วิกฤติเศรษฐกิจแบบปี 2540 จะซ้ำรอยหรือไม่??? (1)

วิกฤติเศรษฐกิจแบบปี 2540 จะซ้ำรอยหรือไม่??? (1)

หลังครบรอบ 22 ปีวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ความหวาดกลัวฝันร้ายทางเศรษฐกิจการเงินหวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

เศรษฐกิจไทยวันนี้เผชิญกับการหดตัวของภาคส่งออก ภาคท่องเที่ยวซบเซา เงินบาทแข็งค่าอย่างฉับพลันจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้นเก็งกำไร การลงทุนการบริโภคชะลอตัว เศรษฐกิจปีนี้ทั้งปีอาจขยายตัวต่ำกว่า 3% คนจำนวนไม่น้อยก็ห่วงใยว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในอนาคตหรือไม่ เทคโนโลยีอุบัติใหม่ที่พลิกผันธุรกิจและเศรษฐกิจเกิดขึ้นมากจนตั้งรับความท้าทายไม่ทัน และเวลานี้ยังไม่มีใครรู้ว่า “Libra” เงินสกุลดิจิทัลของ Facebook จะส่งอย่างไรต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจโลก

แน่นอนว่า ระบบเศรษฐกิจโลกจะเคลื่อนตัวสู่การเป็นระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy)มากขึ้นตามลำดับ ธุรกรรมต่างๆทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นในโลกออนไลน์และตลาดเสมือนจริงมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดหลังจากเงินสกุลดิจิทัลอย่าง “ลิบรา” ถูกนำมาใช้ในปี พ.ศ. 2563 การเกิดขึ้นของเงินดิจิทัลอย่าง ลิบรา โดย Facebook และพันธมิตรองค์กรธุรกิจระดับโลก 27 องค์กรจะทำให้ระบบการเงินโลกเปลี่ยนแปลงไป มีผลเปลี่ยนแปลงต่อธุรกิจธนาคารแบบเดิมและการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ ลิบรา ซึ่งเป็น Stable Coin จะมีบทบาทเข้ามาแทนที่ เงินสกุลหลักอย่างดอลลาร์ ยูโร และ เยน มากขึ้นในอนาคต และ รัฐบาลและธนาคารกลางของประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดขนาดเล็กจะสูญเสียความสามารถในการควบคุมปริมาณเงิน

รวมทั้ง สูญเสียความสามารถในการบริการจัดการรายได้ภาษีให้มีประสิทธิภาพ หากประเทศเหล่านั้นไม่เตรียมตัวรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว หากไม่มีการกำกับที่ดีพอ เงินสกุลดิจิทัลใหม่ๆเหล่านี้จะนำมาสู่ปัญหาแบบสินเชื่อซับไพร์มต้นตอวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ในช่วงปี ค.ศ. 2008 หรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องติดตามใกล้ชิด


ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจฯ สถาบันเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต ได้ปรับลดการคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 2562 จาก 3.3-4% (ประมาณการช่วงปลายปี 2561) ลงมาที่ระดับ 2.8-3.3% เนื่องจากมีการชะลอตัวของการบริโภค การลงทุนในประเทศ การส่งออกหดตัวและรายได้จากการท่องเที่ยวไม่เป็นไปตามเป้าหมาย มองรัฐบาลประยุทธ์ 2 อาจไม่มีเสถียรภาพมากนักส่งผลต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การจัดทำงบประมาณปี 2563 อาจล่าช้าและประเทศมีข้อจำกัดเรื่องฐานะการคลังมากขึ้นจากการใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการที่ไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายและด้อยประสิทธิภาพ จากการใช้จ่ายงบประมาณอย่างสิ้นเปลือง ขาดการตรวจสอบ ไม่เป็นไปตามกระบวนงานงบประมาณปรกติ (ใช้มาตรา 44) และไม่ใช่หน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐ (ชดเชยความเสียหายให้กับการลงทุนและการทำโครงการของภาคเอกชนเกินความเหมาะสม) จากการสูญเสียรายได้ส่วนเพิ่มหรือรัฐได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่าที่ควรจะเป็นจากการเปิดประมูลโครงการลงทุนขนาดใหญ่ และภาระทางงบประมาณจากการต้องจ่ายค่าชดเชยของค่าโง่ต่างๆของโครงการในอดีตหรืออนาคต เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอาจนำมาสู่วิกฤตการณ์ทางสังคมได้หากเราคนไทยไม่เร่งดำเนินการแก้ไขด้วยแนวคิดประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและแนวคิดภราดรภาพนิยม


