ความพร้อมของ “อุตสาหกรรม 4.0” | วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ความพร้อมของ “อุตสาหกรรม 4.0” | วิฑูรย์ สิมะโชคดี

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า “บิลเกตส์” กล่าวระหว่างการพูดคุยในรายการ TechCrunch ซึ่งเป็นเนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวกับ “ภาพรวมและแนวโน้มเศรษฐกิจ” เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (14 มิ.ย.65)

ว่า “โดยความเห็นส่วนตัว ไม่ว่าจะระยะสั้นหรือระยะยาว เขาขอไม่ลงทุนกับผลิตภัณฑ์คริปโตและ NFT (Non Fungible Token) อย่างเด็ดขาด เทียบกับฟาร์มปศุสัตว์ยังน่าสนใจกว่า เพราะมีผลผลิตเกิดขึ้นจริงเป็นรูปธรรม หรือบริษัทต่างๆ ที่ผลิตสินค้าจับต้องได้จริง ไม่ใช่สิ่งแทนค่าความรู้สึก หรือ “มโน” เอาว่ามันมีอยู่…..

“ผลผลิตที่เกิดขึ้นจริงที่เป็นรูปธรรม” ตามคำกล่าวข้างต้น จึงเป็นเรื่องของ Real Sector ซึ่งหมายถึง “ภาคการผลิต” หรือ “ภาคอุตสาหกรรม” เป็นสำคัญ แนวโน้มของ “ภาคอุตสาหกรรม” ในวันนี้  จึงเป็นยุคของ “อุตสาหกรรม 4.0” (Industry 4.0) ที่เป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

อันหมายถึง แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปสินค้าต่างๆ ที่มีแนวโน้มเข้าสู่ระบบอัตโนมัติ (Automation) เป็นระบบอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยียุคใหม่ที่ล้ำสมัยในการผลิตเน้นการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารระหว่างเครื่องจักร (Machine-to-Machine หรือ M2M) และเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT)

ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของระบบอัตโนมัติ เพิ่มประสิทธิภาพของการสื่อสารและการตรวจสอบระบบ  และเพื่อให้เครื่องจักรสามารถทำการวิเคราะห์ปัญหาและแก้ไขปัญหาเอง  โดยปราศจากการแทรกแซงจากมนุษย์

 

ความพร้อมของ “อุตสาหกรรม 4.0” | วิฑูรย์ สิมะโชคดี

(ภาพถ่ายโดย Pixabay)

 

อุตสาหกรรม 4.0 เริ่มมาจากการประชุม WEF (World Economic Forum) โดยประธานชาวเยอรมนี คือ Klaus Schwab ได้พูดถึงเรื่องนี้ และปรากฎในหนังสือที่ท่านเขียนขึ้นในปี ค.ศ.2016  ซึ่งมีการกำหนดกรอบมาตรฐานของอุตสาหกรรม 4.0 ที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างเห็นความสำคัญและขานรับ

ว่าไปแล้ว โลกเราได้ผ่านการปฏิวัติอุตสาหกรรมมา 3 ครั้งแล้ว ได้แก่  

  • ครั้งที่ 1 (Industry 1.0) คือ การค้นพบไอน้ำ
  • ครั้งที่ 2 (Industry 2.0) คือ การค้นพบไฟฟ้า  
  • ครั้งที่ 3 (Industry 3.0) คือ การค้นพบ Computer 
  • ครั้งที่ 4 (Industry 4.0) คือ การค้นพบ IoT (Internet of Things)

การค้นพบในการปฏิวัติแต่ละครั้งได้นำไปสู่การสร้างสิ่งประดิษฐ์  เครื่องจักรกล สินค้า และรูปแบบการทำงานใหม่ๆ ทุกครั้ง

 

ความพร้อมของ “อุตสาหกรรม 4.0” | วิฑูรย์ สิมะโชคดี

(ภาพถ่ายโดย Tom Fisk)

 

อุตสาหกรรม 4.0 จึงเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างองค์กรต่างๆ ให้เข้ากับข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ภายในองค์กร โดยการเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านี้ผ่านทาง “เทคโนโลยีดิจิทัล” ซึ่งจะทำให้ระบบการผลิตและระบบต่างๆ เชื่อมโยงกันตลอดห่วงโซ่อุปทานแบบครบวงจร

อุตสาหกรรม 4.0 จึงเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสำคัญๆ ที่ช่วยทำให้การผลิตมีความแม่นยำมากขึ้น และเกิดผลิตภาพสูงขึ้น เช่น Simulation, System Integration, Internet of Things, Cyber Security, The Cloud, Additive Manufacturing, Augmented Reality,  Big Data and Analytics, Autonomous Robots, Artificial Intelligence เป็นต้น

ทุกวันนี้ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอันเกิดจากการประดิษฐ์คิดค้นและการผลิตของมนุษย์จะแบ่งแยกกันเป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น ทำให้ความไม่เท่าเทียมสูงขึ้น เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น และผลลบของระบบเศรษฐกิจอันเกิดจากการประดิษฐ์คิดค้นและการผลิตก็กำลังทำลายสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและสร้างผลกระทบต่อประชากรระดับรากหญ้ามากขึ้น

ในบริบททางเศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อม และการเมืองของโลกในยามนี้ เราต้องพบทั้ง “โอกาส” และ “สิ่งท้าทาย” ของเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงสารพัดที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งจะขับเคลื่อนและผลักดันให้วิถีชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก นี่คือสิ่งที่ประกอบกันเป็น “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4” หรือ “อุตสาหกรรม 4.0”

เทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้นเหล่านี้ไม่ใช่แค่ความล้ำสมัยที่เป็นส่วนเสริมของเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบันเท่านั้น  แต่เทคโนโลยีแห่งยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นี้ จะเป็นสิ่งที่สร้างความพลิกผันอย่างแท้จริง

ซึ่งจะพลิกโฉมวิธีคิดวิธีทำงานของ “คนกับเครื่องจักร” หรือ “เครื่องจักรกับเครื่องจักร” รวมตลอดถึงการจัดระเบียบกระบวนการผลิตต่างๆ ใหม่ ตั้งแต่วิธีการผลิต การขนส่งสินค้า  และให้บริการ รวมไปถึงวิธีการสื่อสาร วิธีการร่วมมือ และวิธีการสัมผัสรับรู้โลกรอบตัวเราด้วย

แต่วิกฤตการณ์ทุกครั้ง มักจะสร้าง “โอกาส” ด้วยเสมอ จึงอยู่ที่ความสามารถของ “ผู้บริหาร” และ “CEO” หรือผู้บริหารระดับ C-level ที่จะจับฉวยโอกาสนั้นๆ ให้เป็นประโยชน์ต่อองค์กรได้  และสามารถสร้าง “Business Model” ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างแท้จริง

ปัญหาของบ้านเราในวันนี้ ก็คือ ความพร้อมของ “บุคลากร” (มากกว่าเรื่องของเทคโนโลยี) ที่จะปรับเปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำงานให้สอดรับกับแนวความคิดในเรื่องของ “อุตสาหกรรม 4.0”

ดังนั้น ก่อนที่องค์กรจะกำหนดนโยบายด้าน “อุตสาหกรรม 4.0” ผู้บริหารควรจะต้องประเมินสถานะและความพร้อมขององค์กรก่อน เพื่อจะได้จัดทำแผนและวางยุทธศาสตร์ในการดำเนินการทั้งด้านบุคลากรและเทคโนโลยีเพื่อจะได้บรรลุผลสัมฤทธิ์อย่างเต็มที่