มายาคติของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

มายาคติของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

สิ่งที่พรรคการเมืองสัญญาไว้กับประชาชนในช่วงหาเสียงเลือกตั้งแทบจะกลายเป็นข้อผูกมัดให้พรรคการเมืองต้องปฏิบัติตามหลังการเลือกตั้ง

หากจะไม่ปฏิบัติตามก็จะต้องมีคำอธิบายที่พอจะรับฟังได้ เช่น ไม่ได้เป็นรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับนโยบายนั้นๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อพรรคการเมืองท้ายที่สุดแล้วได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็ควรจะคาดหวังว่าทุกนโยบายที่หาเสียงไว้จะต้องถูกนำไปปฏิบัติ ซึ่งหนึ่งในนโยบายสำคัญที่พรรคแกนนำรัฐบาลในขณะนั้นหาเสียงไว้ก็คือนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ

นโยบายการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็นนโยบายที่พรรคการเมืองต้องตัดสินใจให้รอบคอบหากคิดนำมาใช้เพื่อเรียกคะแนนเสียง เพราะขณะเดียวกันนโยบายนี้ก็ได้ก่อให้เกิดเสียงคัดค้านจากคนอีกฟากฝั่งอย่างเปิดเผยด้วยเช่นกัน

ปกติแล้วการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นสิ่งที่กระทำอยู่เสมอๆ ตามระยะเวลาหนึ่งๆ โดยมีจุดเน้นสำคัญที่การรักษาระดับค่าจ้างแท้จริงเพื่อให้ผู้ที่ทำงานรับค่าจ้างขั้นต่ำสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ท่ามกลางค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น โดยการปรับแต่ละครั้งจะปรับขึ้นครั้งละประมาณ 3-7 % แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ซึ่งในการพิจารณาแต่ละครั้งก็จะมีทั้งฝ่ายขบวนการแรงงานที่ต้องการให้ปรับขึ้นมากกว่านี้และฝ่ายสมาคมนายจ้างที่เสนอให้ปรับขึ้นน้อยกว่านี้ เช่นนี้เป็นเหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้นมาอย่างสม่ำเสมอ และไม่ได้เป็นที่สนใจของสังคมโดยทั่วไปมากนัก จนกระทั่งในการหาเสียงเลือกตั้งในปี 2554 พรรคเพื่อไทยนำเสนอนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างก้าวกระโดดเป็น 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ทำให้เกิดกระแสความสนใจอย่างกว้างขวางจากสังคม

การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทในปี 2456 หลังพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลมีความแตกต่างอย่างสำคัญกับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะในครั้งนั้นไม่เพียงแค่เป็นการรักษาระดับค่าจ้างแท้จริงเหมือนการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ผ่านๆ มา แต่ถือเป็นการเพิ่มค่าจ้างแท้จริงครั้งใหญ่ให้กับลูกจ้างผู้ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำด้วย

ในทางเศรษฐศาสตร์ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดมีประเด็นที่น่าสนใจบางประการ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีนักวิชาการท่านหนึ่งแสดงความคิดเห็นเป็นบทความ หลังจากพรรคพลังประชารัฐสามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยเห็นว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 425 บาทตามที่พรรคพลังประชารัฐหาเสียงไว้ไม่ใช่นโยบายที่ดีต่อเศรษฐกิจทั้งในด้านมหภาคและด้านจุลภาค

ในด้านมหภาคเนื่องจากแรงงานส่วนน้อยมากที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ดังนั้นการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ตรงกันข้ามนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำจะกระทบในด้านอุปทานในลักษณะของ supply shock นักลงทุนจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นที่มีต้นทุนต่ำกว่า ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อพร้อมกับเศรษฐกิจถดถอย ในขณะที่ในด้านจุลภาคจะนำไปสู่ปัญหาการสูญเสียจากการจัดสรรทรัพยากรที่บิดเบือน และยังนำไปสู่ปัญหาการตกงานกับกลุ่มแรงงานไทยไร้ทักษะ จนกระทั่งสุดท้ายก็จะกลายเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ซึ่งการแสดงความเห็นเช่นนี้มิใช่ของใหม่หรือเป็นความซับซ้อนในการคิดวิเคราะห์แต่อย่างใด แต่ความเห็นในลักษณะนี้เป็นความเห็นโดยพื้นฐานของนักเศรษฐศาสตร์ที่อาศัยกรอบคิดแบบตลาดเสรีตามทฤษฎีที่มักละเลยสิ่งที่เป็นปรากฎการณ์จริงในสังคม

ประการแรก โดยที่ยังมิต้องพิจารณาถึงตัวเลขสถิติของผู้ที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำว่ามีจำนวนมากน้อยเท่าใด แต่การที่พรรคการเมืองใหญ่หลายพรรคเสนอนโยบายหาเสียงด้วยการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดย่อมแสดงให้เห็นว่าพรรคการเมืองเหล่านั้นเล็งเห็นผลว่านโยบายเช่นนี้จะช่วยเพิ่มคะแนนเสียงให้ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ และยิ่งเมื่อนำตัวเลขสถิติมาประกอบการพิจารณา ก็จะพบว่าเมื่อครั้งที่มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดในปี 2556 มีแรงงานได้รับประโยชน์โดยตรงทันทีกว่า 2 ล้านคน และยังมีแรงงานที่ผู้ได้รับค่าจ้างในระดับที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้วได้รับประโยชน์ด้วยจากการได้ปรับขึ้นค่าจ้าง แม้จะไม่ใช่ในอัตราที่สูงเท่ากันก็ตาม ซึ่งตัวเลขที่กล่าวมานี้ไม่น่าจะถือได้ว่าเป็นจำนวนเล็กน้อยจนไม่ส่งผลต่อกำลังซื้อของระบบเศรษฐกิจในภาพรวม ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ส่งผลต่อ supply shock อย่างเดียว แต่ส่งผลในการเพิ่มอุปสงค์มวลรวมด้วย

ประการต่อมา คือเรื่องการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ กล่าวคือ เมื่อพิจารณาค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (Gini Coefficient) ด้านรายได้ทั่วประเทศที่เก็บข้อมูลโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ และประมวลผลโดยสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็จะพบว่าค่า Gini ในปี 2556 และ 2558 มีค่าต่ำสุดในรอบ 20 กว่าปี (ข้อมูลแสดงผลตั้งแต่ปี 2531-2558) โดยในปี 2554 มีค่า 0.484 ในปี 2556 มีค่า 0.465 และในปี 2558 มีค่า 0.445 แน่นอนว่าการที่ค่า Gini ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยคงไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นผลงานของนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำเพียงอย่างเดียว เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นปรากฏการณ์ที่เกี่ยวพันกันปัจจัยเชิงโครงสร้างหลายอย่าง (เช่น สวัสดิการสังคม โอกาสในการศึกษา โอกาสของอาชีพในแต่ละเพื้นที่ ฯลฯ) แต่สิ่งที่เราสามารถรับรู้ได้จากข้อมูลนี้คือ การมีอยู่ของนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ได้ทำให้การกระจายรายได้ในภาพรวมแย่ลงแต่อย่างใด

มันเป็นเรื่องปกติในทางเศรษฐศาสร์ที่แต่ละคนจะมีความคิดความเห็นต่อนโยบายที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่ทุกคนควรจะต้องยึดถือปฏิบัติคือการแสดงความคิดความเห็นบนข้อมูลและปรากฎการณ์ที่เป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงความเห็นในที่สาธารณะและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทบาทของนักวิชาการ

โดย... 

ตะวัน วรรณรัตน์

ภาควิชาสังคมศาสตร์ 

คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร