ทิศทางเศรษฐกิจโลกและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี พ.ศ. 2562 (2)
ส่วนทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2562 มองว่า อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น
จากโครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม มีอำนาจผูกขาดสูง ความเหลื่อมล้ำสูง เศรษฐกิจฐานรากอ่อนแอด้วยรายได้ไม่เพียงพอและก่อหนี้สูง ปัจจัยความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะคุณภาพทรัพยากรมนุษย์อ่อนแอ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง ที่มีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน แม้ว่าการที่ประเทศไทยก้าวจาก “ระบอบรัฐประหาร” สู่ “ระบอบกึ่งประชาธิปไตย” และ จัดให้มีการเลือกตั้ง ย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการลงทุน มากกว่า ระบอบรัฐประหาร แต่การฟื้นตัวขึ้นของภาคการบริโภคและภาคการลงทุนต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา บวกเข้ากับแรงส่งจากภาคการค้าการลงทุนระหว่างประเทศและภาคการท่องเที่ยวจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในระดับ 3.3-4% เป็นอัตราการขยายตัวที่ชะลอตัวลงจากปีที่แล้วไม่มากนัก สังคมไทยเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเล็กน้อยในปีหน้าโดยคาดว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคจะอยู่ที่ 1.2-1.7% โดยคาดว่า อัตราการขยายตัวของภาคการบริโภคโดยรวมจะอยู่ที่ระดับ 3.3% อัตราการเติบโตของภาคการลงทุนโดยรวมอยู่ที่ 4.5-5.5% อัตราการขยายตัวของการส่งออกอยู่ที่ 5.5% อัตราการขยายตัวของการนำเข้าอยู่ที่ 6.5% ทำให้ประเทศไทยยังคงเกินดุลการค้าที่ระดับ 26-32 พันล้านดอลลาร์และเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อจีดีพีอยู่ที่ 6.5%
อัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นสูงกว่า 1% สภาวะการทำงานต่ำระดับมากขึ้น เราจะเห็นคนจบปริญญาตรี ทำงานที่อาศัยความรู้และทักษะระดับ ม. ปลาย เห็นคนจบ ป. โท ทำงานที่อาศัยความรู้และทักษะระดับ ป. ตรี เนื่องจากมีคนจำนวนมากไม่สามารถพัฒนาตัวเองไปสู่ผู้ประกอบวิชาชีพชั้นสูงได้จึงทำงานต่ำกว่าระดับวุฒิการศึกษาเพื่อไม่ให้ว่างงาน นอกจากนี้เทคโนโลยีเครื่องจักรอัตโนมัติและสมองกลอัจฉริยะได้ทำหน้าที่แทนแรงงานคนมากขึ้น ทิศทางอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศจะปรับตัวสูงขึ้น ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจจะทำให้เงินบาทแข็งค่าจากการเกินดุลการค้าและเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ขณะที่ปัจจัยทางการเมืองและเงินทุนระยะสั้นไหลออกจะสร้างแรงกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ในบางช่วง
ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อภาคการลงทุนและเศรษฐกิจต่อไปในปีหน้า และ ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองจะยังมีความไม่แน่นอนต่อไปจนกว่าสังคมไทยจะสามารถสถาปนาความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยได้ปัญหาการแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจ (Rent Seeking)เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในรัฐบาล ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วง 3-4ปีที่ผ่านมา เมื่อสมมติให้ตัวแปรหรือปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่นๆคงที่ ใช้สมมติฐานชุดเดียวกันและเปลี่ยนแปลงเฉพาะตัวแปรปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง สามารถพยากรณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีหน้าว่า สามารถขยายตัวได้ในระดับ 3.3-4% กรณีไม่เกิดวิกฤตการณ์ประชาธิปไตยและได้รัฐบาลจากพรรคเสียงข้างมากในสภาผู้แทน พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยมีชัยชนะเด็ดขาดและนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยและสร้างกลไกความเข้มแข็งของรัฐบาล ล้มล้างผลพวงรัฐประหาร การสืบทอดอำนาจ การทำลายระบบสถาบันพรรคการเมือง (กรณีแรก)
หากเกิดวิกฤตการณ์ประชาธิปไตยและได้รัฐบาลสืบทอดอำนาจเผด็จการ คสช และมีเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทน คาดการณ์เบื้องต้นได้ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีอาจต่ำกว่า 3% (กรณีที่สอง)
หากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองและความรุนแรงจากการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายสืบทอดอำนาจเผด็จการ เช่นเหตุการณ์พฤษภาคม 35 จบลงด้วยการทำรัฐประหารซ้ำ พยากรณ์เบื้องต้นได้ว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตได้ไม่เกิน 2% และ เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยประเทศจะเข้าสู่ทศวรรษแห่งความถดถอยอีกรอบหนึ่ง (กรณีที่สาม)
หากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลจัดการเลือกตั้งใหม่ แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ปรับเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งที่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้ดีขึ้น อัตราการขยายทางเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะอยู่ที่ 3-4% (กรณีที่สี่)