The New Era of ECB
เมื่อสิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นายมาริโอ ดรากี ได้บอกลาธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB ในฐานะประธาน
เพื่อส่งไม้ต่อให้ นางคริสติน ลาการ์ด อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังฝรั่งเศสและอดีตผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เข้ารับตำแหน่งแทน ท่ามกลางหลากหลายความท้าทาย ทั้งการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) เศรษฐกิจยูโรโซนที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ที่น่าจะทำให้การดำรงตำแหน่งของนางลาการ์ดต้องเจอศึกหนักไม่น้อย การปรับเปลี่ยนหรือริเริ่มสร้างสรรค์หลักการทำงานรวมถึงเครื่องมือใหม่ๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็น
เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น เราลองย้อนกลับไปดูนโยบายทางการเงินของ ECB ในสมัยของนายดรากีที่อยู่ในแนวโน้มผ่อนคลายมาตลอด เห็นได้จากทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ทยอยลดลงจาก 0.75% จนปัจจุบันติดลบไปแล้วถึง -0.5% ผ่านการลดดอกเบี้ยรวมทั้งหมด 8 ครั้ง ในช่วงการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายดรากี (2011-2019) รวมถึงวลีเด็ดในปี 2012 ที่ระบุว่า “ECB จะทำทุกวิถีทาง เพื่อพยุงเศรษฐกิจยูโรโซนไว้ให้ได้” ซึ่งทำให้ตลาดคลายความกังวลได้ในทันทีในช่วงที่เกิดวิกฤติหนี้สาธารณะยุโรป ตามมาด้วยการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินผ่านมาตรการ QE ในปี 2015 โดยเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลไปแล้วกว่า 2.5 ล้านล้านยูโร ก่อนมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในสิ้นปี 2018 จนกลับมาประกาศใช้ QE รอบใหม่ พร้อมทั้งลดดอกเบี้ยนโยบายให้ติดลบต่ำกว่าเดิมในเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพื่อตอบสนองต่อมุมมองเศรษฐกิจยูโรโซนที่เปราะบาง
อย่างไรก็ดี ยิ่งนับวันประสิทธิภาพของมาตรการ QE และอัตราดอกเบี้ยที่ติดลบของ ECB ยิ่งลดลงอย่างชัดเจน ทั้งนักลงทุนและนักวิเคราะห์ทั่วโลกเริ่มสงสัยว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบนี้อาจทำได้ยากขึ้น ซึ่งท่ามกลางดอกเบี้ยทั่วโลกที่ต่ำอยู่แล้ว การลดดอกเบี้ยให้ต่ำลงไปอีก ไม่น่าจะสามารถสร้างความแตกต่างให้เศรษฐกิจกลับขึ้นมาขยายตัวและดันอัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ หากพิจารณา GDP ไตรมาส 3 ของยูโรโซนที่ขยายตัวได้เพียง 0.2% QoQ รวมถึงประเทศที่ทรงอิทธิพลอย่างเยอรมันที่เพิ่งรอดพ้นจากการเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจไปได้อย่างหวุดหวิด (GDP เยอรมันหดตัว 0.2% ในไตรมาส 2 แต่สามารถขยายตัวได้ 0.1% ในไตรมาส 3 ทำให้ไม่เข้าเกณฑ์ภาวะถดถอยที่จะต้องมีการหดตัวของเศราฐกิจ 2 ไตรมาสติดต่อกัน) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเดือนตุลาคมอยู่ที่ 0.7% ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% อยู่มาก นอกจากนี้ แม้ว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจอันยาวนานของ ECB ภายใต้การนำของนายดรากีได้ช่วยให้ยูโรโซนหนีรอดภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปได้ แต่ในทางกลับกันก็สร้างปัญหาเรื้อรังให้กับระบบธนาคารและสถาบันการเงินที่ต้องแบกภาระดอกเบี้ยต่ำติดลบ กดดันกำไรสุทธิภาคธนาคารโดยตรง อีกทั้งยังเป็นการสร้างช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางรายได้และสังคมให้สูงขึ้น เนื่องจากการเข้าถึงปริมาณเงินทุนที่ปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำอาจถูกจำกัดอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่ที่มีเครดิตในการกู้ยืมดี อันเป็นผลให้แนวคิดทางการเมืองแบบประชานิยม (Populism) หรือการเอาตัวเองมาก่อนตามแบบ ปธน.ทรัมป์ และ Brexit ได้รับความนิยมที่สูงขึ้นต่อเนื่อง
ต้องยอมรับว่าหน้าที่ของนางลาการ์ดต่อจากนี้ถือว่ามีความท้าทายสูงมาก หากมองไปยังเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจเดิมๆ ที่มีประสิทธิภาพลดลง มองไปที่ปัญหาทางสังคมและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็ดูจะเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ทางเดินไปข้างหน้าของยูโรโซนต้องมองหาเครื่องมือกระตุ้นใหม่ๆ แทนที่นโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลาย คำตอบที่ดูจะเป็นไปได้คือ การร่วมมือผ่อนคลายนโยบายทางการคลังของรัฐบาลหลายๆ ประเทศ และการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบผ่านการลงทุนภาครัฐ ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา รวมไปถึงด้านการวิจัยและพัฒนา ดังนั้น หน้าที่สำคัญของนางลาการ์ดคือ การใช้นโยบายการฑูตในการสร้างโครงสร้างความร่วมมือกันระหว่าง ECB และรัฐบาลประเทศต่างๆ ในยูโรโซน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคผ่านทั้งนโยบายทางการเงินและการคลัง ซึ่งไม่ยากจนเกินไปสำหรับนางลาการ์ดที่เป็นนักการเมืองมายาวนาน มีประสบการณ์ทางด้านการฑูตอย่างโชกโชนจากการดำรงตำแหน่งอดีตรัฐมนตรีคลังฝรั่งเศส และอดีตผู้อำนวยการ IMF ซึ่งดูจะมีแต้มต่อด้านนี้มากกว่านายดรากีที่มีบทบาทเป็นนักเศรษฐศาสตร์มากกว่านักการเมือง