นโยบายต่างประเทศกัมพูชากับความอยู่รอด
ก่อนหน้าศตวรรษที่ 15 ขอมเป็นอาณาจักรใหญ่ครอบคลุมแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ตั้งแต่การล่มสลายของขอม อาณาจักรนี้ก็ตกอยู่ภายใต้การช่วงชิงระหว่างสยามกับเวียดนาม กษัตริย์นโรดมจึงเลือกที่จะอยู่ภายใต้อารักขาของฝรั่งเศสเพื่อปัดป้องอำนาจของทั้ง 2 ประเทศออกไป (Udom, Suon and Bulut, edit.; 2017) ความรู้สึกที่ถูกคุมคามจากประเทศทั้ง 2 ยังคงอยู่แม้กระทั่งทุกวันนี้ จนทำให้กัมพูชามีปัญหากับประเทศทั้ง 2 ต่อๆ มา
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เจ้านโรดมสีหนุ เข้ามากุมอำนาจและพยายามกำจัดกลุ่มที่ขัดแย้งกันทั้งฝ่ายต่อต้านเวียดนามและฝ่ายต่อต้านฝรั่งเศส รวมทั้งฝ่ายที่ต่อต้านเจ้านโรดมสีหนุเอง ในปี 1953 เจ้านโรดมสีหนุได้กลายมาเป็นวีรบุรุษแห่งชาติในการเรียกร้องอิสรภาพจากฝรั่งเศสและได้กลายมาเป็นนายกรัฐมนตรีเองด้วย ในด้านกิจการต่างประเทศ พระองค์ยืนหยัดในหลักความเป็นกลางและการกำหนดทิศทางของประเทศเอง อีกทั้งการบริหารจัดการการเผชิญหน้าระหว่างประเทศมหาอำนาจให้เป็นประโยชน์ต่อกัมพูชา
ในขณะนั้น สหรัฐสนใจกับการแผ่ขยายของคอมมิวนิสต์ในยุโรปมากกว่าเอเชีย จึงไม่ได้สนใจกัมพูชา เจ้านโรดมสีหนุจึงพยายามแสดงให้เห็นถึงภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์จากเวียดนาม ในปี 1955 พระองค์ได้เข้าประชุมกลุ่มประเทศไม่ฝักไฝ่ฝ่ายใดที่บันดุง อินโดนีเซีย และได้พบกับจูเอนไล นายกรัฐมนตรีจีนในขณะนั้นจนกลายมาเป็นสัมพันธภาพที่แนบแน่นและยาวนานกับจีน จูเอนไลชื่นชมพระองค์ในความกล้าพูดและจุดยืนที่ตรงกัน พระองค์เสด็จเยือนจีนในปี 1956 และลงนามในแถลงการณ์มิตรภาพกับจีน จีนให้ความช่วยเหลือกับกัมพูชา 22.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ประชาชนจีนยังอยู่ในฐานะที่ยากจนมากๆ นี่แหละความชอบเฉพาะบุคคลที่จูเอนไลมีต่อเจ้านโรดมสีหนุโดยแท้ ทั้งๆ ที่กัมพูชาก็เป็นเพียงมิตรประเทศสำหรับจีนที่เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งประเทศในย่านนี้เท่านั้น แต่สหรัฐกลับมองว่าพระองค์เป็นกลางในลักษณะเอียงซ้ายมากกว่า จึงพยายามคิดหาทางโค่นล้มโดยผ่านทางไทยและเวียดนาม แผนการลอบปลงพระชนม์ถูกจับได้ใน ปี 1959
เหตุการณ์นี้ทำให้เจ้านโรดมสีหนุเริ่มเอนเอียงไปทางจีนและเวียดนามเหนืออย่างชัดเจน และความสัมพันธ์กับสหรัฐเลวร้ายลงเรื่อยๆ พระองค์ทรงเข้าใจว่าจีนและเวียดนามเหนือจะเคารพและปฏิบัติต่อกัมพูชาดีกว่าในเชิงของบูรณภาพแห่งดินแดนและจะให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและทางทหารโดยไม่มีเงื่อนไข พระองค์ยังทรงใช้ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตเพื่อขอความช่วยเหลือด้วย แต่โซเวียตไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก
