บนเส้นทาง สายเหลื่อมล้ำ
ผมเขียนคอลัมน์นี้ ขณะที่ฝนโปรยคลุมเทือกเขาตะนาวศรี กั้นเขตแดนไทยเมียนมา
ผมมา จ.ตาก มีโอกาสสนทนากับผู้ใหญ่ท่านหนึ่งในแวดวงราชการ เรารู้จักกันช่วงที่เป็นกรรมาธิการสืบสานศาสตร์พระราชา ของ สนช. เราพูดถึงการพัฒนาคน พัฒนาเมือง และพัฒนาประเทศตามนโยบายรัฐบาล
รัฐบาลที่แล้ว “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี มาถึงรัฐบาลนี้ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
“ลุงตู่” หมดอำนาจหัวหน้าคสช. ไปแล้ว นี่คือความต่าง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องบริหารประเทศที่มีรัฐบาลผสมเป็นตัวแปร
“บิ๊กตู่” ที่มีอำนาจมาตรา 44 อยู่ในมือ หลายเรื่องแก้ปัญหาลุล่วงรวดเร็วแต่ก็ทิ้งอีกหลายเรื่องให้คาราคาซังจะมาถึงรัฐบาล “ลุงตู่”
ประเด็นสำคัญเวลานี้ก็คือการพัฒนาประเทศหมายถึงการพัฒนาคน พัฒนาเมือง ต้องเดินหน้าไปพร้อมกัน
ลองหันมาดูในขณะที่รัฐบาล “บิ๊กตู่” เดินหน้าโครงการอีอีซี หรือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกใช้เงินลงทุนหลาย 100,000 ล้านบาท รัฐบาล “ลุงตู่” ก็ประกาศสานต่อด้วย คนที่ได้ประโยชน์ก็คือประเทศชาติ ในส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจ และกลุ่มนักธุรกิจผู้กุมชะตากรรมเศรษฐกิจประเทศไว้ไม่กี่เจ้า
ส่วนด้านบนเทือกเขาสูง ชีวิตคนไทยส่วนหนึ่งยังต้องตรากตรำลำบาก ยิ่งมีฝนตก ถนนขาด หมู่บ้านโดนตัดขาดจากโลกภายนอก เป็นเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ปีแล้วปีเล่า
ในช่วงรัฐบาล “บิ๊กตู่” เข้ามาบริหารประเทศใหม่ๆ มีการเสนอให้สำรวจหมู่บ้านและการพัฒนาเส้นทางหมู่บ้านของกลุ่ม คนไทยที่อาศัยอยู่พื้นที่สูง มีการสำรวจความจำเป็นที่จะสร้างอนามัย เพื่อดูแลสุขทุกข์เมื่อยามเจ็บป่วย มีถนนหนทางเพื่อนำสินค้าการเกษตรออกมาขายเป็นรายได้
แต่เชื่อไหมว่า พ้นมาถึงรัฐบาล “ลุงตู่” แทบไม่มีความเปลี่ยนแปลงในความเป็นอยู่และสภาพความเป็นจริงของพื้นที่บนเขาสูง ที่ยังคงต้องเผชิญกับการสัญจรไปบนหนทางที่ลำบาก และเสี่ยงต่อการถูกดินสไลด์หรือน้ำป่า
ถ้าจะบอกว่า การพัฒนาคือการเดินหน้าไปพร้อมกัน ทั้งการพัฒนาเมือง พัฒนาคน เพื่อให้เศรษฐกิจระดับบนสามารถแข่งขันกับคู่แข่งทางการค้าได้ แต่ก็ต้องไม่ทิ้งการพัฒนาคนระดับล่าง ไม่ปล่อยให้กลายเป็น “เส้นทางความเหลื่อมล้ำ”