จิ๊กซอว์ในการยกระดับบุคลากร | พสุ เดชะรินทร์
การ Transform องค์กรให้สำเร็จนั้น สำคัญคือการปรับเปลี่ยนในด้านบุคลากร แต่องค์กรมักจะคิดเฉพาะในมุมของการพัฒนาตัวบุคลากรเป็นหลัก แต่การจะปรับเปลี่ยนในเรื่องของคนให้สำเร็จจะต้องคิดในเชิงองค์รวม ไม่ใช่แค่การพัฒนาทักษะหรือปรับเปลี่ยนทัศนคติเพียงอย่างเดียว
การ Transform องค์กรให้สำเร็จนั้นจะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบหลายๆ ส่วนที่เข้ามาประกอบกันเหมือนตัวต่อจิ๊กซอว์ ที่เมื่อประกอบกันแล้ว จะนำไปสู่การยกระดับในเรื่องคนได้จริง
จิ๊กซอตัวแรกที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับตัวอื่นๆ คือทิศทางและกลยุทธ์ขององค์กรที่จิ๊กซอว์ตัวอื่นๆ จะต้องสอดคล้องกับทิศทางและกลยุทธ์
จากนั้นก็เป็นจิ๊กซอว์ในเรื่องของการแบ่งส่วนพนักงาน หรือ Employee Segmentation (ได้นำเสนอไว้ในสัปดาห์ที่แล้ว) ตามเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้สามารถยกระดับและพัฒนาบุคลากรได้สอดคล้องกับความแตกต่างของบุคลากรแต่ละกลุ่ม
จิ๊กซอว์ตัวที่สามคือเรื่องของการพัฒนาและปรับเปลี่ยนทักษะและทัศนคติของบุคลากรหรือ ที่คุ้นกันในเรื่องของการ Upskill / Reskill และการปรับเปลี่ยน Mindset ซึ่งวิธีการนั้นก็อาจจะต้องแตกต่างกันออกไปตามบุคลากรแต่ละกลุ่มที่ได้มีการแบ่งไว้ในการทำ Employee Segmentation
จิ๊กซอว์ตัวที่สี่คือการทำให้องค์กรเป็นทางเลือกสำหรับพนักงานใหม่ เนื่องจากถ้าต้องการยกระดับบุคลากรนั้นนั้น การ Upskill / Reskill พนักงานในปัจจุบันจะไม่เพียงพอ จะต้องแสวงหาบุคลากรใหม่ที่มีทักษะและทัศนคติที่เหมาะสมเข้ามาด้วย
พนักงานใหม่ควรจะมาพร้อมกับทักษะที่ขาดแคลน ที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง ซึ่งทำให้เรื่องของ Employer Branding ได้ทวีความสำคัญมากขึ้น
วัตถุประสงค์ของ Employer Branding นั้นแตกต่างจากเรื่องของแบรนด์องค์กร หรือ แบรนด์สินค้าบริการ (แต่แนวปฏิบัตินั้นไปด้วยกันได้) โดยจะเป็นเรื่องของการสร้างแบรนด์ที่เหมาะสม
เพื่อให้องค์กรเป็นที่รับทราบ รับรู้ และมีความน่าสนใจอยากจะเข้ามาร่วมงานด้วยของบุคลากรในตลาดแรงงาน และทำให้บุคลากรใหม่ๆ ที่มีความรู้ ความสามารถอยากจะเข้ามาร่วมงานกับองค์กร
การทำ Employer Branding นั้นก็จะต้องสอดคล้องกับจิ๊กซอว์ตัวที่หนึ่งและสอง ในเรื่องของกลยุทธ์และ Employee Segmentation ว่าต้องการสื่อแบรนด์ไปที่คนกลุ่มใด
องค์กรก็จะต้องใช้วิธีการที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น ไม่ใช่การสร้าง Employer Branding สำหรับคน Gen Z ด้วยวิธีคิดหรือออกแบบโดยกลุ่มคนที่เป็นรุ่น Baby Boomer กับ Gen X
จิ๊กซอว์ตัวที่ห้าคือการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริงๆ ทั้งนี้เนื่องจากความต้องการในการยกระดับบุคลากรนั้นมักจะมาจากการพูดคุยในระดับสูง ไม่ว่าจากกรรมการหรือผู้บริหาร ทำให้มีนโยบายออกมาที่ชัดเจน แต่ต่อให้นโยบายดีอย่างไร สุดท้ายก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง
เพราะตัวบุคลากรเองไม่ได้เห็นความสำคัญและความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลง ทำให้ถึงแม้จะได้รับการพัฒนาด้วยการ Reskill / Upskill แล้ว แต่สุดท้ายก็กลับไปทำงานเหมือนเดิม ดังนั้นการทำให้บุคลากรได้เกิดความจำเป็น เห็นความสำคัญและความเร่งด่วนที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และยอมที่จะออกจาก Comfort Zone ที่คุ้นเคย จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
จิ๊กซอว์ตัวที่หกคือการปรับเปลี่ยนวิถีในการทำงาน (Way of work) ให้สอดคล้องกับบุคลากรที่ได้รับการยกระดับ ไม่ใช่ว่าเมื่อบุคลากรเดิมได้รับการยกระดับ สามารถหาคนใหม่ๆ ที่มีความสามารถเข้ามาร่วมงานแล้ว แต่สุดท้ายวิถีในการทำงานก็ยังเป็นแบบเดิมๆ ก็จะไม่สามารถดึงดูดคนเหล่านี้ให้อยู่กับองค์กรได้นาน
เช่น ผู้นำไม่ควรจะเป็นแค่ผู้สั่งการอย่างเดียวแต่ต้องเป็น Coach ที่พร้อมจะพัฒนา ตัวงานก็ต้องมีความท้าทายและเปิดโอกาสให้คนได้รับการพัฒนา กระบวนการในการทำงานก็ต้องคล่องตัว ระบบในการจูงใจและประเมินผลการดำเนินงานก็ต้องปรับเปลี่ยน เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าการจะยกระดับหรือ Transform คนในองค์กรได้นั้นไม่ใช่แค่การจัดอบรมหรือ Upskill / Reskill ก็เสร็จสิ้น แต่ควรจะต้องคิดในเชิงองค์รวม ที่ครอบคลุมถึงองค์ประกอบต่างๆ เพื่อให้บุคลากรได้มีการปรับเปลี่ยนอย่างแท้จริง คำถามคือแล้วองค์กรท่านได้ดำเนินการครบตามจิ๊กซอว์แต่ละตัวแล้วหรือยัง?
คอลัมน์ มองมุมใหม่
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[email protected]