Green CEO ที่ต้องเร่งค้นหา | วิฑูรย์ สิมะโชคดี
คำยอดฮิตในวงการธุรกิจอุตสาหกรรมทุกวันนี้ ก็คือคำว่า “Green” วันนี้ จึงปรากฏคำว่า กรีน หรือ Green ใน (แทบ) ทุกเรื่อง
อาทิ Green Industry, Green Logistics, Green Supply Chain, Green Energy, Green Manufacturing, Green Cleaning, Green GDP, Green Economy, Green Label, Green Culture และอื่นๆ อีกมากมาย
หลายท่านใช้คำไทยว่า “สีเขียว” เช่น อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Energy) คำว่า “Green” จะหมายถึง “สิ่งแวดล้อม” และเป็นแนวความคิดเกี่ยวกับ “การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นหลัก ซึ่งเป็นจิตสำนึกที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ “การสงวนรักษา และหวงแหนสิ่งแวดล้อม”
พูดง่ายๆ ว่า การกระทำใดๆ ควรจะต้องเอาเรื่องของ “การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นที่ตั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการผลิต การประกอบการบริการ
ดังนั้น การกระทำใดๆ จะต้องยึดในหลักการของ “การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” คือ ไม่ทำให้สิ่งแวดล้อม (ดิน น้ำ อากาศ ฯลฯ) ได้รับความเสียหาย หรือได้รับผลกระทบในเชิงลบ เช่น ทำให้ดินเป็นพิษ ทำให้น้ำเสีย อากาศเสีย หรือสร้างขยะ จนเป็นปัญหาต่อ “คุณภาพชีวิต” ของทุกคนที่อาศัยบนโลกใบนี้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
คำว่า Green จึงส่อให้เห็นถึง “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ของทุกผู้คนบนโลก รวมตลอดถึงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ขององค์กรต่างๆ ด้วย เช่น โรงงาน สถานประกอบการ ร้านค้า ธุรกิจอุตสาหกรรม วิสาหกิจ บ้านพักอาศัย และชุมชนต่างๆ เป็นต้น
ทุกวันนี้ กระแสด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทุกธุรกิจอุตสาหกรรมต้องให้ความสำคัญมากขึ้น
เพราะในปัจจุบันมีสมาชิกสหประชาชาติรวม 193 ประเทศได้ร่วมกันลงนามรับรองวาระของ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยกำหนดให้ “เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals: SDGs) จำนวน 17 เป้าหมาย เป็นเป้าหมายและยุทธศาสตร์ของประเทศต่างๆ
กรณีตัวอย่างของโรงงานพลาสติก เพราะพลาสติกเป็นวัสดุที่สามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล หมุนเวียน และนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (ตามหลักการ 3R Reduce Reuse และ Recycle) ซึ่งก่อให้เกิดของเสียและมลพิษจากกระบวนการผลิตน้อย และยังลดการใช้พลังงานตลอดห่วงโซ่อุปทานด้วย ทำให้สามารถใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมหนัก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์หรือรถยนต์ทั่วโลกจะได้รับแรงกดดันอย่างมากจากสังคม ทั้งจากวิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติการขาดแคลนพลังงาน ความผันผวนของราคาพลังงาน การใช้หุ่นยนต์ โดยเฉพาะวิกฤตสิ่งแวดล้อม ก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศ ตลอดจนปัญหาการจัดการเศษซากรถยนต์หลังหมดอายุการใช้งาน
ล้วนเป็นเหตุให้แนวโน้มของการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์มุ่งไปสู่การใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น เช่น รถยนต์ที่ใช้ก๊าซประเภท CNG และเอทานอล รถยนต์รุ่น Plug-in Hybrid Electric Vehicle (PHEV)
รวมถึงเทคโนโลยียานยนต์ที่ใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาด เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Economy / EV) ซึ่งมีผลกระทบต่ออุปกรณ์ชิ้นส่วน และแรงงานตลอดห่วงโซ่อุปทานด้วย
เมื่อพูดถึง “โรงงาน” หรือ “สถานประกอบการ” หรือ “ธุรกิจอุตสาหกรรม” เรามักจะนึกถึงโรงงานขนาดใหญ่เท่านั้น ทั้งๆ ที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดได้จากกิจการทุกประเภทและทุกขนาด ความรับผิดชอบต่อสังคมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในวันนี้ จึงครอบคลุมถึงกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ด้วย
ทุกวันนี้แนวความคิดของการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงเป็นความพยายามที่ทำเพื่อความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังเห็นได้จากนโยบาย ข้อกำหนด กฎหมายหรือมาตรฐานของกลุ่มประเทศทางเศรษฐกิจต่างๆ
เช่น แผนปฏิรูปสีเขียว (Green Reform) ฉบับใหม่ของกลุ่มสหภาพยุโรป หรือ The European Green Deal ที่มีกฎระเบียบทางการค้าระหว่างประเทศ
โดยเน้นถึงการปรับเปลี่ยนที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
อีกทั้งยังมี European Economic Commission (EEC) ที่มีการกำหนดมาตรฐานที่เรียกว่า “มาตรฐานยูโร” ซึ่งเป็นการควบคุมการปล่อยก๊าซพิษต่างๆ อาทิ คาร์บอนมอนนอกไซต์ สารประกอบไฮโดรคาร์บอน สารประกอบไนโตรเจนออกไซต์ต่างๆ เป็นต้น
ทั้งหมดทั้งปวงนี้ ถือเป็นการปฏิรูปหรือการปฏิวัติด้วย “แนวความคิดสีเขียว” หรือ “Green Thinking” ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จนจบครบวงจร ซึ่งเกี่ยวข้องกับ “คน” เป็นสำคัญตลอดกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ การลงมือปฏิบัติ การต้องตามประเมินผล เป็นต้น
ความเป็นไปได้ทั้งหมดในเรื่องของ “จิตวิญญาณสีเขียว” (Green Mindset) จึงจำเป็นต่อการปรับเปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำงาน หรือ Mindset ของทั้งผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานให้มีสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวมมากขึ้น ผู้รู้ (Guru) กล่าวว่า “เราทุกคนต่างสามารถหายใจเต็มปอดด้วยความสดชื่น (เมื่ออากาศบริสุทธิ์) แต่เมื่อเกิดอากาศเสียจนทำให้เราทุกคนหายใจเต็มปอดไม่ได้ เราทุกคนก็ต้องร่วมกันรับผิดชอบในการจัดการและแก้ไขให้อากาศดีและบริสุทธิ์กลับคืนมา”
วันนี้ จึงเป็นยุคของ “Green CEO” ที่เราจะต้องเร่งค้นหาและพัฒนาให้เกิดขึ้นมากๆ ในสังคมไทย ครับผม !
5 มิถุนายน 2565 (วันสิ่งแวดล้อมโลก)