วังวนแห่ง “วัวหายล้อมคอก” | วิฑูรย์ สิมะโชคดี
เวลาประมาณ 22 นาฬิกา เกิดเหตุบริเวณสะพานกลับรถ ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง คานปูนตกหล่นใส่รถเก๋งและรถกระบะที่แล่นผ่าน ถนนพระราม 2 ขาเข้าช่องทางด่วน หน้าโรงพยาบาลวิภาราม จ.สมุทรสาคร อุบัติเหตุครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และมีผู้บาดเจ็บด้วย
แต่เพียงชั่วข้ามคืน ในวันที่ 1 ส.ค. 65 ฝนตก ลมแรง พัดเอาหลังคาด่านเก็บเงินที่บางปะกง พังถล่มลงมา โดยไม่มีใครบาดเจ็บ ไม่เพียงแต่ 2 ข่าวข้างต้นเท่านั้น เพราะในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ก็เกิดอุบัติเหตุอันตรายหลายกรณี อาทิ
(1) โครงสร้างหลังคากันสาดอาคารตึกถล่ม (2) ไฟไหม้สายสื่อสารและมีบางกรณีที่ลุกลามไปติดบ้านเรือนประชาชน (3) ถนนทางเดินรถหรือทางเดินฟุตบาธที่ยุบตัวเนื่องจากข้างใต้เป็นโพรง (4) ประตูหน้าบ้านที่เป็นบานเหล็กหนัก ๆ ล้มทับบุคคล และ (5) วัสดุก่อสร้างที่ตกหล่นลงมาทำอันตรายกับประชาชนที่สัญจรไปมา
เหตุการณ์ที่อันตรายเหล่านี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามาก ซึ่งตอกย้ำว่า เราต่างอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มี “ความเสี่ยง” ที่อาจจะทำให้เราบาดเจ็บพิการหรือตายได้ตลอดเวลา โดยหลักการแล้ว เราทุกคน (โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติงาน) ต่างสามารถสังเกตเห็น “อันตราย” หรือ “จุดเสี่ยงภัย” ต่าง ๆ รอบตัวเราได้ (ทั้งในบ้าน ในที่ทำงาน และในที่สาธารณะ)
ซึ่งทำให้เราสามารถประเมินหรือคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่า จุดใด สภาพแวดล้อมใด หรือเงื่อนไขใดบ้างที่เป็นอันตรายที่จะก่อให้เกิดความสูญเสียด้านทรัพย์สิน และอาจทำให้เราบาดเจ็บพิการหรือล้มตายได้ จุดเสี่ยง หรือสภาพการณ์อันตรายเหล่านั้น เราสามารถทำการควบคุมหรือแก้ไขป้องกันอุบัติเหตุอันตรายล่วงหน้าได้เสมอ
แต่เราก็มักจะ “มองข้าม” ไป ด้วยความไม่สนใจ ชะล่าใจ สะเพร่า หรือประมาทเลินเล่อ ซึ่งเป็น “ต้นเหตุ” ของการเกิดอุบัติเหตุอันตรายและความสูญเสียต่าง ๆ ได้ ดังนั้น หน้าที่สำคัญของการป้องกันอุบัติเหตุและสร้างเสริมความปลอดภัย ก็คือ การค้นหาและระบุถึงจุดอันตรายหรือจุดเสี่ยงภัยต่าง ๆ ของการปฏิบัติงาน (ทั้งที่ทำอยู่ในปัจจุบัน หรือที่เรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต) ที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ เพื่อจะได้กำจัดจุดอันตรายเหล่านั้นให้หมดไปหรือหาวิธีแก้ไขป้องกันล่วงหน้า
โดยทั่วไปแล้ว การป้องกันอุบัติเหตุอย่างได้ผลจะดำเนินการได้ 3 แนวทาง คือ ด้วยการหมั่นถามและสังเกตว่า
- การปฏิบัติงานที่ทำอยู่นั้นมี “จุดเสี่ยง” หรือ “จุดอันตราย” อะไรบ้าง ที่เราสามารถป้องกันแก้ไขได้ล่วงหน้า
- โอกาสที่อาจจะเกิดอุบัติเหตุซ้ำเดิมขึ้นอีกมีกี่มากน้อย เพราะอะไร (ดูจากสถิติหรือจากผลของการสอบสวนที่ทำให้รู้สาเหตุที่แท้จริงแล้ว หรือจากการเรียนรู้ถึงการแก้ไขป้องกันที่ได้ผลแล้ว)
