เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้คู่แข่งในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้เปลี่ยนไป
ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปีที่แล้วมีข่าวว่าทางบริษัทแกร็บ (Grab) ได้ร่วมมือกับบริษัทสิงเทล (SingTel) จะยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารดิจิทัลต่อรัฐบาลสิงคโปร์ โดยทางบริษัทแกร็บ จะถือหุ้นจำนวน 60% และที่เหลือเป็นของบริษัทสิงเทล
ธนาคารดิจิทัลคือ ธนาคารที่ให้บริการทางธุรกรรมทางการเงินแต่อาจไม่มีสาขา ทั้งนี้ทางธนาคารกลางสิงคโปร์ได้ประกาศออกใบอนุญาต 5 ใบ เพื่อให้สิทธิ์เปิดธนาคารดิจิทัลสำหรับให้บริการทางการเงินอย่างเต็มรูปแบบ โดยผู้ที่จะขอใบอนุญาตธนาคารดิจิทัลที่ให้บริการการเงินแก่ “ลูกค้ารายย่อย” ด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ จะต้องมีเงินทุนจำนวน 1,500 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์
เรื่องการจัดตั้งธนาคารดิจิทัลนี้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ประเทศสิงคโปร์ เพราะสามธนาคารหลักของสิงคโปร์อย่าง “ดีบีเอส-โอซีบีซี-ยูโอบี” (DBS – OCBC – UOB) ต่างก็เปิดธนาคารดิจิทัลได้ โดยไม่ต้องสมัครขอใบอนุญาตดังกล่าวแล้ว เพราะสามารถดำเนินการภายใต้กรอบโครงสร้างการจัดตั้งอินเทอร์เน็ต แบงกิ้ง นอกจากนี้ดีบีเอส ยังขยายฐานไปทำธนาคารดิจิทัลในอีกหลายประเทศทั้งอินเดียและอินโดนีเซีย
สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่ง คือ เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้คู่แข่งในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้เปลี่ยนไปแล้ว คู่แข่งของสถาบันการเงินในอดีตก็อาจเป็นสถาบันการเงินด้วยกัน แต่การที่บริษัทเทคโนโลยีอย่างแกร็บ หรือสิงเทล มาขอใบอนุญาตทำธนาคารดิจิทัลแบบเต็มรูปแบบ ทำให้เห็นได้ว่าบริษัทใหญ่ๆ ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลและตอบความต้องการของผู้บริโภคได้ ก็สามารถที่จะเข้าสู่ธุรกิจการเงินได้ โดยไม่จำกัดแค่ธนาคารอีกต่อไปแล้ว
แกร็บ เป็นบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติสิงคโปร์ ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2012 และได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากหลายบริษัททั้งซอฟต์แบงก์ (SoftBank) และ DiDi โดยเริ่มต้นการให้บริการจากการเรียกรถ, แท็กซี่, วินมอเตอร์ไซค์, ส่งพัสดุ และสั่งอาหาร ซึ่งในปัจจุบันได้ให้บริการกระเป๋าเงินดิจิทัล (e-Wallet) อย่างแกร็บเพย์อยู่แล้ว โดยให้บริการครอบคลุมไปเกือบทุกประเทศในย่านอาเซียน และมีการตีมูลค่าของบริษัทไว้ถึงหนึ่งหมื่นล้านดอลลาร์
ส่วนสิงเทล ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่สุดในภูมิภาคอาเซียน ได้เข้าไปทำธุรกิจออนไลน์ในหลายด้านทั้งกระเป๋าเงินดิจิทัล และเกมออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันมีฐานลูกค้าในสิงคโปร์ถึง 4 ล้านราย และหากนับรวมกับฐานลูกค้าของบริษัทโทรคมนาคมที่สิงเทลไปร่วมลงทุนก็จะมีจำนวนราว 640 ล้านราย การผลึกกำลังกันของบริษัทเทคโนโลยีทั้งสองรายนอกจากจะได้ฐานลูกค้าเดิมจำนวนมากแล้ว ทั้งสองยังเป็นแพลตฟอร์มที่ผู้คนต่างใช้บริการในชีวิตประจำวันในด้านต่างๆ ด้วย
ด้วยข้อมูลเหล่านั้นทำให้บริษัทเทคโนโลยีสามารถไปวิเคราะห์ข้อมูลการขอสินเชื่อ-ประกัน ได้ในราคาต้นทุนที่ถูกกว่าธนาคารในรูปแบบเดิมๆ ที่อาจต้องการเอกสารจำนวนมาก และมีต้นทุนต่อรายย่อยที่ค่อนข้างสูงกว่า และเมื่อผู้ใช้เริ่มคุ้นเคยกับการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล บริการต่างๆ ที่อยู่ในแฟลตฟอร์มเหล่านั้นรวมถึงบริการทางเงิน จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค
เทคโนโลยีดิจิทัลไม่ได้แค่เปลี่ยนคู่แข่งของธุรกิจการเงิน แต่กำลังเกิดขึ้นกับทุกอุตสาหกรรมและเริ่มแยกได้ยากว่าใครคือคู่แข่งหรือพันธมิตร อุตสาหกรรมสื่อหรือทีวีแต่ก่อนอาจแข่งกับธุรกิจเดียวกัน แต่ในปัจจุบันก็เริ่มเห็นบริษัทเทคโนโลยีอย่างยูทูบหรือเน็ตฟลิกซ์เข้ามาแข่ง ขณะเดียวกันธุรกิจอย่าง เน็ตฟลิกซ์ ก็เริ่มมาป่วนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่พยายามชักจูงให้คนไม่ต้องเดินทาง หรือแม้กระทั่งกูเกิล ซึ่งอาจไม่ใช่ผู้ผลิตหนังสือก็อาจทำให้ผู้คนไม่ซื้อหนังสืออ่านได้เมื่อสามารถค้นข้อมูลบางอย่างที่ต้องการอ่านได้ในกูเกิล
โลกดิจิทัลสร้างความปั่นป่วนให้กับทุกอุตสาหกรรมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน พวกเราเองจำเป็นต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง และต้องรู้จักใช้เทคโนโลยีในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และสำคัญสุดในวันนี้เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้ไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวรในธุรกิจอีกต่อไป