'ดีอี' เร่งแก้ก.ม.100ปี 'ไปรษณีย์' คาดเสนอครม.ไม่เกินเม.ย. 68นี้

'ดีอี' เร่งแก้ก.ม.100ปี 'ไปรษณีย์' คาดเสนอครม.ไม่เกินเม.ย. 68นี้

กระทรวงดีอี คาดกฎหมายไปรษณีย์ไทยเสนอ ครม.ไม่เกินเดือนเม.ย.นี้ เผยอยู่ระหว่างการสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น ยังไม่ฟันธงว่าจะยกเลิกกฎหมายเก่าที่ใช้มานาน 90 ปีหรือไม่ ชี้ไม่ได้เป็นระบบใบอนุญาต แต่เป็นการทำให้กฎหมายทันสมัย แข่งขันได้ประชาชนได้ประโยชน์

ยุพาภรณ์ ศิริกิจพาณิชย์กูล ผู้ช่วยปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ขณะนี้การแก้ไข พ.ร.บ.ไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 ปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะไปแล้ว โดยก่อนหน้านี้ได้ เปิดรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่ 25 พ.ย. 2567 ถึงวันที่ 9 ธ.ค.2567 จึงอยู่ระหว่างการสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น คาดว่าจะสามารถเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาไม่เกินเดือนเม.ย. 2567 นี้

สำหรับบทสรุปการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะเป็นการยกเลิกกฎหมาย หรือ เป็นเพียงการแก้ไขกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวถูกใช้มานาน 90 ปีแล้ว แต่อย่างไรก็ตามต้องมีกฎหมายลูกออกมาอย่างแน่นอน โดยต้องคำนึงถึงความยืดหยุ่นเพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี การแข่งขัน และเพื่อประโยชน์ต่อการใช้บริการของประชาชน 

ทั้งนี้ กระทรวงดีอีได้จ้างมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว โดยมีการนำกฎหมายไปรษณีย์จากประเทศต่างๆมาเปรียบเทียบทั้งประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย และ ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีเกาะจำนวนมาก ดังนั้นสามารถนำมาเทียบเคียงกับการส่งไปรษณีย์ทางไกล และพื้นที่ทุรกันดาร ของประเทศไทยได้ แต่การให้บริการในประเทศไทยคงไม่ต้องถึงขั้นทำในรูปแบบระบบใบอนุญาต แต่จะเน้นการจดแจ้งการให้บริการมากกว่า 

\'ดีอี\' เร่งแก้ก.ม.100ปี \'ไปรษณีย์\' คาดเสนอครม.ไม่เกินเม.ย. 68นี้ อย่างไรก็ตาม กระทรวงดีอี ได้ลงประกาศสำนักงานปลัดกระทรวงดีอี เรื่อง ประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช 2477 โดยมีสาระสำคัญ ของการแก้กฎหมายคือจะช่วยให้ประชาชนได้รับบริการ เกี่ยวกับการรับรวบรวมส่งจ่ายและส่งมอบไปรษณีย์อย่างทั่วถึงสะดวกรวดเร็ว และประชาชนทุกคนสามารถใช้บริการได้อย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ทั่วประเทศในราคาที่สามารถจ่ายได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งเป็นการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิในความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการสื่อสารของบุคคลโดยทางไปรษณีย์อันเป็นบริการไปรษณีย์พื้นฐานโดยทั่วถึง

ปัญหาของกฎหมายเนื่องจากมีการบังคับใช้มาเป็นเวลากว่า 90 ปีจึงเป็นกฎหมายล้าสมัยไม่สอดคล้องกับสถานภาพในปัจจุบัน กฎหมายฉบับนี้มีขอบเขตครอบคลุมถึงการกำกับดูแลพัสดุภัณฑ์น้ำหนักเบานอกเหนือจากจดหมายแต่เนื่องจากกฎหมายถูกนำมาใช้กำกับดูแลเฉพาะผู้ให้บริการคือบริษัทไปรษณีย์ไทยจำกัดจึงไม่มีการออกหลักเกณฑ์เพื่อกำกับดูแลผู้ให้บริการขนส่งพัสดุภัณฑ์รายอื่นทำให้ผู้บริโภคที่ใช้บริการขนส่งพัสดุภัณฑ์น้ำหนักเบาไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอ

ขณะที่การให้บริการไปรษณีย์พื้นฐานโดยทั่วถึงในพื้นที่ห่างไกลเป็นภาระอย่างมากแก่ผู้มีหน้าที่ให้บริการดังกล่าวคือ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เนื่องจากมีต้นทุนสูงแต่ถูกกำหนดให้มีการควบคุมการคิดค่าบริการให้อยู่ในระดับที่ประชาชนทุกกลุ่มสามารถใช้บริการได้อย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ทั่วประเทศและเท่าเทียมกัน

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบันมีการดำเนินคดีระหว่างบริษัทไปรษณีย์ไทยจำกัดกับผู้ใช้บริการจำนวน 13 คดีแบ่งเป็นคดีในศาลยุติธรรมจำนวน 8 คดีศาลปกครองจำนวน 5 คดีกรณีดำเนินคดีที่ศาลปกครองเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติไปรษณีย์พ.ศ 2477 ซึ่งศาลปกครองพิพากษาให้ชดใช้เงิน 2 คดีและยกฟ้องศาลคดีขณะที่ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2567 ได้นำกฎหมายของแต่ละประเทศนำเสนอบนเวทีการรับฟังความคิดเห็น อาทิ 

สหรัฐอเมริกา ระบบไปรษณีย์ของสหรัฐฯ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ Postal Regulatory Commission (PRC) ซึ่งประกอบด้วยกรรมาธิการ 5 ท่าน แต่งตั้งโดยประธานาธิบดีและได้รับการยืนยันจากวุฒิสภา มีวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี PRC ใช้แนวทาง Ex Ante โดยเฉพาะในเรื่องการกำหนดอัตราค่าบริการแบบ Price Cap สำหรับบริการที่ครองตลาดหลัก และการส่งพัสดุภัณฑ์ต้องได้รับความเห็นชอบจาก PRC ก่อนกำหนดราคา

สหราชอาณาจักร
Ofcom ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการไปรษณีย์ โดยมุ่งเน้นการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายแบบ Ex Post เช่น การรับเรื่องร้องเรียนและเผยแพร่ข้อมูลคุณภาพบริการ ระบบนี้ไม่มีการบังคับให้ต้องขอใบอนุญาตล่วงหน้า แต่ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่กำหนด เช่น การคุ้มครองผู้บริโภคและมาตรฐานการให้บริการที่เป็นธรรม

เยอรมนี
Federal Network Agency (FNA) กำกับดูแลระบบไปรษณีย์ผ่านแนวทาง Ex Ante โดยใช้ระบบลงทะเบียนแทนใบอนุญาต ผู้ประกอบการต้องลงทะเบียนในฐานข้อมูลผู้ให้บริการและผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ เช่น ความพร้อมด้านเทคนิคและคุณภาพบริการ นอกจากนี้ยั.งมีการควบคุมราคาตามเกณฑ์ Price Cap และกำหนดเงื่อนไขการเข้าถึงตลาดเพื่อป้องกันการผูกขาด

ญี่ปุ่น
กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร (MIC) ควบคุมระบบไปรษณีย์ผ่านทั้งแนวทางป้องกันล่วงหน้า (Ex Ante) และการแก้ไขเยียวยา (Ex Post) ผู้ประกอบการต้องได้รับใบอนุญาตก่อนเริ่มดำเนินการ และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เช่น การรักษาความลับของจดหมาย