10 คำทำนายในสิบปีข้างหน้า (1)
Global Vision ฉบับหน้าจะเป็นฉบับที่ 300 สำหรับผู้เขียนแล้ว การทำการบ้าน ตั้งอกตั้งใจเขียน
เพื่อเสนอแนวคิดวิเคราะห์เศรษฐกิจโลกและไทยที่แตกต่างอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงคาดการณ์ทิศทางและแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่านในการวางแผนกลยุทธ์การลงทุน ธุรกิจ รวมถึงการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่ผู้เขียนภูมิใจมิใช่น้อย
เนื่องในโอกาสเข้าสู่ทศวรรษใหม่ ผู้เขียนจึงขอท้าทายตัวเองในการเขียน 10 คำทำนายด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และการเมืองในอีก 10 ปีข้างหน้า ในบทความฉบับนี้และฉบับหน้า เพื่อประโยชน์ต่อผู้อ่าน ดังนี้
1.ด้านเศรษฐกิจ: จะยิ่งโตต่ำลง เงินเฟ้อต่ำมาก และเกิดวิกฤตที่ลากยาว
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือห้วงเวลาของการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 80 ปี โดยใช้ทั้งเครื่องมือแบบธรรมดา เช่น การลดดอกเบี้ย ลดภาษี และเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ รวมถึงเครื่องมือพิเศษ เช่น มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)
การกระตุ้นอย่างมหาศาลและยาวนาน รวมถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไป เช่น ภาวะสังคมสูงวัย และประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) ที่ลดลง ทำให้เกิด (1) ภาวะหนี้ล้นพ้นตัวหรือ (Debt overhang) ที่ทำให้ภาครัฐ เอกชนและครัวเรือน บริโภคและลงทุนลดลง เนื่องจากต้องนำรายได้ไปจ่ายคืนหนี้ และ (2) Secular stagnation หรือภาวะเศรษฐกิจซึมตัวยาวนาน
และจะนำไปสู่ 3 เงื่อนไขในอนาคตคือ (1) เกิด Zombie company หรือบริษัทซอมบี้ อันได้แก่บริษัทที่มีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์และควรจะปิดกิจการ แต่อยู่รอดได้ด้วยภาวะดอกเบี้ยต่ำ (2) เครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ มีประสิทธิภาพน้อยลง และ (3) เศรษฐกิจและตลาดการเงินจะผันผวนและตกต่ำรุนแรงหากดอกเบี้ยเริ่มเป็นขาขึ้น
ด้วยภาวะเช่นนี้ เศรษฐกิจโลกในทศวรรษหน้าจะมีลักษณะ 3 ประการ คือ
(1) อัตราการเติบโตจะยิ่งต่ำลง โดยอาจจะโตเฉลี่ยในอัตราต่ำกว่า 3% ต่อปี
(2) เงินเฟ้อจะยังต่ำต่อเนื่อง โดยแม้ว่าสงครามการค้าจะทำให้เงินเฟ้อขึ้น แต่ภาวะสังคมสูงวัย (Aging Society) ความต้องการบริโภคและลงทุนที่อ่อนแอ ประกอบกับราคาน้ำมันที่จะไม่ปรับเพิ่มขึ้นอีกมากนัก จะทำให้เงินเฟ้อ ต่ำต่อเนื่องไปอีกยาวนาน และ
(3) จะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (Recession) ในสหรัฐในช่วงปี 2022-3 อันเป็นผลจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายสุดโต่งทำให้เกิดฟองสบู่ขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะขาลง (Late cycle) และอ่อนกำลังลง จะทำให้หนี้ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่สูงขึ้น ขณะที่รายได้ขยายตัวลดลงทำให้บริษัทที่ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ต้องล้มละลาย และลุกลามทำให้ความเชื่อมั่นหมดลง และนำไปสู่วิกฤตและลุกลามทั่วโลกในที่สุด
ในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวขึ้น ผลจากมาตรการการเงินการคลังภาครัฐ ประกอบกับคลื่นของเทคโนโลยีใหม่ (5G) จะทำให้ประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) ของเศรษฐกิจปรับเพิ่มขึ้น
2.ด้านนโยบายเศรษฐกิจ: นโยบายการเงินจะหมดประสิทธิภาพ นโยบายการคลังและนโยบายการเงินใหม่ (MMT) จะเข้ามาแทนที่
