เมื่อจีนยิงขีปนาวุธ ล้อมเกาะไต้หวัน! (1) | วิกรม กรมดิษฐ์
วันนี้เรื่องเล่าจากวิกรม อยากพาทุกคนมาติดตามในเรื่องที่คนไทยควรจะรับทราบ จะได้ติดตามประเมินสถานการณ์ที่มาโยงกับไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้ แน่นอนว่าไม่มีเรื่องไหนร้อนไปมากกว่าเรื่องของไต้หวัน
ที่วันนี้ไต้หวันถูกจีนแผ่นดินใหญ่ปิดล้อม จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป และทำไม “แนนซี เพโลซี” ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ จึงจะต้องออกมากวนน้ำให้ขุ่น ชนิดที่เรียกว่าจีนเองก็ยอมไม่ได้
ที่ผ่านมาเคยรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติของนางแนนซี เพโลซี มาว่าเธอเป็น ส.ส.ที่มาจากแคลิฟอร์เนีย และได้ดำรงตำแหน่งนี้มาอย่างยาวนาน ซึ่งถือว่าเป็นผู้บริหารที่สูงวัยมากที่สุดของสหรัฐคนหนึ่ง
สิ่งที่ติดตัวนางแนนซีมาคือ อดีตและประสบการณ์ด้านต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการต่อต้านระบบคอมมิวนิสต์ แน่นอนว่าเมื่อส่องไปตรงไหนของประวัติก็พบการต่อต้านประเทศจีนมาอย่างยาวนานเช่นเดียวกัน
ด้วยความที่เคยมีอดีตกับประเทศจีนมาตั้งแต่สมัยยังเป็น ส.ส.แคลิฟอร์เนีย เคยมีการเรียกร้องประชาธิปไตยสิทธิมนุษยชนเพราะเห็นว่าประเทศจีนปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ไม่ให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชน
ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของไต้หวันอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องของดาไลลามะ ที่นางแนนซีเคยให้สัมภาษณ์ว่า “เห็นด้วยเกี่ยวกับความคิดของดาไลลามะ” ทำให้จีนเกิดความไม่พอใจ
นางแนนซีเองยังเล่าถึงเหตุการณ์เมื่อตอนปี 2534 ที่เคยเดินทางไปที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน หลังจากที่เคยมีกรณีการปราบปรามนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยได้ประมาณ 2 ปี เดินทางไปพร้อมกับเพื่อน ส.ส.อีก 2 คน และนำป้ายภาพข้อความไปแสดงในพื้นที่ดังกล่าว โดยข้อความมีความหมายที่ว่า “สนับสนุนผู้เสียสละเพื่อประชาธิปไตยในจีน”
ปรากฏว่าถูกตำรวจจีนไล่จับ ทำให้ต้องมีเหตุการณ์การวิ่งหนีเกิดขึ้น พร้อมกับทีมช่างภาพทีวีชาวอเมริกันที่เดินทางมาพร้อมกับนางแนนซี บางคนถูกจับ ถูกยึดกล้องและยึดภาพถ่าย ในสมัยนั้นเธอยังไม่ได้มีชื่อเสียงเท่ากับสมัยปัจจุบัน แต่ก็ถือได้ว่าเป็นคนที่มีประวัติมาอย่างยาวนาน
ในขณะเดียวกันจีนเองก็ไม่เคยปิดบังความจริงที่ว่าไม่ชอบนางแนนซีเช่นเดียวกัน และเคยพูดถึงในทำนองว่าเป็นนักการเมืองที่เต็มไปด้วยเรื่องราวโกหก
เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายมีความเกลียดชังกันมาอย่างยาวนาน และนางแนนซีเคยโพสต์อยู่ในทวิตเตอร์ส่วนตัวด้วยว่า “ได้เดินทางไปที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เพื่อไปให้ความเคารพแก่นักศึกษาในความกล้าหาญและเสียสละ และประชาชนธรรมดาที่ยืนหยัดในเรื่องสิทธิมนุษยชน เราก็ยังคงแบ่งปันความเชื่อและค่านิยมเช่นนั้น”
