รู้ทันข่าวปลอม (fake news) โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง
ผู้เขียนเคยเขียนถึง “ข่าวปลอม” หรือ fake news มาแล้วหลายครั้งในคอลัมน์นี้ โดยพยายามชี้ให้เห็นความพยายามของประเทศต่างๆ ในการรับมือกับข่าวปลอม
รวมถึงการปรับตัวของโซเชียลมีเดียยักษ์อย่าง เฟซบุ๊ค และ กูเกิล ในการช่วย ด้วยส่วนผสมของโค้ด (เช่น ขึ้นข้อความเตือนผู้ใช้เน็ตว่าเนื้อหานี้อาจเป็นข่าวปลอม พึงระวังก่อนกดแชร์) กลไกตลาด (ห้ามค่ายที่เห็นชัดว่าผลิตข่าวปลอมรับเงินโฆษณาหรือซื้อโฆษณา) และธรรมเนียมปฏิบัติ (ประสานงานกับสำนักข่าวที่เชื่อถือได้ในการตรวจสอบเนื้อหา)
น่าสังเกตว่าไม่มีประเทศอารยะประเทศไหน บ้าจี้ หรือลุแก้อำนาจไปจับคนที่ ‘แชร์’ ข่าวปลอมในข้อหา “ภัยต่อความมั่นคง” หรือ “อาจก่อความตื่นตระหนกต่อประชาชน” เหมือนกับรัฐบาล คสช. สมัยนี้ เพราะประเทศอารยะเหล่านั้นรู้ดีว่า การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งข่าว(ที่คนแชร์ไม่รู้ว่า)ปลอมนั้น เป็นเรื่องปกติธรรมดาในโลกออนไลน์ เป็นหัวใจของการแสดงออกและขาดไม่ได้ในการพัฒนาตนเอง
ถ้ามีเนื้อหาไหนที่ไม่ถูกต้องหรือบิดเบือนข้อเท็จจริง คนทุกคนย่อมมีสิทธิ และควร ทำเนื้อหาโต้ตอบหรือไขความเข้าใจผิดของคนอื่น ยิ่งแชร์ข้อมูลที่ถูกต้องออกไปมากๆ พิษสงของข่าวปลอมนั้นย่อมลดลงเรื่อยๆ จนหมดความหมาย และถ้ามีใครเสียหายจากการปล่อยข่าวปลอม ผู้เสียหายก็สามารถแจ้งความผู้สร้างข่าวปลอมได้อยู่แล้วด้วยกฎหมายหมิ่นประมาท ไม่ต้องวิ่งไปใช้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ (ยอดแย่) แต่อย่างใด
การหมั่นตรวจสอบกันเองแบบนี้ คือธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีของสังคมออนไลน์และขาดไม่ได้ในการรับมือกับข่าวปลอม ฉะนั้นเราทุกคนควรพยายาม ‘รู้ทัน’ ข่าวปลอม
ทวนความจำกันอีกทีว่า “ข่าวปลอม” หมายถึง เนื้อหาอะไรก็ตามที่จงใจหลอกคนอ่านว่า 1) เป็นข้อเท็จจริง และ 2) มาจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ เพื่อโจมตีบุคคล กลุ่มบุคคล โดยหวังผลทางการเมืองหรือมีวาระซ่อนเร้น หรือเพื่อกอบโกยค่าโฆษณา (clickbait) ด้วยการพาดหัวข่าวล่อลวงให้คนคลิกอ่านเยอะๆ
ด้วยความที่ข่าวปลอมหลายชิ้นแนบเนียนเหมือนข่าวจริง และความที่คนสมัยนี้ชอบแชร์หรือส่งต่ออะไรที่ ‘โดนใจ’ (โดยเฉพาะถ้าเนื้อหานั้นด่าคนที่เราไม่ชอบอยู่แล้ว) เร็วๆ โดยไม่คิด ทำให้การรู้ทันข่าวปลอมไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้
On the Media พอดคาสท์โปรดของผู้เขียนรายการหนึ่ง เคยจัดทำ วิธีรู้ทันข่าวปลอม 11 วิธี เผยแพร่ในตอน “คู่มือผู้บริโภคสื่อ” (ต้นฉบับ https://www.wnyc.org/story/breaking-news-consumer-handbook-fake-news-edition/) ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีประโยชน์มากและปรับใช้กับข่าวปลอมในไทยได้ด้วย จึงอยากเรียบเรียงและปรับปรุงมาแบ่งปันในวันนี้ โค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง 24 มีนาคม ซึ่งเราได้เห็นแล้วว่าเต็มไปด้วยมหกรรมปล่อยข่าวปลอม ข่าวลือ และโฆษณาชวนเชื่อขนาดไหนในสังคมออนไลน์
1.สะกดผิดมากมาย ใช้ภาษาพูดเห็นชัดว่าภาพนั้นตัดต่อมา (ไม่เนียน)
2.พื้นที่รอบ ‘ข่าว’ เต็มไปด้วยแบนเนอร์โฆษณาและโฆษณาเด้งขึ้นมา (pop-up)สัญญาณที่ดีว่าเนื้อหานั้นคือ clickbait (ล่อให้คนคลิกเพื่อโกยค่าโฆษณา)
