อนาคตภายใต้ DigitalTransformation การอภิวัฒน์อุตฯครั้งที4(3)
การเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานสู่ความต้องการแรงงานที่มีความรู้ ขณะเดียวกัน การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ การลดลงของภาวะเจริญพันธุ์
ทำให้ขาดแคลนแรงงาน ระบบเศรษฐกิจจำเป็นต้องใช้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะในการทำงานและในระบบการผลิตมากขึ้นอยู่แล้ว ต้องทำให้ “มนุษย์” ทำงานร่วมกับ “หุ่นยนต์” และ “สมองกลอัจฉริยะ” ได้อย่างผสมกลมกลืนซึ่งต้องอาศัยระบบมาตรฐานแรงงาน ลักษณะตลาดแรงงานและระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตเหล่านี้อย่างไรก็ตาม กิจการในไทยโดยภาพรวมโดยเฉพาะ SMEs ยังลงทุนทางด้านเทคโนโลยีน้อย เนื่องจากเห็นว่า ยังมีต้นทุนสูงและขาดแคลนผู้ปฏิบัติงานที่มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หากไม่เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและปรับตัว ย่อมไม่สามารถอยู่รอดหรือแข่งขันได้ในโลกยุคใหม่ ครับผม
ผมได้เห็นพลวัตเชื่อมต่อกันของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 และ 4 และมีข้อสังเกตหลังจากได้อ่าน หนังสือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ The Fourth Industrial Revolution เขียนโดย เคลาส์ ชวาบ กับ หนังสือ The Third Industrial Revolution How Lateral Power is Transforming Energy, the economy, and the world เขียนโดย Jeremy Rifkin ว่า โลกและไทยจำเป็นต้องมีชุดความคิดอย่างใหม่ว่าด้วยระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง การจัดการทางสังคมและระบบทางศีลธรรมและจริยธรรม เพราะยุคสมัยในปัจจุบันและอนาคตมีพลวัตของสิ่งต่างๆ ที่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก ความเป็นไปของโลกในอนาคตต้องการคำอธิบายมากกว่าสำนักคิดทางเศรษฐกิจการเมืองที่แยกเป็นซ้ายหรือขวาแบบเดิม โลกทุนนิยมเป็น Distributed Capitalism มากขึ้น โลกาภิวัฒน์ก็มีลักษณะเป็นภูมิภาคนิยมมากขึ้น Global Supply Chain จะแบ่งออกเป็น US Global Supply Chain กับ China Global Supply Chain ท่ามกลางการแข่งขันแย่งชิงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของ 2 มหาอำนาจ
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และการเชื่อมต่อสู่เศรษฐกิจดิจิทัลพลิกระบบเศรษฐกิจ เปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจ แปรผันอุตสาหกรรมและพลิกสังคมระดับฐานราก มีการสำรวจความเห็นบรรดาผู้บริหารระดับสูงในแวดวงต่างๆ ทั่วโลกจำนวน 800 คน ภายใต้รายงานสำรวจชื่อ “Deep Shift-Technology Tipping Points and Societal Impact” จัดทำเผยแพร่ในงาน World Economic Forum เมื่อปี ค.ศ. 2015 มีการสำรวจจุดเปลี่ยนของเทคโนโลยีและผลกระทบทั้งบวกและลบ เริ่มต้นตั้งแต่ เทคโนโลยีฝังกาย ตัวตนดิจิทัล อินเทอร์เฟซด้วยการมองเห็น ซูเปอร์คอมพิวเตอร์แบบพกพาได้ ที่จัดเก็บข้อมูลสำหรับทุกคน อินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง เมืองอัจฉริยะ ยานยนต์ไร้คนขับ บิ๊กดาต้าเพื่อการตัดสินใจ ปัญญาประดิษฐ์ ประสาทเทคโนโลยี มนุษย์ออกแบบได้ เทคโนโลยีบล็อกเชน เป็นต้น
