Household Debt: A BoT Drama

Household Debt: A BoT Drama

อสเตรเลียเป็นประเทศที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเกือบจะสูงสุดในโลก

รองลงมาจากสวิสเซอร์แลนด์ด้วย 121.7% ในปี 2017 ห่างไกลจากสัดส่วนของไทยในปีเดียวกันที่ 78.0% ดังแสดงในตารางที่ 1 

Michael Bullock ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลีย ได้กล่าวปาฐกถาเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2018 เกี่ยวกับปัญหาหนี้ครัวเรือนในออสเตรเลียค่อนข้างรอบด้าน ดังที่จะบรรยายต่อไปนี้ 

สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของออสเตรเลียเพิ่มขึ้นจากแรกๆ ที่ประมาณ 42% เมื่อประมาณปลายทศวรรษที่ 1980 มาถึงจุดสูงสุดที่วิกฤตการเงินโลกที่ประมาณ 110% และหยุดอยู่ตรงนี้ประมาณ 5 ปี สัดส่วนนี้ไต่ขึ้นมาใหม่ในปี 2013 จนถึงระดับ 120% 

Household Debt: A BoT Drama

สัดส่วนที่สูงขึ้นในช่วงแรกมาจากสภาพอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงทั่วโลกภายหลังวิกฤตการณ์น้ำมันในทศวรรษที่ 1980 และสภาพคล่องเหลือเฟือทั่วโลกจนกระทั่งมาสะดุดด้วยวิกฤตการเงินทั่วโลก และ ขยับสูงขึ้นต่อไปในช่วงหลังด้วย QE ของธนาคารกลางทั่วโลก เหตุผลอีกประการหนึ่งที่สัดส่วนสูงขึ้นในช่วงแรกก็คือ การผ่อนคลายของระเบียบสถาบันการเงินทั่วโลกที่ทำให้การกู้ยืมทำได้ง่ายขึ้น แน่นอน ออสเตรเลียไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีสัดส่วนสูงขนาดนี้ ประเทศอื่น ๆ ที่สัดส่วนเกิน 100% ยังมี แคนาดา เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ และทุก ๆ ประเทศที่ปรากฏในตารางที่ 1 ต่างก็มีสัดส่วนสูงขึ้นด้วยเงินกู้ผ่อนชำระที่อยู่อาศัย สิ่งที่น่าสังเกตคือทุกประเทศที่ปรากฏในตารางที่ 1 ต่างมีสัดส่วนของความเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยที่สูงในช่วง 65-100% ซึ่งถือว่าสูง 

สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่สูง ทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสสูงในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยก็จริง แต่ก็คงต้องมองอีกด้านหนึ่งว่ามีผลกระทบทางลบหรือไม่ ในออสเตรเลีย สัดส่วนให้กู้ยืมทางธุรกิจต่อที่อยู่อาศัยเคยเป็น 65%:25% เมื่อ 30 ปีก่อน กลายมาเป็น 35%:65% ในปัจจุบันนี้ แน่นอน สัดส่วนเงินให้กู้ยืมที่อยู่อาศัยที่สูงย่อมทำให้สถาบันการเงินตกอยู่ในความเสี่ยงในกรณีที่ราคาที่อยู่อาศัยตกลงมากและอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้ผู้บริโภคไม่อาจชำระเงินแก่สถาบันการเงินเพื่อให้หลักประกันหนี้อยู่ในสัดส่วนที่ปลอดภัยแก่สถาบันการเงิน เศรษฐกิจที่ตกต่ำลงมากและอย่างรวดเร็วก็เป็นอีกสถานการณ์หนึ่ง ที่ทำให้สถาบันการเงินตกอยู่ในความเสี่ยงที่คล้ายๆ กัน

ในช่วงของตลาดที่อยู่อาศัยร้อนแรงที่ผ่านมา APRA ของออสเตรเลีย ได้ตั้งระเบียบให้สถาบันการเงินคำนวนเงินผ่อนต่อเดือนด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าตลาดถึง 2% และได้กลายมาเป็นสาเหตุที่ชวนให้สงสัยว่าตลาดที่อยู่อาศัยออสเตรเลียดิ่งเหวด้วยเรื่องนี้หรือไม่ มาตรการที่สถาบันการเงินได้ทำควบคู่ไปด้วยในช่วงที่ผ่านมา คือลดเงินให้กู้ยืมประเภทที่ชำระเฉพาะดอกเบี้ย หรือ เพื่อการลงทุน หรือ ที่มีสัดส่วนเงินให้กู้ยืมต่อมูลค่าหลักประกันสูง ทั้งหมดนี้อาจจะทำให้ความเสี่ยงของสถาบันการเงินออสเตรเลียไม่ถึงกับแตกสลายไป

