นโยบาย “กัญชาถูกกฎหมาย” เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

นโยบาย “กัญชาถูกกฎหมาย” เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ (Healthy Public Policy) มีความหมายว่า “นโยบายสาธารณะที่แสดงความห่วงใยอย่างชัดเจนในเรื่องสุขภาพ

พร้อมที่จะรับผิดชอบต่อผลกระทบทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายนั้น ขณะเดียวกันก็เป็นนโยบายที่มุ่งสร้างเสริมสิ่งแวดล้อมทั้งทางสังคมและกายภาพที่เอื้อต่อการมีชีวิตที่มีสุขภาพดี และมุ่งให้ประชาชนมีทางเลือกและสามารถเข้าถึงทางเลือกที่ก่อให้เกิดสุขภาพดีได้”

นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพนั้น มิได้กำหนดโดยภาครัฐเท่านั้น ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ได้เปิดช่องทางให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ประกอบด้วยผู้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายในสังคม ได้แก่ ฝ่ายการเมือง รัฐบาล ราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคธุรกิจเอกชน นักวิชาการ สื่อมวลชน ชุมชนและประชาชนเอง ตามหลักการ "สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา"

กว่าจะมาเป็น “กัญชาถูกกฎหมายในหลายประเทศทั่วโลกนั่นไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นต้องผ่านกระบวนการอันซับซ้อน ทั้งเสียงจากประชาชน การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจเเละการพัฒนาทางการเเพทย์ การเปลี่ยนเเปลงของ กัญชาผ่านยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จากสิ่งผิดกฎหมายกลายเป็นธุรกิจสร้างรายได้ เป็นยารักษาโรค เป็นเเม่เหล็กดึงดูดให้คนมาท่องเที่ยว รวมไปถึงการโกยภาษีมหาศาลเข้ารัฐ เเต่ก็มีโทษเช่นกัน อย่างเช่น ประเทศแคนาดานั้นใช้กัญชาทางการแพทย์มาตั้งแต่ปี 2001 แล้ว และ พ.ร.บ.กัญชา ฉบับใหม่ ก็เพิ่งผ่านไฟเขียวไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2018 ที่ผ่านมา

พูดง่ายๆ คือนอกจากใช้ทางการแพทย์ได้เป็นปกติอยู่แล้ว กฎหมายแคนาดาล่าสุดอนุญาตให้ประชาชนของเขาใช้เพื่อสันทนาการได้ด้วย แคนาดาเลยกลายเป็นประเทศที่ 2 ในโลกต่อจากอุรุกวัยที่ประชาชนเสพกัญชาได้อย่างสบายใจ (ภายใต้การควบคุมที่เข้มงวด)ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อกฎหมายกัญชาไฟเขียว การเพาะปลูกไปจนถึงการซื้อขายก็ทำให้ตลาดกัญชาแคนาดาโตวันโตคืน กระทั่งตลาดกัญชาในแคนาดากำลังใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก

ในขณะที่เมืองไทยยังคงมีการถกเถียงเรื่องกัญชา-กัญชง เเละรอผลวิจัยเพื่อเเก้กฎหมายนำมาใช้ทางการเเพทย์ ในสิ่งที่มีคุณประโยชน์ ถ้าใช้ไม่ถูกต้องก็เป็นโทษมหันต์เช่นกัน โดยมีทั้งเสียงสนับสนุนและคัดด้าน อาทิเช่น เหตุผลของผู้ที่สนับสนุนการเปิดเสรีการใช้กัญชา 1.เชื่อว่าการเปิดเสรีการใช้กัญชาทำให้รัฐสามารถควบคุมผู้เสพได้มากขึ้น ทำให้ลดการพึ่งพาการซื้อขายกัญชาในตลาดมืด และทำให้ผู้เสพสามารถเสพกัญชาได้อย่างปลอดภัย รวมถึงประหยัดงบประมาณของรัฐในการลงโทษหรือจับกุมผู้ใช้กัญชา 2.เชื่อว่า การจับกุมหรือ ทำโทษผู้เสพหรือ ครอบครองกัญชารุนแรงเกินกว่าเหตุ (โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับสารเสพติดที่ถูกกฎหมายอื่นๆ เช่น สุรา หรือบุหรี่) และการลงโทษที่รุนแรงก็ไม่ได้เป็นการป้องกันไม่ให้วัยรุ่นหรือผู้เสพหน้าใหม่เข้าถึงกัญชา ซ้ำยังเป็นการเปิดโอกาสให้มีการคอร์รัปชั่นโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐอีกด้วย 3. เชื่อว่าการเปิดเสรีการใช้กัญชาสามารถช่วยสร้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ (รวมงานที่เกี่ยวกับการเพาะปลูกและขายกัญชา) ทำให้เศรษฐกิจเติบโต และรัฐสามารถเก็บภาษีได้มากชึ้น ขณะที่ผู้ที่ไม่สนับสนุนการเปิดเสรีการใช้กัญชาก็ได้ยกเหตุผลหลายประการขึ้นมาคือ 1. การเปิดเสรีการใช้กัญชา แม้กระทั่งการอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อการรักษาในทางการแพทย์ เช่น การอนุญาตให้ผู้ป่วยปลูกกัญชาไว้ที่บ้านในปริมาณที่กำหนด ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการรั่วไหลของกัญชาสู่ตลาดมืด 2. การเปิดเสรีกัญชาเพิ่มความเสี่ยงในทางสาธารณสุขและสังคมวงกว้าง 3. ผู้คัดค้านมักแย้งว่าประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่อ้างโดยผู้สนับสนุนการเปิดเสรีการใช้กัญชานั้น ไม่ได้คำนวณต้นทุนทางสังคมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นและต้นทุนในการออกมาตรการควบคุมการใช้กัญชา