ความไม่สมดุลในการดำเนินนโยบายการเงินการคลัง มีอำนาจผูกขาดสูง ความเหลื่อมล้ำสูง เศรษฐกิจฐานรากอ่อนแอด้วยรายได้ไม่เพียงพอและก่อหนี้สูง ปัจจัยความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะคุณภาพทรัพยากรมนุษย์อ่อนแอ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง ที่มีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยก้าวจาก “ระบอบรัฐประหาร” สู่ “ระบอบกึ่งประชาธิปไตย” และ จัดให้มีการเลือกตั้ง จะทำให้ ไทย สามารถเปิดเจรจาทางการค้าและทำข้อตกลงทางเศรษฐกิจต่างๆทำให้เกิดโอกาสทางการค้าและการลงทุนเพิ่มขึ้น

ก็ต้องเรียนว่า วิกฤตการณ์เศรษฐกิจแบบปี 2540 จะไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้แต่มีความเสี่ยงมากขึ้นที่เศรษฐกิจไทยจะประสบปัญหาฐานะการคลังและการเติบโตในระดับต่ำกว่าศักยภาพยาวนาน ภาวะล้มละลายอาจเกิดขึ้นได้จากการดำเนินนโยบายแบบประชานิยมเกินขนาด ซึ่งต่างจากปี 2540 ที่เป็นเรื่องของการลงทุนและการก่อหนี้เกินตัวของภาคเอกชน นอกจากนี้กิจการต่างๆและธุรกิจอุตสาหกรรมเผชิญกับภาวะที่ไม่สามารถปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีผลกระทบอย่างฉับพลันได้ ทำให้เกิดการปิดกิจการตามด้วยปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้น ขณะนี้ประเทศไทยมีการเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับ 41-42 พันล้านดอลลาร์ มีทุนสำรองระหว่างประเทศ 2.15 แสนล้านดอลลาร์ มีหนี้สินต่างประเทศระยะสั้นไม่มาก ต่างจากช่วงก่อนปี 2540 ที่เรามีปัญหาการขาดดุลการค้าและขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและมีหนี้สินต่างประเทศระยะสั้นจำนวนมาก ตอนปี 2540 อัตราเงินเฟ้อก็สูงมีปัญหาฟองสบู่ ตอนนี้ อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานยังค่อนข้างต่ำแต่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังปี 2562 สัดส่วนหนี้สินต่อทุนของภาคธุรกิจแม้นเพิ่มขึ้นแต่ยังคงเป็นการกู้เงินในประเทศ แต่เครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่ก่อหนี้จำนวนมากเพื่อการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องมีการประเมินความเสี่ยงต่อระบบการเงินโดยรวมด้วย เมื่อเราเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวที่มีการจัดการ การกู้จากต่างประเทศและหนี้สินจะมีการทำประกันความเสี่ยง ในขณะที่ปี พ.ศ. 2561-2562 สัญญาณการลงทุนเกินตัวของภาคเอกชนมีในบางภาคเศรษฐกิจและบางพื้นที่เท่านั้นและการลงทุนเอกชนไม่ได้ร้อนแรงมากเหมือนก่อนปี พ.ศ. 2540 แต่การลงทุนภาครัฐเริ่มส่งสัญญาณลงทุนเกินตัวสะท้อนจากงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องและก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมาก ไม่เป็นปัญหาหากโครงการลงทุนต่างๆสามารถสร้างการเติบโตในระยะต่อไป


ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองจากความล่าช้าในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีก็ดี ข้อสงสัยเรื่องความชอบธรรมของรัฐบาลใหม่ก็ดี วิกฤติรัฐธรรมนูญและระบบนิติรัฐ ความเหลื่อมล้ำ ความยากลำบากของเศรษฐกิจฐานราก และปัญหาฐานะทางการคลังจะทำให้วิกฤติเศรษฐกิจในอนาคตมีความแตกต่างและซับซ้อนกว่าวิกฤติปี 2540 ความเสี่ยงทางการเมืองนั้นหากเป็นเพียงภาวะไร้เสถียรภาพและรัฐบาลอายุสั้นรวมทั้งยังแก้ไขปัญหาผ่านกลไกรัฐสภาภายใต้ระบอบประชาธิปไตย โดยปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยยังพอประคับประคองไปได้ หากปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองเป็นผลจากการกระทำนอกกฎหมายหรือรัฐประหาร เศรษฐกิจไทยอาจจะรับมือไม่ไหวและนำไปสู่วิกฤติแน่นอนโดยเฉพาะจะกระทบต่อภาคการลงทุนอย่างรุนแรง เศรษฐกิจไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533-2538 มีอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยที่ร้อยละ 8.6 ขณะที่อัตราการขยายตัวในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาล คสช ต่ำกว่าร้อยละ 3 ประเทศไทยจึงมีปัญหาการเติบโตต่ำกว่าศักยภาพในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามากกว่าปัญหาเศรษฐกิจขยายอย่างร้อนแรง