จัดพอร์ตอย่างไร เมื่อ RECESSION จริงยังมาไม่ถึง
การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) 0.75% ในการประชุมปลายเดือน ก.ค. ตามมาด้วยตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ที่รายงานติดลบในวันถัดมาเกิดเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค แต่ไม่ได้สร้างความกลัวให้กับตลาดแต่อย่างไร กล่าวคือ เมื่อดูตัวเลขและกิจกรรมเศรษฐกิจอื่นๆแล้ว เศรษฐกิจสหรัฐฯยังไม่ได้เกิดภาวะอย่างแท้จริง
เข้าสู่เดือน สิงหาคมตลาดดูเหมือนคลายความกังวลต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงของสหรัฐฯและเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มลดลงในอีกไม่กี่เดือน แต่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปียังเดินหน้าต่อ และการขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วและแรงช่วงก่อนหน้า ทำให้เศรษฐกิจเติบโตลดลง
และมีความเป็นไปได้อีกเช่นกัน ว่าสถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ หรือมีปัจจัยใหม่เข้ากระทบและทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ พร้อมที่ใช้เครื่องอื่นๆเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งก็เกิดขึ้นและถูกจับตามองจากนี้คือกรณีจีนกับไต้หวันที่มีสหรัฐฯสนับสนุน ที่เกิดความตึงเครียดเมื่อเร็วๆนี้
ดังนั้นด้วยภาพรวมที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงอยู่ เราควรมุ่งการลงทุนโดยเน้นรักษาเงินต้นให้มากที่สุดหรือว่าควรจะหาโอกาสในจังหวะตลาดแบบนี้เข้าลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้ได้มากที่สุด ..? ประเด็นที่นักลงทุนควรให้ความสนใจคือ ช่วงที่เหลือของปีนี้ไม่สำคัญว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ยเท่าไร แต่สำคัญอยู่ที่ว่า “อัตราดอกเบี้ยของปีนี้จะอยู่ที่เท่าไร.?”
ตามที่เป้าหมายของ Fed อัตราดอกเบี้ยสิ้นปีอยู่ที่ประมาณ 3.5% ซึ่งหากไม่ได้เป็นไปตามที่คาดไว้นี้ เนื่องจากมีตัวปัจจัยอื่นทำให้สถานการณ์เปลี่ยน เช่น อัตราเงินเฟ้อยังเพิ่มขึ้น , สงครามยูเครนรัสเซียกลับมารุนแรง , เกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างสหรัฐฯกับจีนกรณีไต้หวันจนกระทบต่อเศรษฐกิจ
เหล่านี้เป็นตัวแปรที่คาดได้ไม่ง่ายนัก ทำให้ตลาดกลับมากังวลและเกิดความผันผวนได้ ปัจจุบัน KTBST SEC มองว่า โอกาสเกิดภาวะ Recession จริงในปีนี้ยังต่ำ คาดว่าจะเกิดขึ้นจริงประมาณ 12 เดือนจากนี้ ซึ่งตอนนั้นจะเริ่มเห็น Fed ลดอัตราดอกเบี้ย
ขณะเดียวกัน เมื่อดูจากภาพรวมตลาดหุ้นยังไม่เห็นการปรับตัวลงหนัก สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนรับรู้เรื่องการเกิด Recession มาระดับหนึ่งแล้วในปัจจุบัน นอกจากนี้เมื่อดูจากผลกำไรของตลาดหุ้นสหรัฐฯ หลายตัวที่รายงานออกมาแย่น้อยกว่าที่ตลาดคาด ทำให้ในช่วงสั้นมีมุมมองในเชิงบวกกับตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว อีกทั้งระดับราคาในปัจจุบันซื้อขายอยู่ในระดับที่ถูกบน Earning yield gap ที่ระดับ 1.5 – 2.0 S.D.
ดังนั้น แม้ว่าตลาดยังมีความไม่แน่นอน แต่การถือเงินสดอย่างเดียวอาจเสียเป็นการโอกาส หากพิจารณาความเสี่ยงในเวลานี้ ใครที่เป็นนักลงทุนระยะกลาง-ยาว จุดนี้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับการเลือกซื้อสินทรัพย์ที่ราคาถูกและมีแนวโน้มการเติบโตในอนาคต
กลยุทธ์ลงทุนในช่วงสั้นประมาณ 1-3 เดือนจากนี้ พอร์ตลงทุนสำหรับระยะสั้นประมาณ 1-3 เดือน แนะนำให้ลงทุนในหุ้น 40-50 % และลงทุนกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) ประมาณ 50%
ส่วนพอร์ตลงทุนระยะกลาง-ระยะยาวประมาณ 1 ปี แนะนำลงทุนในหุ้นประมาณ 30-40% ในตราสารหนี้รัฐบาลสหรัฐฯ (US Treasury Bill) ประมาณ 50-60% หรือถือเงินสดประมาณ 10%
โดยที่หุ้นที่แนะนำสำหรับพอร์ตทั้งหมดนี้ ให้น้ำหนักลงทุนในหุ้นประเทศพัฒนาแล้วในสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น ในกลุ่มหุ้นประเภท Growth Stock ส่วนสินทรัพย์ประเภทสินค้าโภคภัณฑ์ อย่าง ทองคำ และน้ำมัน ช่วงนี้แนะนำให้หลีกเลี่ยง เนื่องขาดมีความน่าสนใจน้อยลง เมื่อพิจารณาจากความต้องการใช้น้ำมันที่เริ่มลดลงเมื่อเทียบกับตั้งแต่ช่วงต้นปี
ภาพรวมและแนวโน้มสินทรัพย์ในเดือน ส.ค. ต้องรอดูตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ ที่เป็นตัวบ่งชี้เศรษฐกิจ เช่น ตัวเลขการจ้างงาน ตัวเลขภาคอุตสาหกรรมการผลิต เนื่องจากมีความไม่แน่นอนจากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง และ
ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่แท้จริงยังไม่ได้เกิดขึ้นในเวลานี้ ดังนั้นสินทรัพย์ถืออยู่และให้ผลตอบแทนดีอาจต้องพิจารณาขายทำกำไรบ้างเพื่อลดความเสี่ยง และติดตามข่าวสารการลงทุนต่อเนื่อง