3.เช็คโดเมน!(domain ชื่อเว็บที่แสดงในแถบบนของบราวเซอร์ เช่น www.domain.com) เว็บข่าวปลอมมักจะเติม .co เข้าไปท้ายโดเมนของสำนักข่าวจริงเพื่อขโมยความน่าเชื่อถือมา เช่น “abcnews.com.co”
สำหรับในไทย เว็บข่าวปลอมหลายแห่งตั้งชื่อโดเมนที่ล่อลวงให้คนเข้าใจผิด คิดว่าเป็นสื่อกระแสหลัก ยกตัวอย่างเช่น www.one31news.com เว็บต้นตอข่าวปลอมหลายชิ้น (เช่น “พล.อ.ประวิตรดื่มกาแฟแก้วละ 12,000 บาท” วันนี้เว็บนี้ถูกลบไปแล้วหลังโดนฟ้อง) ตั้งใจตั้งโดเมนให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นช่องวัน (One31 เว็บจริงของค่ายนี้คือ www.one31.net)
นอกจากนี้ พึงระวังด้วยว่าเว็บไซต์หรือเพจเฟซบุ๊คหลายแห่งพยายามตั้งชื่อให้ดูดี มีคำว่า “จริง” “ข่าว” หรือ “นิวส์” ในชื่อ เช่น Thai Truth หรือ เดรัจฉานนิวส์ แต่ลำพังการตั้งชื่อแบบนี้ไม่ได้แปลว่าเนื้อหาจะ “จริง” สมชื่อ ผู้อ่านต้องใช้วิจารณญาณในการเสพ
4.ถ้าเจอเว็บหรือเพจที่ไม่รู้จัก อ่านหน้า “เกี่ยวกับ” เพื่อดูว่าเปิดเผยขนาดไหนว่าใครเป็นคนทำถ้าไม่มีข้อมูลคนทำ ไม่มีอีเมลให้ติดต่อ พึงตั้งข้อสังเกตก่อนเลยว่าอาจจงใจทำขึ้นมาผลิตข่าวปลอมหรือโฆษณาชวนเชื่อล้วนๆ และควรลองกูเกิลชื่อเว็บหรือเพจนั้น เพื่อดูว่ามีใครเปิดโปงเนื้อหาในเพจ/เพจไปแล้วหรือยัง
5.ถ้าเนื้อหาแปะลิงก์ที่มา หรือรายละเอียดเพิ่มเติมควรคลิกตามไปดู (ขยะจะนำทางไปหาขยะเช่นกัน) ถ้าไม่มีลิงก์ ไม่มีแหล่งอ้างอิงคำพูด (quote) หรือไม่บอกที่มาอะไรเลย ให้ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่าน่าจะเป็นข่าวปลอม คือเต้าข่าวขึ้นมาเองล้วนๆ
6.พยายามเช็ค ‘ข่าว’ที่ดูไม่น่าเชื่อ ด้วยการไปดูสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือ(มากกว่า) ว่ารายงานเรื่องเดียวกันอย่างไร ผู้เขียนอยากเสริมด้วยว่า ในบรรยากาศที่สื่อไทยหลายค่ายเลือกข้างและแบ่งขั้วอย่างรุนแรงมานานนับสิบปีเราควรอ่านข่าวเรื่องเดียวกันจากสื่ออย่างน้อยสองสำนักที่เป็น ‘ขั้วตรงข้าม’ และอ่านความเห็นโดยตรงของบุคคลที่ถูกพาดพิงในข่าว (เพราะวันนี้ทุกคนเป็นกระบอกเสียงของตัวเองแล้ว) จะได้ ‘บวกกันหารสอง’ ในใจ พิจารณาเอาเองว่าความจริงน่าจะเป็นอย่างไร
7.เช็ควันที่เพราะอาจเป็นข่าวเก่านานแล้วแต่ถูก ‘ขุด’ ขึ้นมาเล่นใหม่ (โซเชียลมีเดียเอื้อต่อการทำแบบนี้ มองแวบแรกเราอาจเข้าใจผิด คิดว่าเป็นข่าวใหม่เพราะมันเพิ่งถูกคนโพสหรือทวีตอีกรอบ)
8.อย่าอ่านแค่พาดหัวข่าวคลิกเข้าไปอ่านเนื้อข่าวจนจบด้วย พาดหัวข่าวมักไม่เกี่ยวอะไรเลยกับเนื้อหาข้างใน แค่พาดหัว ‘เสี้ยม’ หรือชักจูงให้คนเข้าใจผิด
9.ภาพถ่ายมักถูกแปะวันที่หรือระบุผิดๆรวมถึงภาพถ่ายประกอบคำพูดของคนที่ถูกเอาไปตัดต่อบิดเบือนควรใช้เครื่องมือ reverse image search อย่าง TinEye (www.tineye.com) ค้นหาว่าต้นตอจริงๆ ของภาพที่น่าสงสัยมาจากไหน
10.ความรู้สึกก็สำคัญถ้าเนื้อหาอะไรทำให้เรารู้สึกโกรธ แค้น หรือสะใจตั้งสติแล้วคิดเลยว่ามันน่าจะถูกออกแบบมาให้เรารู้สึกอย่างนั้น
11.สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ถ้าเราทำทั้ง 10 ข้อแล้วยังไม่มั่นใจว่าเนื้อหานั้นจริงหรือเปล่า ก็อย่าแชร์ออกไป ง่ายๆ เท่านี้เอง
ขอให้ทุกท่านโชคดีกับการรู้ทันข่าวปลอมทั้งหลายในโลกออนไลน์ ผู้เขียนขอทิ้งท้ายด้วยคำเตือนอีกข้อว่า ข้อความที่ส่งต่อกันในไลน์ (Line) นั้นน่ากลัวเป็นพิเศษ เพราะมันมักจะมาจากคนที่เรารู้จัก อย่าปักใจเชื่อข้อความใดๆ เพียงเพราะมันมาจากคนที่เรานับถือ เพราะเขาหรือเธอก็อาจจะถูกหลอกมาก่อนหน้าเรา!