บทเรียนและทางออกค่าโง่โฮปเวลล์ วิกฤติฐานะการคลังในอนาคต
การผลักดันอนมุัติโครงการขนาดใหญ่ และการให้สัมปทานเอกชนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจต้องเกิดขึ้นบนพื้นฐานประโยชน์สาธารณะและประชาชน
ต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างรอบด้าน ความเป็นไปได้ของโครงการอย่างละเอียดถี่ถ้วน การกำกับควบคุมการดำเนินการตามสัญญาจะต้องเป็นไปอย่างรัดกุม ไม่เปิดช่องให้มีการฟ้องร้อง จากการไม่ใส่ใจต่อผลประโยชน์ของส่วนรวมและความเสียหายต่อฐานะทางการคลังและประชาชนผู้เสียภาษี ต้องมีธรรมาภิบาลและเป็นธรรมกับนักลงทุน โปร่งใสในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การอนุมัติโครงการ การกำกับโครงการ การประเมินผลโครงการ การตรวจรับหรือยกเลิกโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้
"ผมคาดว่าจะมีค่าโง่เกิดขึ้นอีกจำนวนไม่น้อยจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ต่างๆและสัญญาสัมปทาน และในอนาคต หากระบบของประเทศไทยไม่มีธรรมาภิบาลและสิ่งเหล่านี้ เราจะถูกฟ้องร้องและจะแพ้คดี
ในส่วนของการชดเชยความเสียหายจากการยกเลิกโฮปเวลล์นั้น น่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5.6 หมื่นล้านบาทเมื่อรวมดอกเบี้ย หากรวมต้นทุนค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศแล้ว การดำเนินการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่โปร่งใส โครงการโฮปเวลล์และการยกเลิกได้สร้างความเสียหายทางการเงินและทางเศรษฐกิจมากกว่า 7 หมื่นล้านบาท และเมื่อมีการตัดสินจากศาลปกครองสูงสุดแล้ว รัฐบาลต้องปฏิบัติตาม เพราะศาลยุติธรรมเป็นสถาบันพื้นฐานในการสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนและระบบการลงทุนของประเทศ รัฐบาลต้องบรรเทาผลกระทบทันทีด้วยการปรึกษาหารือและเจรจาต่อรองกับบริษัทโฮปเวลล์โดยไม่ชักช้า รวมทั้งตรวจสอบว่าการทุจริตเกิดขึ้นหรือไม่อย่างไร เพื่อนำข้อมูลมาพัฒนากลไกและระบบ เพื่อลดความเสี่ยงผลกระทบต่อฐานะทางการคลังของประเทศ รวมทั้งฟ้องร้องเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ต้องรับผิดชอบเพื่อบรรเทาภาระทางการเงินของรัฐ
ช่วงที่ผ่านมา หลังการเลือกตั้งแล้ว ก็ยังมีการเปิดประมูลและอนุมัติสัมปทานจำนวนมาก มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัมปทานและสัญญาต่างๆ กับภาครัฐด้วยมาตรา 44 ซึ่งเป็นอำนาจที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐอย่างเร่งรีบในช่วงที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ทำให้สังคมเกิดข้อสงสัยถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของการอนุมัติ การเปิดประมูลแ การเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาสัมปทาน เพราะที่สำคัญควรอยู่ภายใต้ระบบที่มีการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเต็มที่ เพื่อปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ จึงขอให้ชะลอการอนุมัติโครงการต่างๆ ไปก่อน เนื่องจากไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนแต่ประการใด
ส่วนเรื่องที่รัฐควรดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือ การออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อดูแลผลกระทบจากภัยแล้งที่มีความรุนแรงมากในหลายพื้นที่ และทำให้พืชผลเกษตรได้รับความเสียหายจำนวนมาก เกิดผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ ประชาชนฐานรากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ซึ่งรัฐบาลควรออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทั้งในส่วนการลดรายจ่าย ช่วยเหลือหนี้ครัวเรือน เพิ่มสวัสดิการ และโครงการจ้างงานเพิ่มเติมในชนบท เนื่องจากในหลายพื้นที่ในชนทบไม่สามารถทำการเกษตรได้จากการขาดแคลนน้ำและสภาพอากาศไม่เหมาะสมในการทำงาน ส่วนมาตรการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนนั้น ควรพิจารณาว่าจะสามารถประคับประคองสถานการณ์ทางการเมืองให้มีเสถียรภาพและสามารถจัดตั้งรัฐบาลตามเจตนารมณ์ของประชาชนโดยไม่ชักช้า และไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งจนนำมาสู่วิกฤตการณ์การเผชิญหน้าทางการเมืองรอบใหม่
แม้รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งจะอยู่ภายใต้ระบอบกึ่งประชาธิปไตย แต่ก็มีฝ่ายค้านในรัฐสภาในการทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุล ทำให้การดำเนินการต่างๆ ในการบริหารกิจการบ้านเมืองมีความรอบคอบถี่ถ้วนมากกว่า ผลประโยชน์สาธารณะจะได้รับการดูแลที่ดีกว่า
ระบอบประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนของการพัฒนาและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพและกระจายตัว เป้าหมายของการการพัฒนาต้องอยู่ที่การเพิ่มรายได้ให้ประชาชนเพื่อไปยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและการเพิ่มขึ้นของเสรีภาพ
การมีส่วนร่วมลแะการกระจายอำนาจ เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิผลที่สุดของการสร้างสถาบัน กฎหมาย กฎกติกาที่ดี อย่างเช่น ความมั่นคงของระบบกรรมสิทธิ์ การสร้างหลักประกันให้แก่นักลงทุนในเรื่องความเป็นธรรม การใช้มาตรา 44 บ่อยครั้งจะไม่สร้างหลักประกันดังกล่าวเพราะเป็นคำสั่งที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายปรกติ ทำให้นักลงทุนเกิดความหวั่นไหวว่ากรรมสิทธิ์และผลประโยชน์อันพึงได้อย่างเป็นธรรมจะถูกละเมิดหรือไม่ และอาจวิตกกังวลถึงความไม่เป็นธรรมที่อาจเกิดขึ้นจากการบังคับใช้ตามคำสั่งที่ไม่เป็นตามหลักนิติรัฐ รวมทั้งการสั่งยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงรายละเอียดและเงื่อนไขของโครงการลงทุนหรือสัมปทานหลังจากที่มีการตกลงไปแล้ว
นอกจากนี้ยังเกิดความเสี่ยงของการผ่องถ่ายผลประโยชน์ของสาธารณะไปยังกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลทางการเมือง การแสวงหาส่วนเกินหรือค่าเช่าทางเศรษฐกิจโดยที่กลุ่มทุนใช้อำนาจอิทธิพลต่อการตัดสินใจหรือนโยบายของรัฐอย่างไม่เป็นธรรมต่อสังคมโดยรวม ภาวะดังกล่าวจะนำมาสู่การสูญเสียผลประโยชน์สาธารณะจากอำนาจผูกขาดที่เข้มแข็งขึ้น มีการกีดกันการแข่งขัน การลงทุนจะกลายเป็นต้นทุนเพื่อรักษาส่วนเกินทางเศรษฐกิจ มากกว่า ความก้าวหน้ารุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของส่วนรวม จึงเป็นภารกิจของผู้รักชาติรักประชาธิปไตยต้องช่วยกันหยุดยั้งกระบวนการแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจอย่างไม่เป็นธรรมและการผ่องถ่ายผลประโยชน์สาธารณะไปยังผู้มีอำนาจผูกขาดทางเศรษฐกิจและการเมืองให้ได้