“เงินตรา” ความเป็นมา พัฒนาการและอนาคต

“เงินตรา” ความเป็นมา พัฒนาการและอนาคต

เมื่อมนุษย์มีการติดต่อแลกเปลี่ยนสิ่งของระหว่างกัน ในกรณีผู้ที่ต้องการจะแลกเปลี่ยนมีสิ่งของที่อีกฝ่ายหนึ่งต้องการก็จะสามารถแลกเปลี่ยนกันได้

แต่หากเป็นสิ่งของที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการก็จะเกิดปัญหาเนื่องจากไม่สามารถแลกเปลี่ยนกันได้  มนุษย์จึงต้องการสิ่งที่เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสิ่งของระหว่างกัน ในอดีตที่ผ่านมามนุษย์เคยใช้สิ่งต่าง ๆ เป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนสิ่งของ เช่น เมล็ดพืช ลูกปัด หอยเบี้ย แผ่นดินเผา เป็นต้น โดยสิ่งที่เหมาะจะใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนคือสิ่งที่เป็นที่ต้องการของคนทั่วไป  หรือคนโดยทั่วไปเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นของที่มีค่าหรือมีราคาในตัวเอง เก็บรักษาง่าย และเก็บไว้ได้นานโดยไม่เสียหาย ไม่เสื่อมสภาพ   

ในระยะเริ่มต้น โลหะเป็นสิ่งที่มนุษย์พบว่าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่าง ๆ  ได้หลายประการเช่นใช้ทำอุปกรณ์  เครื่องมือ  เครื่องใช้  อาวุธ หรือเครื่องประดับ โลหะจึงเป็นสิ่งที่มีค่าในตัวเองและเป็นที่ต้องการของคนทั่วไป กล่าวได้ว่าโลหะมีคุณสมบัติที่ดีที่จะใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสิ่งของระหว่างกันมาเป็นเวลานาน   โดยเฉพาะโลหะที่สามารถเก็บรักษาได้ง่าย   เสื่อมสภาพยาก เช่น โลหะทองคำ หรือโลหะเงิน สามารถใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือสิ่งของระหว่างกันได้ดีกว่าและเป็นที่นิยมมากกว่าโลหะชนิดอื่นจึงเป็นที่ต้องการของคนโดยทั่วไป  โดยเฉพาะทองคำเป็นโลหะที่มีค่าสูงและเป็นที่ต้องการเป็นอย่างสูงมาเป็นระยะเวลายาวนาน  ถือเป็นทรัพย์สินที่มีความเสถียรสูงมากในทางมูลค่า

 มูลค่าของโลหะที่ใช้เป็นตัวกลางการในแลกเปลี่ยนขึ้นอยู่กับคุณภาพและปริมาณ  คือมีความบริสุทธิ์สูงสิ่งเจือปนน้อย และน้ำหนักครบถ้วนถูกต้อง  จึงมีการรับรองคุณภาพและปริมาณของโลหะเพื่อความสะดวกในการใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน  โดยแบ่งโลหะเป็นก้อน ๆ  แล้วประทับตราไว้  เพื่อรับรองคุณภาพและปริมาณของโลหะอันเป็นที่มาของคำว่า “เงินตรา”  เช่น เงินพดด้วงที่มีตราต่าง ๆ เป็นต้น  ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงรูปทรงของโลหะจากที่มีลักษณะเป็นก้อนให้มีลักษณะแบนเพื่อความสะดวกในการจัดเก็บและพกพาจนกลายเป็นเหรียญกระษาปณ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

แม้ว่าโลหะจะเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสิ่งของระหว่างกันที่ดีและได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง   แต่โลหะก็มีปัญหาในเรื่องที่มีน้ำหนักมาก จึงมีการนำกระดาษซึ่งมีน้ำหนักเบาพกพาสะดวกมาใช้แทนโดยจัดทำเป็นธนบัตรซึ่งเป็นเงินตราอีกลักษณะหนึ่ง   แต่เนื่องจากกระดาษไม่ได้มีมูลค่าในตัวเองการจัดทำ จัดการ และนำธนบัตรออกใช้จึงต้องมีทุนสำรองเงินตราเพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพของเงินตรา   ส่วนเหรียญกระษาปณ์เป็นโลหะซึ่งมีมูลค่าในตัวเองอยู่แล้วการออกเหรียญกระษาปณ์จึงไม่จำเป็นต้องมีทุนสำรองเงินตรา   ทั้งนี้จะเห็นได้จากบทบัญญัติของพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501  ซึ่งบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ

มาตรา 10 ให้กระทรวงการคลังจัดทำและนำออกใช้ซึ่งเหรียญกษาปณ์

เหรียญกษาปณ์ตามวรรคหนึ่งแต่ละชนิด  ราคาที่นำออกใช้ให้มีได้เพียงขนาดเดียว  และจะมีขนาดเท่ากับเหรียญกษาปณ์ชนิด ราคาอื่นไม่ได้  เว้นแต่กรณีการจัดทำและนำออกใช้เป็นเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก หรือเหรียญกษาปณ์ที่ใช้แทนเหรียญกษาปณ์ที่ถอนคืน

ชนิด ราคา โลหะ อัตราเนื้อโลหะ น้ำหนัก ขนาด ลวดลาย และลักษณะอื่น ๆ (ถ้ามี) ของเหรียญกษาปณ์รวมทั้งอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด ให้กำหนดโดยกฎกระทรวง

มาตรา 14 วรรคหนึ่ง   ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจจัดทำจัดการ และนำออกใช้ซึ่งธนบัตรของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ต่อไป

มาตรา 26 เพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพของเงินตรา ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรักษาทุนสำรองเงินตราไว้กองหนึ่งเรียกว่า “ทุนสำรองเงินตรา”

มาตรา 30  ให้สินทรัพย์ต่อไปนี้เป็นสิ่งอันชอบด้วยกฎหมายที่จะประกอบขึ้นเป็นทุนสำรองเงินตรา

(1) ทองคำ

(2) เงินตราต่างประเทศ ............

จากความเป็นมา พัฒนาการของเงินตรา และกฎหมายเกี่ยวกับเงินตราของไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเงินตราที่นำออกใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งที่มีค่าในตัวเอง  หรือมีสินทรัพย์มีค่าเป็นทุนสำรองเงินตรา และมีความผูกพันกับโลหะมาเป็นเวลาช้านาน

ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 มีการใช้คอมพิวเตอร์ในองค์กรต่าง ๆ ตลอดถึงการใช้ในชีวิตประจำวันอย่างกว้างขวาง  เป็นปัจจัยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมหลายประการ  โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเงินตรา การชำระราคาสินค้า และสินทรัพย์ เราได้พบ ได้เห็น ได้ยิน คำว่า  สังคมไร้เงินสด การชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ e-wallet e-money เงินดิจิทัล สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ระบบบล็อกเชน (Blockchain) Bitcoin Libra  สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น มากขึ้นเรื่อย ๆ

จากความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางการเงิน  การชำระเงิน  และสิ่งที่ใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้น บางเรื่องสามารถดำเนินการไปได้ตามบทกฎหมายที่มีอยู่แต่เดิม  บางเรื่องเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นใหม่ เช่น พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561  บางเรื่องยังไม่มีในกฎหมายไทย บางเรื่องอยู่ระหว่างดำเนินการ  แต่อย่างไรก็ดีเราต้องเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วนี้เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญเกี่ยวข้องกับทุกคน  และส่งผลต่อสังคมและเศรษฐกิจไทยในทุกระดับ โดยเฉพาะกฎหมายที่จะมีขึ้นใหม่หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น ผู้เกี่ยวข้องต้องระมัดระวังรอบคอบคำนึงถึงทุกภาคส่วนไม่ให้สร้างปัญหาช่องว่างทางสังคมเพิ่มมากขึ้น จัดให้มีกลไกการบังคับใช้ที่รัดกุมแต่รวดเร็ว  รวมถึงในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดทางการเงิน  การเข้าถึงข้อมูลทางการเงินของผู้อื่นโดยมิชอบ และการใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงินที่ได้มาจากการระทำความผิดก็ต้องทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วย.

โดย... 

ธรรมรักษ์  จิตตะเสโน

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์