ข้อควรระวังในการใช้“จีดีพี”พิจารณาเศรษฐกิจ

ข้อควรระวังในการใช้“จีดีพี”พิจารณาเศรษฐกิจ

ในช่วงที่ผ่านมา มีความเห็นด้านสถานการณ์เศรษฐกิจไทยเป็น 2 ทาง ผู้ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐมักนำเสนอว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทย

อยู่ในขั้นน่าเป็นห่วง รัฐบาลก็โต้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยยังดี โดยตัวเลขที่ถูกหยิบยกมาเป็นหลักฐานเพื่อถกเถียงในประเด็นดังกล่าวก็ไม่พ้นจีดีพี (GDP) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมขั้นสุดท้ายของประเทศ

บทความนี้ต้องการสื่อให้เห็นว่าพวกเราไม่ควรใช้จีดีพีผิดที่ผิดทางในการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ

ก่อนอื่นผู้เขียนขอเริ่มที่ความหมายของจีดีพีโดยทางเศรษฐศาสตร์ คือตัวเลขที่แสดงมูลค่าของ

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ นั่นก็คือมูลค่าตลาดของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตในประเทศในช่วงเวลาหนึ่งๆ โดยไม่คำนึงว่าผลผลิตนั้นจะผลิตขึ้นมาด้วยทรัพยากรของชาติใด และถ้าหากจะดูเป็นค่าเฉลี่ยผลผลิตต่อหัว นักเศรษฐศาสตร์ใช้ GDP per capita คือเอา GDP หารด้วยประชากรของประเทศนั้นๆ

นอกจากนี้ ลำพัง GDP รายปีคงไม่สามารถดูการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจได้มากนัก ดังนั้นอีกตัวเลขหนึ่งที่มักนำมาใช้เปรียบภาวะเศรษฐกิจระหว่างปีคือ อัตราการเจริญเติบโตของจีพีดี หรือ GDP growth rate หากอัตราการเติบโตสูงหมายความว่าจีดีพีในปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วมากนั่นเอง

ทีนี้เรามาพิจารณาทัศนะเมื่อเร็วๆ นี้ของนักวิชาการฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล ที่ใช้ข้อมูลจริงบอกว่าจีดีพีของไทยอยู่ที่ในลำดับที่ 20 ของโลกจากทั้งหมดเกือบ 200 ประเทศ ซึ่งเพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะชี้ว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้เลวร้าย เพราะอยู่ในลำดับต้นๆ ส่วนเรื่องของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตกต่ำที่หลายฝ่ายกังวลนั้น นักวิชาการท่านนี้มองว่าลักษณะของอัตราการเติบโตต่ำนี้เป็นปรากฏการณ์ร่วมที่เกิดในประเทศที่มีขนาดจีดีพีใหญ่

โดยนักวิชาการท่านนี้ได้นำข้อมูลเชิงประจักษ์ที่พบว่าประเทศที่มีจีดีพีสูงกว่าไทยนั้นมีอัตราการเติบโตต่ำกว่าไทยแทบทั้งนั้น ซึ่งการเติบโตที่ต่ำนี้ไม่น่ากังวลเพราะประเทศไทยยังคงมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และมีหนี้สาธารณะที่ต่ำกว่าหลายๆ ประเทศ

เมื่อได้ทำการชี้ให้เห็นด้วยข้อมูลตัวเลขที่จับต้องได้เช่นนี้แล้ว ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลจึงมีข้อสรุปที่ว่าฝ่ายตรงข้ามกำลังพยายามสะกดจิตหมู่ให้คนไทยเชื่อว่าเศรษฐกิจไม่ดีได้โปรดหยุดเถิด เพราะเศรษฐกิจไทยไม่ได้แย่อย่างที่คิด

ผู้เขียนมีข้อสังเกตต่อทัศนะนี้  3 ประการด้วยกัน

ประการแรกเกี่ยวกับความยึดมั่นในการจัดลำดับของจีดีพีอย่างเกินพอดี กล่าวคือ โดยปกติในแต่ละประเทศมีสกุลเงินตราที่ต่างกัน และอัตราแลกเปลี่ยนในสกุลเงินของตนเองไม่เท่ากัน ดังนั้นนักเศรษฐศาสตร์ปรับค่าของจีดีพีในแต่ละประเทศด้วยดัชนีที่เรียกว่า Purchasing Power Parity หรือ PPP เพื่อให้แต่ละประเทศ เสมือนอยู่ในสกุลเงินเดียวกันหมด

จากนั้นจึงทำการเรียงลำดับมูลค่าจีดีพีมากไปน้อย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการปรับค่าด้วย PPP คือ ประเทศที่กำลังพัฒนา หรือประเทศยากจนอื่นๆ มูลค่าจีดีพีมักเพิ่มสูงขึ้น (ในทางกลับกัน ประเทศที่พัฒนาและมีรายได้สูง มูลค่าของจีดีพีมักจะลดลง) ลองคิดง่ายๆ เช่น คนขับแท็กซี่ในประเทศไทยมีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่าคนขับแท็กซี่ในแคนาดาแน่ๆ รายได้ที่ต่ำกว่าย่อมสะท้อนว่าบริการแท็กซี่มีราคาถูก