เทคโนโลยีฝังกายจะกลายเป็นสิ่งที่พบเห็นโดยทั่วไปสำหรับโลกในอนาคต อุปกรณ์และเครื่องจักรกลอัจฉริยะทั้งหลายจะเชื่อมต่อกับร่างกายมนุษย์มากขึ้น จะไม่ใช่การสวมแต่ฝังในร่างกายเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ เพื่อช่วยในการสื่อสาร เพื่อระบุตำแหน่งที่ตั้งหรือควบคุมพฤติกรรม แพทย์สามารถรักษาคนไข้ได้โดยไม่ต้องผ่าตัดโดยอาศัยเทคโนโลยีที่เป็นอุปกรณ์ขนาดจิ๋วมากสามารถเข้าไปทำงานในระดับเซลล์ของมนุษย์ได้ ยาอัจฉริยะของโนวาทีส มีอุปกรณ์ดิจิทัลที่ย่อยสลายได้ติดอยู่และส่งข้อมูลมายังผู้ป่วยผ่านมือถือว่า ร่างกายผู้ป่วยมีปฏิกิริยาต่อยาอย่างไร ชีวิตในโลกดิจิทัลหรือโลกเสมือนจริงและชีวิตในโลกจริงทางกายภาพจะมีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อนมากขึ้น ความเป็นส่วนตัวจะลดลง การแบ่งปันข้อมูลต่างๆเพิ่มขึ้น การแลกเปลี่ยนและการกระจายข้อมูลดีขึ้นพร้อมกับเสรีภาพในการแสดงความเห็น การโฆษณาและการสื่อสารที่มีเป้าหมายเฉพาะมากขึ้น การบริหารจัดการในเรื่องเหล่านี้มีความจำเป็นมากขึ้นตามลำดับ
ตัวอ่อนมนุษย์กลุ่มแรกๆ ที่ได้รับการปรับแต่งพันธุกรรมช่วงปฏิสนธิมีจำนวนมากขึ้นและได้มนุษย์พันธุ์ใหม่ที่แข็งแรงและอายุยืนยาวกว่าเดิม การแพทย์เฉพาะบุคคลทำให้การบำบัดรักษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ความรู้เรื่องพันธุกรรมมนุษย์ความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพที่ได้ลงทุนมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาทำให้มนุษย์สามารถปรับแต่งพันธุกรรมของพืชและสัตว์เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและอาหารจำนวนมาก การวินิจฉัยโรคแม่นยำขึ้น เร็วขึ้นและสร้างความบอบช้ำต่อร่างกายน้อยลง การบำบัดรักษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นจากการแพทย์เฉพาะบุคคล เราอาจได้เห็นมนุษย์คนแรกที่มีความทรงจำประดิษฐ์ติดตั้งในสมองอย่างสมบูรณ์ในอนาคตอันไม่ไกลนัก ในสมัยรัฐบาลบารัค โอบามา ได้มีโครงการวิจัยเกี่ยวข้องกับสมองมนุษย์ มีการวิจัยผ่านนวัตกรรมเทคโนโลยี (Brain Research Through Advancing Innovative Neurotechnologies) แม้โครงการวิจัยนี้จะเน้นงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์เป็นหลักแต่เรายังได้เห็นความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของประสาทเทคโนโลยีที่มีแง่มุมต่างๆ ทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของมนุษย์ คนพิการสามารถใช้ “กระแสความคิดหรือจิต” ในการควบคุมแขนขาเทียมหรือรถเข็นได้แล้ว คอมพิวเตอร์ในอนาคตอาจจะมีการออกแบบตามข้อมูลที่ได้จากศาสตร์ด้านสมองอาจให้เหตุผล ทำนาย และมีปฏิกิริยาเหมือนคอร์เท็กซ์ของมนุษย์ (บริเวณของสมองที่รู้จักกันว่าเป็นศูนย์รวมเชาว์ปัญญา)
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเหล่านี้ ล้วนส่งผลต่อสังคมและระบบเศรษฐกิจ ถามว่า ประเทศไทยเตรียมพร้อมรับมือความท้าทายเหล่านี้หรือยังครับ(จบ)