อนาคตภายใต้ DigitalTransformation การอภิวัฒน์อุตฯครั้งที4(1)

อนาคตภายใต้ DigitalTransformation การอภิวัฒน์อุตฯครั้งที4(1)

ประเทศ องค์กรธุรกิจ องค์กรรัฐ และประชาชน จะถูกพลิกผัน พลิกโฉมหน้า หรือ Disrupt ให้ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้อยู่รอด และแสวงหาโอกาสใหม่ๆ

ภายใต้ความเร็วและขอบเขตในระดับพลิกโลกตั้งแต่ระดับพฤติกรรมผู้บริโภคยันมูลค่าทางธุรกิจตลอดจนอนาคตของประเทศ

การเปลี่ยนแปลงระดับฐานรากทางด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ในทศวรรษข้างหน้านั้น จะมีความเร็ว ความกว้าง ความลึกและส่งผลต่อระบบต่างๆอย่างลึกซึ้งมากกว่าในช่วงเริ่มต้นของการอภิวัฒน์อุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เมื่อทศวรรษที่ผ่านมา (มีการหารือกันเรื่องอุตสาหกรรม 4.0 ในงานฮันโนเวอร์แฟร์ เมื่อปี ค.ศ. 2011 ว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จะทำให้เกิดโรงงานอัจฉริยะขึ้น)

การแปลงเป็นดิจิทัลและเทคโนโลยี ยุคการอภิวัฒน์อุตสาหกรรมครั้งที่ 4ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อระบบต่างๆ อย่างรวดเร็วลึกซึ้ง ด้วยขนาดของผลกระทบที่ใหญ่และกว้างขวาง การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบนี้ เขย่าฐานรากของระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วิถีชีวิตและพฤติกรรมผู้บริโภคแบบเดิม การเปลี่ยนแปลงในระดับนี้ต้องให้ผู้นำทางการเมือง ผู้นำทางธุรกิจ ผู้วางแผนนโยบายในระดับต่างๆ ต้องร่วมกันออกแบบระบบใหม่เพื่อให้สามารถประเมินโอกาส ความเสี่ยงและประโยชน์ต่างๆ พร้อมการตัดสินใจเลือกอย่างระมัดระวังเพื่อสร้างระบบที่จำกัดความเสี่ยงและผลกระทบทางลบให้ได้มากที่สุด

เครื่องจักรอัตโนมัติ หุ่นยนต์สมองกลอัจฉริยะ จะเข้ามาพลิกโฉมหลากหลายอุตสาหกรรมทั้งการผลิตและการบริการ ในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า ธุรกิจอุตสาหกรรม ตลาดแรงงานและการจ้างงานจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ในบางกิจการนั้น ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่แรงงานคนได้มากกว่า 70% ประเทศที่มีค่าแรงสูงมากเกินไปและมีระบบคุ้มครองผู้ใช้แรงงานอ่อนแอจะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดโดยเทคโนโลยีอัตโนมัติจะถูกนำมาใช้แทนที่แรงงานคนมากที่สุด

และ ที่วิตกกังวลกันมาก คือ ผลกระทบต่อตลาดแรงงานและการจ้างงานจากเทคโนโลยี ขณะที่การทำงานร่วมกันระหว่างแรงงานมนุษย์กับหุ่นยนต์ สมองกลอัจฉริยะ และ เทคโนโลยี จะทำให้ผลิตภาพของแรงงาน ผลผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้นและขีดความสามารถในแข่งขันดีขึ้น

ระบบ BlockChain และ Mobile Banking ทำให้เครือข่ายสาขาและพนักงานบริการธุรกรรมพื้นฐานมีความจำเป็นน้อยลง ธนาคารได้ทยอยลดเครือข่ายสาขาลง ธนาคารต่างๆปรับตัวในการควบรวมกิจการเพื่อให้แข็งแกร่งขึ้น อย่างล่าสุด มีการควบรวมระหว่าง ธนาคารทหารไทย กับ ธนาคารธนชาต

ส่วนที่สำคัญที่สุดของ Digital Transformation ไม่ใช่เทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องการปรับทักษะฝีมือของคนให้ทำงานกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ได้ การปรับเปลี่ยนทักษะแรงงานหรือทักษะของทุนมนุษย์ Human Capital Transformation จึงช่วยบรรเทาปัญหาการว่างงานและการถูกเลิกจ้างจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีด้วย หลายองค์กรประสบความล้มเหลวในการก้าวสู่ยุคดิจิทัล เพราะไม่สามารถจัดการกับช่องว่างระหว่างรุ่น (Intergenerational Gap) ในองค์กรได้ คนงานสูงวัยต่อต้านการเปลี่ยนแปลงและรอตัวเองเกษียณ โดยไม่พยายามฝึกทักษะใหม่หรือแสวงหาความรู้ใหม่ๆ จะทำองค์กรปรับเปลี่ยนยาก อาจถดถอยเสื่อมทรุดลง เช่นเดียวกับประเทศ หากชนชั้นนำผู้บริหารประเทศไม่ปรับเปลี่ยนตัวเอง ไม่ปรับเปลี่ยนระบบต่างๆของประเทศให้สอดรับกับพลวัตใหม่ๆ หนทางข้างหน้าของประเทศย่อมตีบตัน

ผู้กำหนดนโยบาย นายจ้าง ลูกจ้างและสถาบันฝึกอบรมต้องเร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้สอดรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปและเตรียมรับมือกับผลกระทบของเทคโนโลยี หุ่นยนต์อัตโนมัติ อินเตอร์เน็ตของทุกสิ่ง (Internet of Things) และ การพิมพ์สามมิติ (3D Printing) เทคโนโลยีเหล่านี้จะกระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า อุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์และตลาดการจ้างงานโดยรวม(ติดตามตอน 2)

 

ชื่อเรื่อง : อนาคตไทยภายใต้ Digital Transformation และ การอภิวัฒน์อุตสาหกรรมครั้งที่สี่ (1)