ซึ่งมาจากการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ค่าธรรมเนียม สกุลเงิน ค่าครองชีพ ที่ล้วนต่ำกว่าหลายๆ ประเทศ ทีนี้เมื่อผ่านกระบวนการปรับค่าด้วย PPP ราคาของบริการแท็กซี่ในไทยที่แต่ก่อนต่ำ ก็จะถูกยกระดับให้เป็นอัตราที่ใกล้เคียงในทุกๆ ประเทศ ส่งผลให้มูลค่าของบริการแท็กซี่ในไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าไม่ใช่แค่แท็กซี่แต่มูลค่าของหลายกิจกรรมก็ได้รับอานิสงส์จากกระบวนการปรับค่านี้

เห็นได้ว่าการปรับค่าจีดีพีมีข้อดีคือทำให้เราจัดอันดับรายได้แต่ละประเทศได้ อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจใช้การจัดอันดับแบบนี้เพื่อ claim ว่าประเทศไทยเศรษฐกิจดี หรือดีกว่าประเทศที่อันดับต่ำกว่าอย่างสมบูรณ์ เพราะถึงอย่างไรเสียผู้เขียนก็ไม่คิดว่าคุณภาพและฐานะทางเศรษฐกิจของคนในประเทศเบลเยียมแย่กว่าไทย (ทั้งๆ ที่จีดีพีที่ปรับด้วย PPP อยู่ในอันดับต่ำกว่า)

ประการที่ 2 คือตัวเลขจีดีพีสูงขึ้นนั้นมิได้หมายความโดยอัตโนมัติว่าผู้คนทั่วไปจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เปรียบเสมือนการทำเค้กได้ก้อนใหญ่ขึ้นก็มิได้หมายความว่าผู้มีส่วนร่วมในการทำเค้กทุกคนจะได้ส่วนแบ่งเค้กเพิ่มขึ้น

ตัวอย่างเช่น มูลค่าของสินค้าและบริการที่ผลิตได้สูงก็น่าจะหมายความว่าโรงงานต่างๆ มียอดขายเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม รายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้อาจไม่ส่งผลให้คนงานมีรายได้เพิ่มขึ้นเลยหากไม่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ และอาจไม่นำไปสู่การจ้างงานเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ หากนายจ้างเลือกเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีแบบประหยัดแรงงาน

เช่นเดียวกับการที่เกษตรกรอาจไม่ได้เหลือเงินเก็บเพิ่มขึ้นมากนัก หากมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการลงทุนเพิ่มขึ้นแต่ราคาผลผลิตกลับไม่ได้เพิ่มตาม ดังนั้น สถานการณ์ที่เรียกว่าเศรษฐกิจดีหรือแย่นั้นไม่ควรจะนำตัวเลขเกี่ยวกับจีดีพีมาเป็นตัวชี้ขาด แต่ควรนำตัวเลขอื่นๆ อีกมากมาร่วมพิจารณาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งดัชนีที่วัดการกระจุกตัวของทรัพย์สินและรายได้ โดยอาจพิจารณาด้วยการใช้ค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini coefficient) หรือดูการเคลื่อนไหวของช่วงห่างระหว่างกลุ่มผู้มีรายได้/ทรัพย์สิน top 10% เทียบกับกลุ่มผู้มีรายได้/ทรัพย์ในลำดับที่รองลงไป เป็นต้น

ประการที่ 3 นอกเหนือจากจีดีพี ยังมีตัวแปรทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่สะท้อนความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยตัวอย่างเช่น นักวิชาการท่านนี้มองว่าระดับหนี้สาธารณะของไทยยังไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าเราพิจารณาในระดับครัวเรือนกลับพบว่าตอนนี้สำนักวิจัยหลายแห่งต่างมีความเห็นทางเดียวกันว่าอยู่ในระดับสูงในประวัติการณ์จนน่ากังวล

รวมถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่สูง เนื่องจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น ในด้านของโครงสร้างภาษีที่รัฐไทยไม่สามารถบรรลุอัตราภาษีแบบก้าวหน้าได้อย่างแท้จริง อันเนื่องมาจากโปรแกรมการลดหย่อนต่างๆ และโครงการลดหย่อนภาษีต่างๆ ที่เอื้อต่อการสะสมทุน หรือจะเป็นเรื่องผลิตภาพแรงงานที่ยังไม่สามารถยกระดับให้สูงได้ หรือแม้กระทั่งกลไกที่เป็นตาข่ายรองรับด้านสวัสดิการของประเทศยังมีคุณภาพต่ำ ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ นี้ทำให้ยากที่จะบอกว่าบ้านเรามีเศรษฐกิจที่ดีได้

กล่าวโดยสรุป การใช้ลำพังเพียงจีดีพีแล้ว overclaim ว่าเศรษฐกิจไทยดีอยู่และไม่เป็นปัญหาจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนัก ความเปราะบางที่สะท้อนปัญหาด้านเศรษฐกิจของไทยนั้นคือความจริงไม่ใช่ภาพลวงตาแต่อย่างใด

โดย...

ตะวัน วรรณรัตน์

ภาควิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร