สัญญาณเสียงสันติภาพ จากตักศิลา/ปากีสถาน !! (1)
เจริญพร สาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา เดินทางกลับมาจากสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2562 โดยสวัสดิภาพ
ด้วยความอิ่มอกอิ่มใจในการได้ไปปฏิบัติศาสนกิจ บนแผ่นดินอารยธรรมพุทธศาสนาที่ได้รับการยกขึ้นเป็นมรดกโลกโดย UNESCO
หากกล่าวถึงแคว้นคันธาระ ซึ่งเป็นหนึ่งในสิบหกมหาชนบทในชมพูทวีป คนทั่วไปอาจจะไม่ค่อยคุ้นหู แต่ถ้ากล่าวถึงตักศิลา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่รวมสรรพวิชา เป็นศูนย์กลางทางวิชาการของชมพูทวีป คงจะเคยได้ยินกันมาจนติดหู ว่ามีสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ สั่งสอนศิลปวิทยาการต่างๆ แก่บุคคลทุกชั้นวรรณะที่เดินทางมาจากทุกสารทิศ ดังปรากฏหลักฐานทางพระพุทธศาสนาว่ามีบุคคลสำคัญหลายท่านในสมัยพุทธกาล ที่สำเร็จการศึกษาจากนครตักศิลา เช่น พระเจ้าปเสนทิโกศล พันธุละเสนาบดีจากมัลละ พระมหานามจากวัชชี อหิงสกะหรือจอมโจรองคุลีมาลจากโกศล หมอชีวกโกมารภัจจ์จากมคธ.
การได้มีโอกาสเดินทางไปสู่นครตักศิลา (Taxila) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐปัญจาบ ในสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน จึงเป็นเรื่องที่รอคอยตามวิถีของนักจาริกปฏิบัติธรรม ที่เคยเดินทางไปพำนักจำพรรษา แสวงหาสถานที่ปฏิบัติธรรมมาทั่ว ตั้งแต่ เนปาล อินเดีย ศรีลังกา
ด้วยเงื่อนไขทาง การเมือง ศาสนา และสังคมในปากีสถานที่ผ่านมา ดังที่เป็นข่าวอยู่บ่อยครั้งในเรื่องการก่อการร้ายและความเป็นศาสนาอิสลาม ทำให้ได้แต่คิดคาดหวัง จินตนาการถึงนครตักศิลา แคว้นคันธาระ มาโดยตลอด จึงยินดีอย่างยิ่งเมื่อเอกอัครราชทูตปากีสถาน ประจำประเทศไทย ได้มีหนังสือนิมนต์ให้ไปเยือนปากีสถาน ผ่านการประสานงานของบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในสังคมการเมืองของปากีสถาน ..ซึ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์มาทาง ผศ.ดร.นิธินันท์ วิศเวศวร ตั้งแต่สมัยเป็นรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ใน 5 ปีที่ผ่านมา ได้มีการพบปะกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น ท่านเอกอัครราชทูตปากีสถานฯ ซึ่งผ่านระยะเวลามาจนถึงท่านอาซิม อิฟติกาห์ อาหมัด เอกอัครราชทูตปากีสถาน ประจำประเทศไทยปัจจุบัน จึงได้ตอบตกลงรับเดินทางไปปากีสถาน โดยได้ปรึกษาหารือกับ ท่านดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มาโดยตลอด ก่อนตัดสินใจเดินทางไปสู่แผ่นดินอารยธรรมของพุทธศาสนาที่เป็นมรดกโลก ในครั้งนี้จึงเป็นไปตามรูปแบบเหมือน Official Visit
ดังที่ได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่งจากทางรัฐบาลปากีสถาน โดยในวันที่ 29 ตุลาคม 2562 ได้รับเชิญ (นิมนต์) เข้าพบปะประธานาธิบดีสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานอย่างเป็นทางการ พร้อมบุคคลสำคัญหลายฝ่าย โดยมีเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงอิสลามาบัด ร่วมอยู่ด้วย
จากการได้สนทนาแลกเปลี่ยนแนวคิดความรู้ในเรื่องราวต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องความพร้อมของปากีสถานต่อการต้อนรับชาวพุทธจาก 30 กว่าประเทศทั่วโลก จึงให้น่ายินดีที่จะได้สร้างความสัมพันธ์ทางศาสนาผ่านมรดกโลกพุทธศาสนาในปากีสถาน ที่เชื่อมโยงประเทศพุทธศาสนากับสาธารณรัฐอิสลามฯ เข้าด้วยกันอย่างสร้างสรรค์ เมื่อมีจุดมุ่งหมายอันเดียวกัน ในการพัฒนาแหล่งอารยธรรมมรดกโลกของพุทธศาสนา ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติทุกหมู่เหล่า
ซึ่งในวันเดียวกันนั้นเอง (29 ตุลาคม 2562) ยังได้รับเชิญ (นิมนต์) เข้าพบปะพูดคุยอย่างเป็นทางการกับทาง World Bank ที่มีบทบาทในการสนับสนุนงบประมาณการพัฒนาแหล่งอารยธรรมมรดกโลกของพุทธศาสนา โดยมีรัฐมนตรีการท่องเที่ยวของ Khyber Pakhtunkhwa ชื่อ Mr. Atif Khan มาร่วมกล่าวต้อนรับอยู่ด้วย พร้อมอธิบดีกรมโบราณคดี (Dr.Samad) และ Mr.Kiran Afzal / Senior Private Sector Specialist ตลอดจนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของปากีสถานอีกหลายท่าน โดยอาตมาได้รับเชิญให้กล่าวปาฐกถาถึงความรู้สึกหรือวิสัยทัศน์ต่อการพัฒนามรดกโลกของพุทธศาสนาในครั้งนี้ จึงได้ทำหน้าที่ด้วยความยินดี เพื่อการให้ข้อแนะนำต่อการพัฒนามรดกโลกของพุทธศาสนาตามวิถีธรรมในพระพุทธศาสนา อ่านตอนต่อไป
เจริญพร