วิกฤต 'ภัยแล้ง' 2563 พิสูจน์ฝีมือ 'พี่น้อง 3 ป.'
สถานการณ์ความรุนแรงของ "ภัยแล้ง" ปีนี้ 2563 ถือเป็นการเริ่มศักราชใหม่ด้วยมรสุมลูกใหญ่ที่ต้องพิสูจน์ฝีมือ "รัฐบาลประยุทธ์" อยู่เหมือนกัน
โดยเฉพาะการทำงานของ "พี่น้อง 3 ป." ภายใต้การนำของ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่การกระทรวงกลาโหม (6 ม.ค.) ประกาศตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขวิกฤตน้ำ พร้อมสั่งการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) วางแผนระยะยาว ทั้งการเก็บน้ำ พร่องน้ำ ระบายน้ำ
"รัฐบาลจะไปทำอะไรให้ทุกอย่างคงไม่ได้ขนาดนั้น พยายามทำให้มากที่สุด ท่านก็ต้องช่วยตัวเองบ้าง เช่น ขุดบ่อ อย่างน้อยก็มีน้ำอุปโภค บริโภค ไม่อย่างนั้นน้ำประปาก็ขาด น้ำอุตสาหกรรมก็ขาด ซึ่งอุตสาหกรรมเขาก็เสียภาษีเหมือนกันและสูงกว่าปกติ ทุกคนก็ต้องอยู่กันแบบนี้ อย่าให้มาบิดเบือนเรื่องคนรวย คนจน เอื้อประโยชน์คนรวย" นายกฯชี้แจงสื่อมวลชน
ขณะที่ "พี่ใหญ่" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี แถลงต่อสื่อมวลชน (7 ม.ค.) หลังนายกฯมอบหมายให้เตรียมการรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้ง ว่าเตรียมหาน้ำใต้ดินและน้ำบนดินไว้แล้ว โดยเฉพาะน้ำใต้ดินได้ขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล จำนวน 500 กว่าบ่อ เพื่อรองรับภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นและช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศ ในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ การดำเนินการดังกล่าวเป็นการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งกองทัพ กระทรวงมหาดไทย และกรมทรัพยากรน้ำ
สอดรับกับ "บิ๊กป๊อก" พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงแผนการรับมือภัยแล้ง ว่าประกาศพื้นที่ภัยแล้งตอนนี้มี 14 จังหวัด ส่วนของน้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่ของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ที่มีความเสี่ยงจำนวน 22 จังหวัด ส่วนนอกพื้นที่ของ กปภ. และที่มีความเสี่ยงปัญหาเรื่องประปาท้องถิ่นและประปาหมู่บ้าน มี 43 จังหวัด ทาง กปภ. ได้เตรียมการมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 แล้ว และมีแผนงานแก้ไขปัญหาน้ำในพื้นที่ต่างๆ เมื่อน้ำลดลงก็จะจัดทำแผนงานเพิ่ม ซึ่งจะต้องนำน้ำมาจากที่อื่น
แน่นอนว่า "สามประสาน" ของพี่น้อง 3 ป. เป็นขุมอำนาจทางการเมืองที่น่าจะวาจาสิทธิ์สั่งการข้าราชการพลเรือนและทหารน่าจะสัมฤทธิเป้าหมายได้
ทว่า ประเด็นเรื่อง "งานมวลชน" อย่าลืมว่า ปัญหาซ้ำซากคือการทำนาปรังในพื้นที่ภาคกลาง ดูตัวอย่างง่ายๆ กรณีชาวนาที่ฉะเชิงเทรา ฝืนทำนาช่วงฤดูแล้ง แม้จะมีประกาศเตือนของกรมชลประทานแล้วก็ตาม เริ่มลงมือทำข้าวนาปรังนารอบใหม่ เมื่อประมาณกลางเดือน พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา ประมาณ 4 หมื่นไร่ ต่อมาในช่วงปลายเดือนดังกล่าว ระดับน้ำในลำคลองสาขาต่างๆ เริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว จึงส่งผลทำให้ได้รับความเสียหายจากภาวะภัยแล้ง ข้าวยืนต้นตายกว่า 4 หมื่นไร่
ขณะเดียวกัน เขื่อนใหญ่ 2 แห่ง คือ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ระบายน้ำลงสู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา วันละประมาณ 16 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่มีน้ำไหลระบายออกจากหน้าเขื่อนเจ้าพระยา ที่จังหวัดชัยนาทเพียง 7 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำส่วนที่หายไป 7-8 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่า มีเกษตรกรดึงไปใช้เพื่อการเกษตร จึงทำให้ไม่มีน้ำ เพียงพอที่จะผลักดันน้ำเค็มได้ตามแผน
นี่เป็นปัญหาใหญ่ เรื่องของการใช้น้ำนาปรังในขณะสถานการณ์แล้งรุนแรงจนกระทั่งกระทบการผลิตประปาเพื่อใช้บริโภคและอุปโภคแล้ว ซึ่งบทเรียนเมื่อปี 2558 สมัยรัฐบาล คสช. ที่ "พี่น้อง 3 ป." ประสพมาแล้ว คงรู้งานดี
เพียงแต่รอบนี้ หนักกว่า ดังนั้น สรรพกำลังและงบประมาณ ต้องใช้ให้ตรงจุดและตรงไปตรงมา เพื่อให้ชาวนาเห็นใจชาวกรุงที่จะขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ และ "คนเมือง" น่าจะเข้าใจได้ว่างบประมาณที่ทุ่มลงไป..คุ้มค่า หากรัฐบาลทำจริงกำกับดีย่อมเป็นผลงานน่าจะได้คำชม!!