เมื่อพิจารณาถึงสัดส่วนของผู้มีรายได้แต่ละกลุ่มพบว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มรายได้ต่ำไปหาสูง 5 กลุ่ม อยู่ที่ 5%, 10%, 20%, 25% และ 40% ตามลำดับ โดยที่ 2 กลุ่มแรกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ 3 กลุ่มหลังมีแนวโน้มลดลง ซึ่งทำให้เกิดความเป็นห่วงว่ากลุ่มรายได้ระดับล่างอาจมีภาระหนี้ที่มากเกินไปจนเกิดความเสี่ยงแก่สถาบันการเงิน แม้ว่าอาจจะคิดเป็นสัดส่วนที่ไม่มาก

รายละเอียดเกี่ยวกับเงินให้กู้ยืมที่อยู่อาศัยที่ต้องพิจารณาอีกอย่างคืออายุ ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็น 6 กลุ่ม คือ 15-25, 25-35, 35-45, 45-55, 55-65 และ เกินกว่า 65 ปี กลุ่มที่ควรแก่การสังเกตคือ กลุ่มที่ 2 และ 3 ซึ่งมีแนวโน้มลดลงตามเวลา ซึ่งมีสัดส่วนที่ประมาณ 20% และ 30% ตามลำดับ อีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสังเกตคือกลุ่ม 55-65 ปี ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นตามเวลาและมีสัดส่วนประมาณ 15% กรณีแรกไม่น่าห่วงและถือเป็นเรื่องดี แต่กรณีหลังอาจจะน่าเป็นห่วงว่าผู้ที่ใกล้เกษียณอายุยังมีหนี้เหลืออยู่ แต่เราต้องเข้าใจว่าชาวออสเตรเลียมักมีเงินสำรองเลี้ยงชีพที่มีมูลค่าสูงและการใช้เงินกู้ยืมที่อยู่อาศัยเป็นไปเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยที่มีขนาดเล็กลง

ปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องได้แก่ ผู้ที่อยู่ในเมืองใหญ่มักจะมีเงินกู้ยืมที่อยู่อาศัยมากกว่าผู้ที่อยู่ในชนบท

กล่าวโดยสรุปแล้ว สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของออสเตรเลียอยู่ในระดับสูงและสมควรแก่การติดตาม เพื่อป้องกันไม่ให้ความเสี่ยงที่มีอยู่กับผู้บริโภคและสถาบันการเงินระเบิดออกมากลายเป็นความล่มสลายของระบบการเงิน แต่ว่าอันตรายดังกล่าวคงไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

การวิเคราะห์ความเสี่ยงของออสเตรเลียที่มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่สูงกว่าไทยมาก คงจะเป็นสิ่งที่อ้างอิงได้ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงสำหรับกรณีของไทยได้ดังนี้

แม้ว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะสูงขึ้นตลอดตามเวลาก็ตาม แต่ก็ต้องระลึกว่าแนวโน้มหลักของสัดส่วนที่สูงขึ้นมาจากการทำตลาดของสถาบันการเงินที่ดึงดูดให้ผู้บริโภคหันมาใช้บริการของสถาบันการเงินแทบจะธุรกรรมทุกอย่าง ซึ่งผู้บริโภคไม่เคยมีโอกาสมาก่อนในอดีตและต้องใช้สถาบันการเงินนอกระบบซึ่งจะไม่ปรากฏสถิติใด ๆ การใช้บริการสถาบันการเงินมากขึ้นย่อมทำให้เกิดสถิติของหนี้สินสูงขึ้นเป็นธรรมดาตามระดับการพัฒนาของระบบสถาบันการเงิน

ถ้าหากพิจารณาสัดส่วนของหนี้ครัวเรือนที่ใช้ไปเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ แล้ว จะพบว่าค่อนข้างมีเสถียรภาพ กล่าวคือเป็นที่อยู่อาศัยประมาณ 50% รถยนต์ 15% สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต 10% และ อื่น ๆ (ซึ่งคาดว่าคงแตกออกเป็นวัตถุประสงค์ข้างต้นตามสัดส่วน) อีก 25% (ที่มาของข้อมูลจากวิทยานิพนธ์ปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2559 นางสาวลลิตา บุดดา) ถ้าจะให้วิเคราะห์ฟันธงกันอย่างง่าย ๆ และ ชัด ๆ ก็คือ สัดส่วนที่สูงขึ้นในรอบก่อนมาจากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาลในขณะนั้นโดยแท้ อย่าลืมว่าการซื้อรถยนต์ในขณะนั้นย่อมนำมาซึ่งความตึงตัวของภาระการใช้จ่าย ซึ่งผู้บริโภคจะต้องผ่อนคลายด้วยสภาพคล่องเพิ่มเติมจากสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต โปรดสังเกตว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวค่อนข้างสม่ำเสมอที่ประมาณ 10% มาตลอด