ในครึ่งแรกของทศวรรษ 1960 สงครามเวียดนามระเบิดขึ้นและขยายความรุนแรงมากขึ้น พระองค์เข้าข้างจีนและเวียดนามเหนือถึงขนาดที่ช่วยส่งเสบียงและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จีนให้ความช่วยเหลือเวียดกงผ่านกัมพูชาเข้าไปในเวียดนามใต้ ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ในการนั้นก็คือ นายพลลอนนอล ที่กลายมาเป็นผู้ปฏิวัติให้พระองค์ออกจากอำนาจ
ในปลายทศวรรษที่ 1960 กัมพูชาประสบปัญหาเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันกับที่จีนเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรม อีกทั้งดินแดนกัมพูชายังเต็มไปด้วยทหารเวียดกง พระองค์จึงไม่มีทางเลือก นอกเสียจากการกลับไปหาสหรัฐ ซึ่งก็ให้ความช่วยเหลือในการไล่เวียดกงออกจากกัมพูชาและความช่วยเหลือทางทหารแก่กองทัพที่ค้ำบัลลังก์ของพระองค์เพื่อแลกกับการขอบุกเข้าดินแดนกัมพูชาเพื่อติดตามเวียดกง การทิ้งระเบิดของสหรัฐทำลายบ้านเรือนประชาชนกัมพูชามากจนเขมรแดงใช้โฆษณาชวนเชื่อให้ผู้คนมาเข้ากับเขมรแดงจำนวนมาก
ในปี 1970 ลอนนอลทำการปฏิวัติและจัดตั้งสาธารณรัฐเขมร เจ้านโรดมสีหนุทรงลี้ภัยตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่ปักกิ่ง แต่สถานกาณ์ในประเทศยังไม่ได้ดีขึ้น ภาวะข้าวยากหมากแพง การทุจริต และกองทัพที่ไม่มีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลลอนนอลพยายามสร้างความรู้สึกชาตินิยมและต่อต้านทั้งจีน เวียดนามและเจ้าสีหนุเอง ความสัมพันธ์กับเวียดนามเลวร้ายลงเรื่อยๆ สภาคองเกรสก็ไม่เห็นด้วยกับการให้ความช่วยเหลือกัมพูชา ในเดือนเม.ย. 1975 รัฐบาลลอนนอลล่มสลาย และลอนนอลลี้ภัยไปสหรัฐ เขมรแดงเข้ามาครองอำนาจแทนที่
เมื่อยึดอำนาจได้แล้ว เขมรแดงก็แสดงตนเป็นปฏิปักษ์กับเวียดนามเต็มที่และยึดดินแดนที่เคยเป็นข้อขัดแย้งกับเวียดนาม หลังจากนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายก็ฆ่าล้างผลาญซึ่งกันและกัน ในปี 1976 รัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวงหัว แสดงพันธกรณีที่มีต่อเขมรแดง ในปี 1978 เวียดนามตัดสินใจจัดการกับเขมรแดงขั้นเด็ดขาด จัดตั้งแนวร่วมประชาชนกัมพูชาที่มีสหายฮุนเซน เป็นหัวหน้ากองทัพปฏิวัติกัมพูชา พร้อมกับลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพโซเวียต-เวียดนามให้โซเวียตเป็นผู้หนุนหลัง โดยคิดว่าจีนคงจะไม่กล้าบุกเวียดนาม แต่เวียดนามคาดการณ์ผิดและต้องเปิดศึก 2 ด้าน ทั้งกับจีนและเขมรแดงจนสามารถล้มเขมรแดงได้ในปี 1979 และคงกำลังทหารไว้จนถึงปี 1988 อย่างไรก็ตาม โซเวียตเริ่มหมดความสนใจในกัมพูชาเพื่อต้องการปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหรัฐและจีน เวียดนามจึงจำเป็นต้องถอนทหารจากกัมพูชาในที่สุด