หลังจากเหตุการณ์นี้เธอถูกวิจารณ์จากสื่อมวลชน CNN ที่ประจำอยู่ที่กรุงปักกิ่งว่า เธอคือสาเหตุที่ทำให้หัวหน้าข่าวของ CNN ประจำประเทศจีนถูกจับ เนื่องจากถูกคิดว่าเป็นผู้ร่วมกระบวนการเกี่ยวกับการกระทำแสดงป้ายสนับสนุนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยเช่นเดียวกับนางแนนซี
อีกหนึ่งเหตุการณ์ประมาณปี 2545 เธอเดินทางไปพบกับรองประธานาธิบดีจีน ซึ่งสมัยนั้นคือนายหู จิ่นเทา และมีความพยายามที่จะยื่นจดหมายถึง 4 ฉบับที่แสดงถึงความกังวลต่อนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยที่ถูกจับที่จีนและทิเบต ขอให้รัฐบาลจีนปล่อยตัว แต่ว่านายหู จิ่นเทาไม่ยอมรับจดหมายดังกล่าว
อีก 7 ปีต่อมาได้ยื่นจดหมายดังกล่าวต่อหน้านายหู จิ่นเทาอีกครั้ง เมื่อตอนสมัยดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีของจีนเรียบร้อยแล้ว โดยมีเนื้อหาเช่นเดิมเกี่ยวกับการเรียกร้องให้มีการปล่อยนักเรียกร้องประชาธิปไตยของจีน
และยังมีอีกหนึ่งเรื่องราว เมื่อปี 2563 ประเทศจีนต้องการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก แต่ว่าถูกคัดค้านโดยนางแนนซี ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า “จะให้ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกไม่ได้ เนื่องจากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน” จะเห็นได้ว่าเรื่องราวระหว่างนางแนนซีกับประเทศจีนนั้น มีความขัดแย้งกันมาอย่างยาวนาน
เพราะฉะนั้น วันนี้ถ้าเราจะวิเคราะห์กันว่านางแนนซีเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่ชอบคอมมิวนิสต์ ไม่ชอบเผด็จการ ทำให้ตั้งแต่สมัยอดีตมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังคงต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์ และมองว่าไต้หวันนี้เป็นประเทศของประชาธิปไตย
เพราะฉะนั้น การที่จะถูกคอมมิวนิสต์มารวบอำนาจ หรือจะทำอะไรก็แล้วแต่เธอจึงเกิดความไม่เห็นด้วย หรือเราลองมองหาเหตุผลอื่น ที่คิดว่าทำไมเธอจึงเกลียดระบอบคอมมิวนิสต์และต่อต้านออกมาในรูปแบบต่างๆ เหล่านี้ ถ้าลองมองให้ดี ระหว่างคนอเมริกันกับระบบคอมมิวนิสต์ ก็เปรียบได้เสมือนน้ำมันกับน้ำที่ไม่สามารถเข้ากัน
อเมริกันเองก็มีนโยบายสร้างรั้วล้อมระบบคอมมิวนิสต์ตั้งแต่สมัยสงครามโลก ระบบคอมมิวนิสต์ขยายตัวมาจากทางเหนือ คือรัสเซีย ขยายลงใต้มาสู่จีน ลงไปสู่เกาหลีมาถึงเวียดนาม อินโดจีนและเมียนมา ตอนนั้นทำให้คนอเมริกันรู้สึกกลัวว่าระบบคอมมิวนิสต์จะครอบครองเอเชียทั้งหมด
เพราะฉะนั้น สหรัฐจึงสร้างรั้วบล็อกพวกระบบคอมมิวนิสต์ ตั้งแต่เกาหลีใต้ โอกินาวา ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ จนลงไปถึงออสเตรเลีย
วันนี้ หากว่ารั้วที่กล่าวถึงกำลังลดน้อย หากไต้หวันสามารถรวมกับจีนได้เมื่อใด จะทำให้รั้วที่สร้างมาขาดความแข็งแรงเพิ่มขึ้น และถ้ารวมกันได้เหมือนเช่นฮ่องกง อเมริกันอาจเสียความเป็นผู้นำในโลกได้.