ดังนั้น สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจึงมาจากนโยบายรัฐบาลโดยแท้ ไม่ใช่เป็นพฤติกรรมของผู้บริโภคแต่อย่างใด ส่วนการที่สัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นมาในปีสองปีนี้เป็นเพียงการเพิ่มตามแนวโน้มหลักที่ต่อเนื่องจากช่วงก่อนหน้านั้นเท่านั้นเอง

ในวิทยานิพนธ์เดียวกัน ตารางในภาคผนวกแสดงว่ารายได้เฉลี่ยจากมากไปน้อยตามลำดับเป็นรายภาค จะเรียงตั้งแต่ กทม. ภาคกลางกับภาคใต้ และ ภาคเหนือกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สัดส่วนหนี้สินต่อรายได้จากน้อยไปมากก็จะเรียงตามลำดับข้างต้นเช่นเดียวกัน ดังนั้น ความเสี่ยงของหนี้ครัวเรือนไม่ได้มาจากพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค แต่มาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันตามภาคมากกว่า เมื่อดูสัดส่วนหนี้สินต่อรายได้ของกลุ่มต่าง ๆ ที่แยกตามลักษณะการทำมาหากินเป็น เกษตรกรเจ้าของที่ดิน เกษตรกรเช่าที่ดิน ประมง คนงาน เกษตร ธุรกิจนอกเกษตร นักบริหาร คนงานทั่วไป และ พนักงานทั่วไป ก็จะพบว่าสัดส่วนหนี้สินต่อรายได้จะแปรผันตามรายได้เฉลี่ยของแต่ละกลุ่ม ซึ่งหมายความว่าผู้บริโภคจะใช้จ่ายหรือเป็นหนี้ตามฐานะของแต่ละกลุ่มโดยที่ไม่ได้ใช้จ่ายเกินตัวแต่อย่างใด

Household Debt: A BoT Drama

ในรายงานนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (2018) ภาพที่ 7 บอกว่าสัดส่วนภาระหนี้รายเดือนต่อรายได้รายเดือน (Debt Service Ratio หรือ DSR) สูงขึ้นในช่วงปี 2556-2560 ก็จริง แต่ว่า ข้อมูลที่แสดงในรูปเดียวกันแสดง DSR ไว้ที่ประมาณ 30% เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งถือเป็นเกณฑ์ที่สถาบันการเงินส่วนใหญ่ยอมรับได้ในการพิจารณาให้เงินกู้ยืมกัน ข้อยกเว้นในรูปมีเพียงกลุ่มรายได้ต่ำ 20% ล่างและกลุ่มธุรกิจเกษตรเท่านั้นที่ DSR สูง 40-50% ซึ่งน่าจะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างมากกว่าเป็นแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคโดยทั่วไป ภาพที่ 6 ในรายงานเดียวกัน ได้แสดงสัดส่วนหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน ปรากฏว่าสัดส่วนหนี้รถยนต์และบัตรเครดิตแสดงผลกระทบจากนโยบายรัฐบาลในปี 2555 อย่างชัดเจนและได้ลดลงจนเป็น 2 ประเภทที่มีระดับต่ำที่สุด สินเชื่อที่อยู่อาศัยกับอุปโภค-บริโภครวมอาจจะเป็น 2 ประเภทที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างช้า ๆ ตลอดเวลาและสมควรแก่การให้ความสนใจ ซึ่งก็ต้องถามไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงว่า ได้ควบคุมกำกับสถาบันการเงินหละหลวมอย่างไรหรือไม่ นี่คือมาตรการที่ควรจะทำมากกว่าการเหวี่ยงแหควบคุมสินเชื่อประเภทนั้นๆ ทั้งหมด

Household Debt: A BoT Drama

แนวโน้มทางเศรษฐกิจที่อาจทำให้เกิดความเสี่ยง จำเป็นต้องเฝ้าติดตามและแก้ไขปัญหาให้ทันเวลาและเฉพาะจุดที่เกิดปัญหา ไม่ใช่เหวี่ยงแหและสร้างความเสียหายแก่ส่วนที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง ความหละหลวมของการควบคุมกำกับนำมาซึ่งวิกฤตสถาบันการเงินครั้งแล้วครั้งเล่าและตามมาด้วยการสร้างความเสียหายแก่ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

นี่คือสิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยควรจะต้องทำ ไม่ใช่ดราม่าในเรื่องหนี้ครัวเรือนเกินกว่าที่สมควร