ในปี 1990 คณะกรรมการถาวรความมั่นคงแห่งสหประชาชาติร่างสนธิสัญญาสันติภาพในกัมพูชา ลงนามในปี 1991 จัดการเลือกตั้งทั่วไป ในปี 1993 และจัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่างเจ้ารณฤทธิ์และฮุนเซน แต่เขมรแดงก็ยังไม่หยุดรบ ทั้งยังการต่อสู้เกิดขึ้นในรัฐบาลผสมเพื่อครองอำนาจเด็ดขาด การเลือกตั้งเกิดขึ้นในปี 1998 อีกครั้งหนึ่งและฮุนเซนได้เสียงข้างมากเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำเนินนโยบายประนีประนอมกับทุกฝ่ายในกัมพูชาจนสันติภาพกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง ตั้งแต่นั้นมารัฐบาลกัมพูชากลับมามีเสถียรภาพ ไม่ว่าเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังจะเป็นอย่างไร กัมพูชาได้เข้าเป็นสมาชิก ASEAN และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศที่สำคัญ ๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย รัสเซีย และประชาคมยุโรป
สำหรับความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชานั้น แม้ว่ากัมพูชาจะมีความรู้สึกว่าถูกคุกคามจากไทยและเวียดนามมาตลอด แต่นั่นก็ไม่ได้มีอะไรผิดปกติจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในโลกนี้ในระหว่างศตวรรษ ที่ 15-19 ถ้าจะยกตัวอย่างที่ใกล้เคียงที่สุดก็คือ โปแลนด์ ที่ได้รับการคุกคามทั้งจากเยอรมันนี และรัสเซียมาตลอดและมีความรู้สึกที่ไม่ดีกับประเทศทั้ง 2 ตลอดมาเช่นเดียวกัน กัมพูชาก็คงคล้ายๆ กัน แต่นั่นก็คือประวัติศาสตร์ที่แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว ประเด็นสำคัญอยู่ที่ความสัมพันธ์ในปัจจุบันและอนาคต
ไทย-กัมพูชา มีความขัดแย้งกรณีเขาพระวิหาร ทั้งในช่วงปี 1959-1961 และ 2008-2011 กัมพูชา-เวียดนาม ก็มีความขัดแย้งกันเรื่องชายแดนมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่ง สันติภาพในกัมพูชาปี 1993 แม้ปัจจุบันก็ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ ความรู้สึกที่ไม่ได้เป็นไปในทิศทางที่ดีในยุคเจ้านโรดมสีหนุนั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในยุคลอนนอลที่เป็นรัฐบาลประหารเหมือนๆ กับไทย ส่วนเจ้านโรดมสีหนุเอง ก็ทรงไม่พอพระทัยที่ไทยไม่ได้รับรองรัฐบาลพลัดถิ่นของพระองค์ การปะทะระหว่างไทย-กัมพูชายังคงมีต่อเนื่องในช่วงเขมรแดงจนกระทั่งนโยบายสนับสนุนรัฐบาลผสมระหว่างทุกฝ่ายในกัมพูชาของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ถ้าจะว่าไปแล้ว นโยบายของไทยต่อกัมพูชาในช่วงของการเปลี่ยนแปลงอาจจะเรียกได้ว่าไม่แน่นอน แต่ก็จะโทษไทยไม่ได้เสียทีเดียวถ้ามองจากมุมของไทยเอง เพราะว่าไทยเองก็คงอยากจะเห็นกัมพูชาที่สงบเพื่อคานอำนาจการแผ่ขยายอิทธิพลของเวียดนาม ความขัดแย้งไทย-กัมพูชายังคงมีต่อเนื่องจากกรณีเผาสถานทูตไปจนถึงการเสนอเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก
อีกด้านหนึ่ง จีนเปิดฉากการรุกทางการทูตตั้งแต่สนธิสัญญาสันติภาพปี 1993 แต่ฮุนเซนยังไม่วางใจทีเดียวนักกับจีน ด้วยเหตุที่จีนสนับสนุนเขมรแดง เหตุการณ์ปะทะระหว่างกองกำลังของเจ้ารณฤทธิ์กับฮุนเซนในปี 1997 ทำให้สังคมโลกไม่ไว้วางใจ สหประชาชาติปล่อยให้ที่นั่งกัมพูชาว่างไว้และASEAN ชะลอการรับกัมพูชาเป็นสมาชิกที่ควรจะพร้อมกับลาวและพม่า ความช่วยเหลือต่างๆ หยุดลง จีนเป็นประเทศเดียวและประเทศแรกที่รับรองรัฐบาลฮุนเซนในปี 1997 อีกทั้งให้ความช่วยเหลืออย่างมากมาย ในขณะเดียวกัน ฮุนเซนก็กระชับความสัมพันธ์กับเวียดนาม ส่วนเวียดนามก็อยากจะมีอิทธิพลในกัมพูชาบ้าง ฮุนเซนยังกระชับความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นและสหรัฐ ซึ่งมีส่วนช่วยให้ความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศไหลเข้ามาด้วยในขณะที่ความช่วยเหลือของจีนยังมีเพียง1 ใน 3 เท่านั้น การปฏิเสธพิจารณากรณีเขาพระวิหารของ ASEAN ในปี 2011 ยิ่งผลักกัมพูชาให้เข้าใกล้จีนมากขึ้น
ส่วนจีนเองก็ได้จังหวะที่กัมพูชาเป็นประธาน ASEAN ในปี 2012 ผลักดันให้ที่ประชุมสุดยอด ASEAN ไม่ออกแถลงการณ์ร่วมกรณีทะเลจีนใต้ สถานการณ์ตามลำดับคงชี้ให้เห็นว่า จีน-กัมพูชา พัฒนาความสัมพันธ์ไปในลักษณะที่ต่างก็มีความสำคัญสำหรับกันและกัน ซึ่งเทียบกันแล้วแตกต่างกันมากกับกรณีความช่วยเหลือของจีน 22.5 ล้านเหรียญในปี 1956 ถ้าจะให้เปรียบเทียบกันต่อไปก็จะยังแตกต่างกันมากขึ้นกับกรณีที่เติ้งเสี่ยวผิงเยือนไทยและสิงคโปร์ภายหลังการเปิดประเทศจีน ในขณะนั้นไทยเป็นหมากตัวสำคัญที่เป็นพันธมิตรอันยาวนานของสหรัฐ ในขณะที่เวียดนามเพิ่งรวมประเทศ และกัมพูชายังเป็นวุ้นอยู่เลย
แต่ว่า นักคิดในกัมพูชาก็วิพากษ์วิจารณ์ถึงอิทธิพลของจีนที่มากเกินไป นี่เป็นเหตุหนึ่งที่กัมพูชาเองก็พยายามกระจายความสัมพันธ์กับประเทศสำคัญๆ ทุก ๆ ประเทศ ซึ่งก็เป็นหลักการที่ควรจะเป็นของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอยู่แล้ว แต่ด้วยความช่วยเหลือของจีนแก่กัมพูชาในระดับปีละ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งทางการทหารและเศรษฐกิจ ความสำคัญและความสัมพันธ์ของจีนคงเป็นสิ่งที่ปฏิเสธได้ยาก กัมพูชาเองก็ไม่มีความมั่นใจ ASEAN ในเชิงของการเมืองระหว่างประเทศ แต่ก็จำเป็นต้องมี ASEAN ไว้ในเชิงของเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความเข้มแข็งของประเทศ
ถ้าจะว่าไปแล้ว ไทย-กัมพูชา ยังคงตกอยู่ในวังวนของความเกลียดชังในอดีต แต่อาจจะไม่ยุติธรรมที่จะบอกว่าฝ่ายใดมีมากกว่ากัน แต่ที่แน่ ๆ การฟื้นฝอยหาตะเข็บย่อมสร้างความขัดแย้งและการปะทะกันตลอดไป นักประวัติศาสตร์กล่าวกันว่า ขอมในอดีตแตกสลายด้วยการแย่งชิงอำนาจกันภายใน สงครามในกัมพูชาก็เกิดขึ้นด้วยการแย่งชิงอำนาจกันภายใน ทั้ง 2 กรณีไม่เป็นผลดีแก่ประเทศ ความอ่อนแอและการแย่งชิงอำนาจทำให้เศรษฐกิจไม่พัฒนา เศรษฐกิจเป็นพื้นฐานของความมั่นคงทางสังคมและความมั่นคงทางทหารของประเทศ ปราศจากสิ่งเหล่านี้แล้ว ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกับกัมพูชาก็คงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น ประเทศจะอยู่รอดได้อย่างไร? นี่ก็เป็นอุทาหรณ์แก่ประเทศไทยเราด้วย
การอ้างว่าดินแดนตรงนั้นตรงนี้เป็นของตนเมื่อ 700 ปีที่แล้วมีแต่จะทำให้ประเทศตกอยู่ในวังวน...และก็โทษผู้อื่นไม่ได้ด้วย