บทเรียนจากต่างประเทศแสดงให้เห็นว่าการ ‘เปิดเสรีการใช้กัญชามีได้หลายระดับ ตั้งแต่การเปิดให้มีการวิจัยและพัฒนายาที่เป็นสารสกัดของกัญชา การใช้กัญชาโดยตรง (ใช้ดอก หรือใบ) เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์จนถึงการใช้เพื่อการผ่อนคลาย ทั้งนี้ความเห็นจากหน่วยงานภาครัฐหลายๆ ฝ่ายมีความสอดคล้องกัน กล่าวคือสนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนากัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ แต่การเปิดเสรีการใช้กัญชามากกว่านั้น ยังคงมีความคดิเห็นที่ขัดแย้ง กันอยู่ ฝายที่ค้านเรื่องการเปิดเสรีการใช้กัญชาให้ความเห็นว่า ยังไม่มีการศึกษาวิจัยที่รอบด้านเพียงพอ และแม้กระทั่งยาเสพติดถูกกฎหมายในปัจจุบัน เช่น บุหรี่หรือสุรา ก็ยังมีการควบคุมได้ไม่ดีพอ การเปิดเสรีกัญชาจึงเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาทางสังคมมากขึ้น หรือแม้กระทั่งหากมาใช้ทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขจะมีศักยภาพในการควบคุมการใช้ที่เหมาะสมได้ดีเพียงใด ตัวอย่างเช่น เคตามีน ก็ยังมีการใช้เป็นสารเสพติดในวัยรุ่นอย่างแพร่หลาย ทั้งๆ ที่กฎหมายไทยอนุญาตให้ใช้ในทางการแพทย์เท่านั้น

ประเด็นที่ถกเถียงกันจึงไม่ได้เน้นไปที่เรื่องประโยชน์และโทษของกัญชา แต่เป็นประเด็นเรื่อง

 (1) ความพร้อมในการควบคุม โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ว่ามีความพร้อมในการกำกับดูแลการใช้กัญชามากน้อยเพียงใด

 (2) กฎหมายที่มีอยู่เอื้อหรือขัดขวางการวิจัยการใช้ประโยชน์จากกัญชาเพียงใด

 (3) การหารูปแบบการใช้กัญชาทางการแพทย์เพื่อที่จะแก้กฎหมาย

 (4) ความมุ่งหวังในการใช้กัญชาในทางการแพทย์ต้องเป็นไปเพื่อตอบโจทย์ที่ใหญ่กว่า คือทำอย่างไรให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงยาได้อย่างปลอดภัย เท่าเทียม และไม่ก่อภาระค่าใช้จ่ายมากเกินไป

หากประเทศไทยจะดำเนินนโยบายที่เกี่ยวกับกัญชาในทิศทางดังกล่าว การแยกประเด็นอภิปรายเรื่องการเปิดเสรีกัญชาออกจากการใช้กัญชาทางการแพทย์จึงมีความสำคัญเพื่อป้องกันความสับสนของสังคม รวมถึงรัฐไทยพึงประเมินตนเองว่ามีขีดความสามารถในการกำกับดูแลการใช้กัญชาได้มากน้อยเพียงใด เพื่อให้การดำเนินนโยบายที่เกี่ยวกับกัญชาเกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด

โดย... 

ดร.ภก.ณัฐพศุตม์ ภัทธิราสินสิริ

อนุกรรมาธิการและเลขานุการ

คณะอนุกรรมาธิการพัฒนาการเมือง วุฒิสภา

กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล