การเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ง่ายเหมือนที่พูด | พสุ เดชะรินทร์

การเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ง่ายเหมือนที่พูด | พสุ เดชะรินทร์

การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องหรือถึงขั้นเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life long learning) กลายเป็นสิ่งสำคัญในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายและรวดเร็วเช่นปัจจุบัน แต่ก็ใช่ว่าแค่พูดว่าต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต ก็จะทำให้บุคคลผู้หนึ่งมีความสามารถที่จะเรียนรู้ไปได้เรื่อยๆ จนตาย

มีปัจจัยพื้นฐานหลายประการที่จำเป็นและส่งผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ประกอบไปด้วย

ประการแรก พื้นฐานของแต่ละบุคคล ตั้งแต่การเลี้ยงดู การศึกษา การทำงาน รวมทั้งประสบการณ์ในอดีต ที่หล่อหลอมให้เป็นผู้ที่มีความสนใจอยากจะรู้ อยากจะหาคำตอบต่อคำถามต่างๆ และพร้อมที่จะเปิดใจในการเรียนรู้มากน้อยเพียงใด

ประการที่สอง มาตรฐานที่กำหนดไว้ในเรื่องต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อความกระตือรือร้น ความมุ่งมั่น และความปรารถนาที่จะเรียนรู้ มาตรฐานนั้น เปรียบเสมือนเป็นกรอบหรือเป้าหมายที่แต่ละคนตั้งไว้และต้องรักษาให้อยู่ในระดับที่กำหนดไว้ตลอดเวลา ถ้ามีมาตรฐานในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่สูง ย่อมจะต้องมุ่งมั่น ขวนขวายหาความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา เพื่อรักษาระดับมาตรฐานที่ตนเองกำหนดไว้ได้

การเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ง่ายเหมือนที่พูด | พสุ เดชะรินทร์

(ภาพถ่ายโดย Helena Lopes)

ลองสังเกตดูว่าบางคนที่มีมาตรฐานในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่สูง ก็จะพยายามเรียนรู้ หาความรู้ใหม่ๆ ในเรื่องนั้นตลอดเวลา แต่ในบุคคลเดียวกัน ถ้าไม่ได้มีมาตรฐานที่สูงในบางเรื่องก็จะปล่อยปละหรือไม่ได้สนใจเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ ในเรื่องดังกล่าว

ประการที่สาม การยอมรับต่อความท้าทายใหม่ที่ไม่คุ้นเคย และถึงขั้นที่ทำให้จะต้องออกจากกรอบความคุ้นเคยเดิม หรือ Comfort Zone การยอมรับต่อความท้าทายใหม่นั้น ยังขึ้นอยู่กับการระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของแต่ละบุคคลอีกด้วย ถ้ายอมรับความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่งที่ทำให้พร้อมที่จะยอมรับต่อความท้าทายใหม่จนออกจาก Comfort Zone ที่คุ้นเคย

ก็จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ในสิ่งใหม่ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความท้าทายใหม่นั้นได้อย่างดี อย่างไรก็ดี ต้องรักษาสมดุลให้ดีด้วย ไม่ใช่ว่ายอมรับความเสี่ยงตลอดเวลา จนมีความท้าทายใหม่เข้ามาตลอด แต่สุดท้ายเรียนรู้ไม่ทัน และไม่สามารถทำงานใหม่ได้สำเร็จ

การเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ง่ายเหมือนที่พูด | พสุ เดชะรินทร์

(ภาพถ่ายโดย Kaique Rocha)

ประการที่สี่ การยอมรับและพร้อมจะเรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง การเรียนรู้นั้นใช่ว่าจะต้องมาจากแหล่งภายนอกเสมอไป ประสบการณ์ของตนเองในอดีตทั้งความสำเร็จและล้มเหลวก็เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ดี ยิ่งความล้มเหลวในอดีต ล้วนแล้วแต่จะกลับมาเป็นบทเรียนที่ดี ดังนั้น การยอมรับต่อความล้มเหลวของตนเองในอดีต และพร้อมที่จะเรียนรู้จากความล้มเหลวดังกล่าวจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของผู้ที่ต้องการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

ประการที่ห้า ความนอบน้อม ถ่อมตน ที่จะยอมรับว่าตนเองไม่ได้เก่งไปหมดทุกเรื่องและพร้อมที่จะเรียนรู้จากผู้อื่น ถ้าเริ่มจากทัศนคติว่าตนเองเก่งที่สุดแล้ว ก็จะไม่พร้อมที่จะเรียนรู้จากผู้อื่น และจะไม่ใช่ผู้ฟังที่ดี การเรียนรู้ที่ดีต้องเริ่มจากยอมรับว่ามีคนที่เก่งกว่า และเป็นผู้ฟังที่ดี

ประการที่หก การมีจิตใจที่เปิดกว้าง และไม่ยึดติดกับความเชื่อ หรือสมมติฐานเดิมๆ ที่ตนเองมีอยู่ พร้อมที่จะเรียนรู้และยอมรับในสิ่งใหม่ๆ ที่อาจจะขัดแย้งกับความเชื่อหรือสมมติฐานเดิมของตนเอง

ประการที่เจ็ด รู้จักวิธีที่จะเรียนรู้ ทั้งรู้จักเรียนรู้จากแหล่งหรือบุคคลที่น่าเชื่อถือ รู้จักวิธีการสืบค้นข้อมูลที่สำคัญ รู้จักเลือกสิ่งที่จะเรียนรู้ สามารถรวบรวมและประมวลข้อมูลที่แตกต่างและหลากหลาย และรู้จักวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตนเองที่สุด เนื่องจากวิธีการในการเรียนรู้ที่เหมาะสมของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกัน เช่น บางคนอาจเรียนรู้จากการพูดคุย หรือจากการอ่าน หรือจากการฟังการบรรยาย หรือจากการทำงานจริง

คงจะเห็นได้ว่า อยู่ดีๆ การที่บุคคลหนึ่งจะมีความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิตนั้น ไม่ใช่เพียงแค่การพูดหรือเขียนไว้ใน Competency เท่านั้น แต่จะต้องประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ ที่สำคัญที่จะช่วยหล่อหลอมให้เป็นผู้เรียนที่ดี และพร้อมที่จะเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต

สิ่งที่ควรจะพัฒนาคือทำอย่างไรให้ทุกๆ คนมีทักษะและทัศนคติต่างๆ ข้างต้น เพื่อให้สามารถประกอบกันเป็นความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้

คอลัมน์ มองมุมใหม่
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[email protected]