‘นักการผลิตมืออาชีพ’ ขาดแคลนจริงหรือ? | วิฑูรย์ สิมะโชคดี
ทุกวันนี้ บ้านเรามีนักการตลาด นักการเงิน นักบัญชี นักประชาสัมพันธ์ และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่มีความสำคัญต่อความอยู่รอดและการพัฒนาของธุรกิจอุตสาหกรรม รวมถึงการยกระดับการแข่งขันด้วย แต่ยังขาด “นักการผลิต (มืออาชีพ)” ที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว บิล เกตส์ ได้นำเสนอ “ทฤษฎีคนโง่กว่า” ที่หมายถึงการซื้อขาย Cryptocurrency โดยกล่าวว่า “ผมคุ้นเคยกับสินทรัพย์แห่งความเป็นจริงที่จับต้องได้ เช่น ฟาร์มปศุสัตว์ ที่มีผลผลิตเกิดขึ้นจริงเป็นรูปธรรม หรือบริษัทต่าง ๆ ที่ผลิตสินค้าจับต้องได้จริง ไม่ใช่แทนค่าความรู้สึกหรือมโนว่ามันมีอยู่...”
ถึงวันนี้ ผมก็ยังมีความเชื่อมั่นใน “ภาคการผลิตที่แท้จริง” (Real Sector) ที่เน้นย้ำถึงการผลิตสินค้าหรือสร้างวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ ซึ่งมี “มูลค่าที่แท้จริง” ที่สามารถประมาณราคาหรือคุณค่าได้จริง เพื่อการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนกันตามความพึงพอใจ
ว่าไปแล้ว มนุษยชาติมีประวัติศาสตร์อันยาวนานที่เกี่ยวข้องกับการผลิต จากการสร้างข้าวของเครื่องใช้ สิ่งปลูกสร้าง ศิลปะ วัฒนธรรมมากมายอันเกิดจาก “แรงงาน” ของคนเป็นเบื้องต้น และต่อมาได้พัฒนาจนเป็นการใช้เครื่องจักร และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อผลิตสิ่งของต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อการใช้สอยของมนุษย์เท่าถึงทุกวันนี้
สิ่งปลูกสร้างที่ยิ่งใหญ่และทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ อาทิ กำแพงเมืองจีน พีระมิด เรือสำเภา หอไอเฟล ตลอดจนถ้วยชามสังคโลก เครื่องใช้เบญจรงค์ จนถึงอาคารบ้านพักอาศัย เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม สมุด ดินสอ เครื่องเขียน หนังสือ และสารพัดอย่างในปัจจุบัน ต่างต้องอาศัยการผลิตแทบทั้งสิ้น ซึ่งปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมและจับต้องได้ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า และข้าวของเครื่องใช้รอบตัวเรา
ยิ่งในยุคของ “อุตสาหกรรม 4.0” (Industry 4.0) และ “ประเทศไทย 4.0” (Thailand 4.0) ในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของ “ประสิทธิภาพ” “การเพิ่มผลผลิต” “นวัตกรรม” และ “การสร้างมูลค่าเพิ่ม” ด้วยแล้ว การผลิต (Production) และการปฏิบัติการ (Operating) ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นทุกขณะ
ปัจจุบัน เราจึงต้องเน้นถึงความสำคัญของ “การผลิต” และ “นักการผลิต” เพราะ “นักการผลิต” จะเกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าหรือการให้บริการที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ชุมชน สังคม และประเทศชาติ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับ “ประสิทธิภาพ” (เร็วขึ้น ดีขึ้น สะดวกสบายมากขึ้น ฯลฯ) และ “การลดต้นทุน” (ทำให้สินค้าราคาถูกลง) ซึ่งเป็น “ปัจจัยสำคัญแห่งความสำเร็จ” ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของทั้งระดับองค์กรและระดับประเทศ
การวางแผนการผลิตที่ดีจึงมีความสำคัญมากขึ้นทุกที ตั้งแต่การเลือกใช้วัตถุดิบ การเลือกเทคโนโลยี การออกแบบกระบวนการผลิต การตรวจสอบคุณภาพ การจัดเก็บ การเคลื่อนย้าย และการส่งมอบสินค้าหรือบริการให้ลูกค้า คือ ต้องวางแผนและบริหารจัดการตั้งแต่ต้นจนจบอย่างครบวงจร (เริ่มจากวัตถุดิบ จนผลิตเป็นสินค้าส่งถึงมือลูกค้า) ซึ่งจะอยู่ในการกำกับ ควบคุม และดูแลของ “นักการผลิต” ที่เป็น “ตัวชี้วัด” ของความอยู่รอดและยั่งยืนของกิจการ
กระบวนการผลิตหรือวิธีการผลิตที่ว่านี้ ยังมีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับปัญหาเรื่องอุบัติเหตุอันตราย ความปลอดภัยในการทำงาน ความเสี่ยงภัย การลดของเสีย การลดมลพิษ การแก้ไขปรับปรุงมลภาวะ (ขยะ น้ำเสีย อากาศเสีย) และการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้องเป็นระบบ อันเป็นเงื่อนไขของ “ความอยู่รอด” และ “ความยั่งยืน” ของธุรกิจอุตสาหกรรม และทุกหน่วยงานในปัจจุบัน
นอกจากนี้ นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรม 4.0 และประเทศไทย 4.0 ที่มีเป้าหมายในการทำให้พวกเราคนไทยหลุดพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” โดยให้ความสำคัญกับความเจริญก้าวหน้าและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย “นวัตกรรม” และ “เทคโนโลยี” นั้น ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของ “ภาคการผลิต” และ “นักการผลิต” ในการสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ให้กับสินค้าหรือบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาด สังคม ประเทศชาติ และชาวโลกได้
ปัจจุบัน เรามีนักการเงินและนักการตลาดที่มีบทบาทและความสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศไม่น้อยจริงๆ แต่จะทำอย่างไร เพื่อจะให้นักการผลิตมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในฐานะของผู้ใช้ “เทคโนโลยี” เพื่อการผลิตและผู้สร้าง “นวัตกรรม” (เพื่อสร้างความแปลกใหม่) ที่ทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมสามารถ “ลดต้นทุนการผลิต” และ “เพิ่มประสิทธิภาพประสิทธิผล” ได้มากยิ่งขึ้น ในขณะที่สามารถ “ลดอุบัติเหตุอันตราย” และ “ประกอบกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ไปพร้อมๆ กันด้วย
ทั้งหมดทั้งปวงนี้ เราจึงต้องการนักบริหารการผลิตมืออาชีพ ที่จะทำให้เกิด “การพัฒนาที่ยั่งยืน” อย่างแท้จริง ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อ “กติกาของโลก” ในปัจจุบัน
“มืออาชีพ” ในที่นี้ก็คือ ความสามารถในการบริหารจัดการการผลิตและการให้บริการที่ทำให้ปัจจัยเรื่อง “ต้นทุน คุณภาพ การบริการ และความรวดเร็ว” สามารถบูรณาการและกลมกลืนเข้าได้กับเรื่องของ “ความปลอดภัย สุขอนามัย และสิ่งแวดล้อม” อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน