เมื่อการเมืองต้องเปลี่ยน เพื่อแก้วิกฤติประเทศ | บัณฑิต นิจถาวร

เมื่อการเมืองต้องเปลี่ยน เพื่อแก้วิกฤติประเทศ | บัณฑิต นิจถาวร

กันยายนปีที่แล้ว ผมวิเคราะห์ในคอลัมน์นี้ว่าประเทศศรีลังกาจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจและจะต้องขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งทั้งสองเรื่องก็เกิดขึ้นเจ็ดเดือนต่อมา

ล่าสุดการแก้วิกฤติศรีลังกาดูจะไม่ง่าย ไม่ใช่เพราะเป็นปัญหายาก แต่เพราะการเจรจาเรื่องหนี้กับประเทศเจ้าหนี้ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ขณะที่การเมืองในศรีลังกาก็ไม่สร้างความมั่นใจว่าจะนําพาประเทศไปสู่การแก้ปัญหา ทั้งสองเรื่องนี้จะทําให้วิกฤติยืดเยื้อและประชาชนศรีลังกาจะลําบากมากขึ้น นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

วิกฤติเศรษฐกิจศรีลังกาเกิดจากการบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาลประธานาธิบดี โกตาพญา ราชปักษา ที่ตระกูลราชปักษาผูกขาดอํานาจการเมืองในศรีลังกานานเกือบยี่สิบปี นำประเทศไปสู่ภาวะล้มละลายจากเศรษฐกิจที่ใช้จ่ายเกินตัว

ประเทศมีหนี้สูงเกินความสามารถที่จะชำระคืน ทุนสำรองต่างประเทศลดลงจนไม่มีใช้จ่ายแม้เพื่อซื้อสินค้าที่จําเป็น ทุกอย่างขาดแคลนและอัตราเงินเฟ้อสูงมาก กระทบความเป็นอยู่ของคนทั้งประเทศ การแก้วิกฤติจึงจําเป็นและต้องรีบทํา

อย่างไรก็ตาม การแก้วิกฤติจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ

หนึ่ง มีฉันทามติร่วมกันของนักการเมืองในประเทศทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเพราะเป็นวิกฤติของชาติ

สอง ประเทศเจ้าหนี้ต้องพร้อมร่วมมือและสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเดินต่อได้

เมื่อการเมืองต้องเปลี่ยน เพื่อแก้วิกฤติประเทศ | บัณฑิต นิจถาวร

สาม ประชาชนไว้วางใจและพร้อมสนับสนุนฝ่ายการเมืองคือรัฐบาล

ในการแก้ปัญหา นี่คือสามเงื่อนไขที่ต้องมี ซึ่งในกรณีศรีลังกาขณะนี้ เงื่อนไขทั้งสามข้อนี้ดูจะมีข้อจำกัด

หนึ่ง เรื่องการเมือง ต้องยอมรับว่าการเมืองในศรีลังกาหลังการลาออกของประธานาธิบดีราชปักษายังไม่เอื้อต่อการแก้วิกฤติเศรษฐกิจ เห็นได้จากการที่รัฐบาลภายใต้การนําของประธานาธิบดีคนใหม่ไม่สามารถสร้างการยอมรับหรือได้รับการวางใจจากประชาชน ว่าจะสามารถนำประเทศไปสู่การแก้ไขปัญหาได้

สาเหตุหลักก็เพราะรัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่ส่วนใหญ่ก็คือคนเดิม คือคนกลุ่มเดียวกับรัฐบาลชุดเดิมที่ถูกมองว่าสร้างปัญหาและนําประเทศเข้าสู่วิกฤติ ทำให้ไม่มีความมั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถแก้ปัญหาของประเทศได้ โดยเฉพาะการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ต้องทําที่จะมากับโปรแกรมความช่วยเหลือของไอเอ็มเอฟ เพื่อแก้ปัญหาที่ประเทศมี

ตรงกันข้ามสิ่งที่เกิดขึ้นชี้ว่านักการเมืองชุดเดิมยังไม่ยอมปล่อยมือ ยังไม่ยอมสูญเสียอำนาจ และไม่พร้อมที่จะแชร์อำนาจเพื่อการร่วมกันแก้วิกฤติ เห็นได้จากไม่มีนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามเข้าร่วมในคณะรัฐมนตรีเพื่อช่วยประเทศแก้ปัญหา ผลคือ การเมืองอย่างที่เห็นขณะนี้ไม่ใช่การเมืองที่จะนําประเทศไปสู่การแก้ปัญหา

สอง เรื่องหนี้ ศรีลังกาขณะนี้มีหนี้ต่างประเทศอยู่ประมาณ 33พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเจ้าหนี้รายใหญ่คือจีนกับญี่ปุ่น เงื่อนไขสําคัญของการแก้วิกฤติคือการลดหนี้และปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้ภาระการชำระหนี้ของประเทศสอดคล้องกับความสามารถในการหารายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศที่ลดลง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ประเทศเจอกับปัญหาผิดนัดชำระหนี้อีก

เมื่อการเมืองต้องเปลี่ยน เพื่อแก้วิกฤติประเทศ | บัณฑิต นิจถาวร

ประธานาธิบดี โกตาพญา ราชปักษา

เป็นเงื่อนไขที่ประเทศที่เป็นเจ้าหนี้ต้องยินยอมลดหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ และเป็นเงื่อนไขที่ทั้งไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกยืนยันว่าจะต้องมี คือมีข้อตกลงเรื่องหนี้ ก่อนที่ทั้งสององค์กรจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือศรีลังกา ซึ่งรวมถึงการให้เงินกู้ก้อนใหม่

แต่ที่เป็นปัญหาขณะนี้คือการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับประเทศเจ้าหนี้ในเรื่องการลดหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ยังไม่มีข้อสรุป คือตกลงกันไม่ได้ เพราะการลดหนี้จะทำให้ประเทศผู้ปล่อยกู้

เช่น จีน สูญเสีย ซึ่งอาจต้องเป็นการตัดสินใจทางการเมืองถ้าการปล่อยกู้ทําโดยหน่วยงานของรัฐ หรือเงินกู้ใหม่ที่ศรีลังกาจะได้จากไอเอ็มเอฟหรือธนาคารโลก ที่ส่วนหนึ่งก็จะถูกนําไปชำระหนี้พันธบัตรรัฐบาลศรีลังกาที่ผู้ถือพันธบัตรส่วนใหญ่คือสถาบันการเงินเอกชน

ซึ่งจีนในฐานะผู้ถือหุ้นไอเอ็มเอฟอาจมองว่าไม่เหมาะสม ควรปล่อยให้สถาบันการเงินเหล่านี้เสียหายไปกับการลงทุนที่รู้ดีว่ามีความเสี่ยงแทนที่จะเข้าช่วยเหลือ

ประเด็นเหล่านี้ทำให้การเจรจาเรื่องหนี้ยังหาข้อยุติไม่ได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนมีมากขึ้นและรัฐบาลศรีลังกาที่เจรจากับเจ้าหนี้ก็ไม่ได้รับความวางใจจากประชาชนว่ามีความพร้อมที่จะแก้ปัญหา การหาข้อยุติจึงยาก และเมื่อการเจรจาหนี้ไม่มีข้อยุติ การช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกก็ไม่สามารถเริ่มได้ ทําให้การแก้ปัญหายิ่งล่าช้า

สาม คือ ประชาชนศรีลังกาที่จะต้องลําบากจากวิกฤติที่เกิดขึ้นและจากการแก้ไขปัญหาโดยไอเอ็มเอฟที่จะมีตามมา ที่หนีไม่พ้นการลดรายจ่ายภาครัฐและปรับขึ้นอัตราภาษีเพื่อกู้ฐานะการคลังของประเทศ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อและช่วยให้เงินรูปีศรีลังกามีเสถียรภาพ การปฏิรูปเศรษฐกิจที่รวมถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่จะกระทบการจ้างงานและรายได้ของประชาชน

สิ่งเหล่านี้คือความเจ็บปวดที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในศรีลังกา เพื่อให้ประเทศสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและนําเศรษฐกิจกลับไปสู่การขยายตัว ความเจ็บปวดนี้ประชาชนคงพร้อมยอมรับและพร้อมสนับสนุนรัฐบาลถ้าประชาชนเชื่อและไว้วางใจการทำหน้าที่ของรัฐบาล

ด้วยเหตุนี้จึงเริ่มมีการเรียกร้องให้มีการยุบสภาเพื่อเป็นทางออกให้ประชาชนได้เลือกรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ และปลดข้อจำกัดทั้งสามข้อเพื่อนําประเทศไปสู่การแก้วิกฤติเศรษฐกิจ เป็นการเปลี่ยนการเมืองเพื่อให้ได้คนชุดใหม่เข้ามาแก้ไขปัญหาของประเทศ

ดังนั้น คงต้องตามดูว่าการเมืองในศรีลังกาจะพร้อมเปลี่ยนหรือไม่เพื่อให้ประเทศสามารถแก้วิกฤติที่เกิดขึ้น.

เมื่อการเมืองต้องเปลี่ยน เพื่อแก้วิกฤติประเทศ | บัณฑิต นิจถาวร

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
[email protected]