ในอีก 10 ปีข้างหน้า นโยบายการเงินจะยิ่งหมดประสิทธิภาพ โดยในช่วงแรกของทศวรรษ ธนาคารกลางทั่วโลก จะยังคงลดดอกเบี้ย และทำมาตรการ QE ต่อเนื่อง ทำให้สินทรัพย์เสี่ยงโดยรวมขยายตัวได้ แต่จะนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้นและหุ้นกู้ ทำให้เมื่อใดที่เกิดความเสี่ยงธุรกิจล้มละลาย และ/หรือ เศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น จะทำให้ธนาคารกลางเริ่มจะขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหรือวิกฤตครั้งใหม่
ในวิกฤตครั้งใหม่นี้ ธนาคารกลางจะหมดกระสุนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาลต้องหันไปทำนโยบายการคลังแทน โดยจะหันมาทำนโยบายการเงินแบบใหม่ หรือ Modern Monetary Theory (MMT) โดยธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะพิมพ์ธนบัตรเพื่อเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลโดยตรง โดยไม่ผ่านตลาดการเงิน ซึ่งจะทำให้ประเทศอื่น ๆ เริ่มทำตาม ซึ่งการที่ธนาคารกลางต่าง ๆ เข้าทำ QE ในตลาดแรก จะทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรไม่เพิ่มขึ้น แม้ว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นก็ตาม
3.การเมืองโลก: กระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์จะรุนแรงขึ้น
ในสามทศวรรษที่ผ่านมา เป็นยุคแห่งความรุ่งโรจน์ของกระแสโลกาภิวัฒน์ โดยมูลค่าการค้าโลกไปถึงจุดสูงสุดในปี 2014 ที่ 37.1 ล้านล้านดอลลาร์ และเริ่มลดลงหลังจากนั้น ขณะที่การกีดกันการเคลื่อนย้ายเงินทุน ผู้คน รวมถึงการลงทุนมีมากขึ้น โดยข้อมูลของ IMF บ่งชี้ว่า ปริมาณเงินทุนที่ไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ จากประมาณ 10% ของ GDP เหลือประมาณ 2.5% ในปัจจุบัน
ใน 10 ปีข้างหน้า กระแสการเมืองโลกที่จะเข้าสู่ลัทธิชาตินิยม และต่อต้านโลกาภิวัฒน์จะยิ่งรุนแรงขึ้น พรรคฝ่ายขวาหรือซ้ายจัดที่ชูนโยบายดังกล่าวจะได้รับคะแนนนิยมมากขึ้น ขณะที่สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐที่จะรุนแรงขึ้นจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง 3 ประการ คือ
(1) มูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศจะยิ่งน้อยลง และหันมาผลิตในประเทศมากขึ้น โดยแต่ละประเทศจะหันไปผลักดัน "นโยบายอุตสาหกรรม" หรือการวางแผนเศรษฐกิจของตนเองมากขึ้น ทำให้การผลิตขาดประสิทธิภาพในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษ ก่อนที่จะเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ
(2) กระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์จะหันไปสู่ด้านเงินทุนมากขึ้น ส่งผลให้การลงทุนทางตรงและลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกลดลง โดยทางการจะเริ่มปิดกั้นการไหลเข้าออกเงินทุน เพราะกังวลทั้งประเด็น "เงินร้อน" ที่ไหลเข้าออกประเทศอย่างรวดเร็วและทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินในประเทศ และ "เงินเย็น" ที่ชาวต่างชาติเจ้าของทุนจะเข้ามาเป็นเจ้าของกิจการในประเทศแทนประชาชนในประเทศ
ขณะที่เมื่อพิจารณาจากมุมมองเศรษฐกิจ การค้าที่ลดลงก็จะทำให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสำหรับประเทศผู้ส่งออกลดลง นั่นแปลว่าการขาดดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย (ซึ่งก็คือการเป็นผู้รับเงินลงทุนสุทธิ) ก็จะน้อยลงไปด้วย และ
(3) การเคลื่อนย้ายแรงงานจะลดลง กระบวนการกีดกันต่าง ๆ จะทำให้การทำ Visa เข้าประเทศต่าง ๆ จะยากมากขึ้น (โดยเฉพาะนักเรียน นักท่องเที่ยว และแรงงานระดับล่าง) แต่ในอีกด้านหนึ่ง กระแสสังคมสูงวัยก็จะทำให้ความต้องการแรงงานมีฝีมือจะมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่มีปัญหาดังกล่าว เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี
เหล่านี้คือ 3 คำทำนายแรก แล้วคำทำนายที่เหลือเป็นเช่นไร โปรดติดตาม
[ บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่ ]