- มาตรการป้องกันและมาตรการควบคุมที่มีประสิทธิผลที่รู้ล่วงหน้าแล้ว ได้ถูกนำไปใช้หรือไม่ อย่างไรบ้าง
ที่มาภาพ: ไทยรัฐออนไลน์
คำถามทั้ง 3 ข้อข้างต้นนี้ จะทำให้เราตระหนักรู้ถึงอันตรายและสามารถแก้ไขป้องกันอุบัติเหตุได้ล่วงหน้าเสมอ (“ป้องกันไว้ก่อน”) ในความเป็นจริงแล้ว ความปลอดภัยไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะ “การทำงานอย่างปลอดภัย” ของผู้ปฏิบัติงานในโรงงานหรือที่ทำงานเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง “ความปลอดภัย” ต่อเพื่อนร่วมงานและผู้ที่มีส่วนได้เสียทั้งหมด
ไม่ว่าจะเป็นผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง ชุมชนหรือชาวบ้านในละแวกนั้น ๆ (คือบ่อยครั้งที่คน ๆ เดียวทำงานผิดพลาด ทำให้เกิดไฟไหม้หรือระเบิดอันเป็นผลให้ผู้อยู่ใกล้เคียงบาดเจ็บพิการหรือทรัพย์สินเสียหายด้วย)
ดังนั้น เมื่อทุกคนต่างรับผิดชอบต่อตนเองด้วยการทำงานอย่างปลอดภัยแล้ว คนรอบข้างและชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงก็จะปลอดภัยด้วย ทุกวันนี้ เรื่องที่ต้องตอกย้ำ ก็คือ การกระทำ (วิธีทำงาน) ที่ไม่ปลอดภัย สภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย และการเกิดอุบัติเหตุอันตราย ล้วนเป็นอาการที่แสดงถึง “ความบกพร่อง” หรือ “ความผิดพลาด” ในการบริหารจัดการของผู้บริหารองค์กรเสมอ
ด้วยเหตุนี้ ความปลอดภัยจึงต้องได้รับการบริหารจัดการเช่นเดียวกับ “หน้าที่ทางการบริหาร” (Management Functions) ต่างๆ คือ ผู้นำหรือผู้บริหารจะต้องตั้งเป้าหมายด้านความปลอดภัยที่สามารถบรรลุถึงได้ (“อุบัติเหตุเป็นศูนย์” หรือ Zero Accident : ZA) และดำเนินการด้วยการวางแผน การจัดองค์การ การบรรจุคน การอำนวยการ และการควบคุม (ตั้งแต่ต้นจนจบครบกระบวนการ) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
กรณี “คานปูนตกหล่นใส่รถยนต์” จนมีผู้เสียชีวิต จึงเป็นอุบัติเหตุที่อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุหลายปัจจัย เช่น วิธีทำงานอย่างไม่ปลอดภัย การไม่ได้ทำตาม “คู่มือทำงาน” หรือ “มาตรฐานความปลอดภัย” (SOP) การไม่ได้ควบคุมดูแลอย่างจริงจัง วัสดุอุปกรณ์ไม่มีคุณภาพ การไม่มีการบำรุงรักษาตามกำหนด วัตถุเสื่อมสภาพหรือหมดอายุแล้ว อาคารและเครื่องจักรอุปกรณ์ขาดการตรวจสอบจากวิศวกรควบคุมหรือผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพ และมีสภาพที่อันตรายต่างๆ ในที่ทำงาน เป็นต้น
ซึ่งทั้งผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานสามารถแก้ไขป้องกันให้ปลอดภัยได้เสมอ
เรื่องที่สำคัญที่สุดก็คือ เราจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานรู้ว่า “จุดเสี่ยง” หรือ “จุดอันตราย” อยู่ที่ไหนบ้าง เพราะสิ่งนี้จะเป็น “พื้นฐาน” ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการป้องกันอุบัติเหตุและสร้างเสริมความปลอดภัยในที่ทำงานที่ได้ผลมากที่สุด
มิเช่นนั้น เราก็ต้องทนเสี่ยงกันอีกนานในวังวนแห่ง “วัวหายล้อมคอก” ที่ไม่รู้ว่าใครสมควรเป็นผู้รับผิดชอบที่แท้จริงต่อ “ความสูญเสีย” (ชีวิต) ที่เกิดขึ้น ครับผม !