรือไม่ก็ตามโดยปราศจากความยินยอม เพื่อปกป้องบุคคลจากการถูกติดตามโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอาจออกกฎหมายลูกเพิ่มเติมภายหลัง
หากเห็นว่าจำเป็นต้องมีบทบัญญัติเพิ่มเติมอุปกรณ์ลักษณะใดเป็นการเฉพาะ เพื่อความเหมาะสมในการปรับแก้ไขกฎหมายให้ทันกับเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยทั่วไปคนออกแบบ คิดค้น หรือพัฒนามักจะมองในแง่ประโยชน์การใช้งานเป็นหลัก
และอาจไม่ทันคิดถึงการใช้งานในทางที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งกว่าจะรู้ตัว ก็หลังจากที่ผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดไปแล้ว และมีคนที่ต้องการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในทางที่ไม่ดี หรือมีคนมองเห็นช่องทางการใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่ถูกต้อง นำอุปกรณ์ดังกล่าวไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย หรือละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น
ดังนั้นแล้ว นอกเหนือจากการออกกฎหมายเพื่อควบคุมการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อไม่ให้ใช้ในทางที่ผิดแล้ว การปลูกฝังคุณธรรมการดำเนินชีวิตตั้งแต่เด็กก็ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างเข้มแข็ง ทั้งในสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา รวมถึงสังคมโดยรวม ที่ต้องช่วยกันทำให้ไม่มีใครกล้าหรือคิดที่จะทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพื่อที่ทุกคนจะได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ด้วยความรู้สึกปลอดภัย
คอลัมน์ กฎหมาย 4.0
ณิชนันท์ คุปตานนท์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์