ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกับระบบแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์ส
การจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินมีการจัดเก็บในทุกประเทศตั้งแต่สมัยโบราณ
เช่น ภาษีที่ดินของประเทศอังกฤษมีการจัดเก็บตั้งแต่ที่ยังไม่มีการคิดมาตรในการวัดพื้นที่ โดยจัดเก็บจากขนาดของที่ดิน ซึ่งใช้หนังวัวตากแห้งเป็นเครื่องวัดขนาดที่ดินเพื่อเก็บภาษี สำหรับประเทศไทยมีการจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินตั้งแต่สมัยโบราณเช่นกัน ได้แก่ อากรค่านา อากรนาเกลือ อากรสมพัตรสร อากรสวนจาก อากรสวนใหญ่ เป็นต้น ซึ่งวิวัฒนาการมาเป็นภาษีบำรุงท้องที่และมีการจัดเก็บจากโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างคือ อากรตลาด ซึ่งวิวัฒนาการมาเป็นภาษีโรงเรือนและที่ดิน
พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ได้ยกเลิกภาษีโรงเรือนและที่ดินกับภาษีบำรุงท้องที่ และเริ่มบังคับจัดเก็บตั้งแต่ 1 ม.ค. 2563 กลายมาเป็นประเด็นถกเถียงทางสังคมอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินที่มีในประเทศไทยจากเดิม อันส่งผลกระทบด้านต่าง ๆ ต่อเจ้าของทรัพย์สินซึ่งเป็นผู้เสียภาษีและประชาชนทั่วไป ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
การกำหนดแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินเป็นข้อกำหนดที่เชื่อมโยงกับระบบการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน โดยแนวคิดเกี่ยวกับแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินมีหลักการที่สำคัญ 2 ประการคือ
1.หลักของแปลงที่ดินจากสมมติฐานที่ว่าสรรพสิ่งทั้งหลายตั้งอยู่บนที่ดิน หากสามารถรู้ขอบเขตของผืนดิน ย่อมจะสามารถแยกสรรพสิ่งทั้งหลายนั้นตั้งอยู่ในตำแหน่งใด มีอะไรบ้าง ทรัพย์สินนั้นนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร ใครเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สิน และทรัพย์สินได้มาเมื่อใด
2.หลักของเจ้าของทรัพย์สิน เนื่องจากหลักกฎหมายภาษีท้องถิ่น กำหนดให้เจ้าของทรัพย์สินเป็นผู้เสียภาษี ดังนั้นทรัพย์สิน ที่ดิน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างและป้าย ต้องมีเจ้าของ การจัดทำทะเบียนทรัพย์สินจึงเป็นการรวบรวมข้อมูลที่ได้จากสำนักงานที่ดินและจากการสำรวจภาคสนาม
เริ่มตั้งแต่ปี 2520 กระทรวงมหาดไทยได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ดำเนินการจัดทำแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน และในปี 2535 เป็นต้นมาเริ่มศึกษาการนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลทะเบียนทรัพย์สิน จนมาถึงปัจจุบันกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้พัฒนาโปรแกรมประยุกต์ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือ LTAX GIS จากโปรแกรม QGIS มาเชื่อมโยงกับโปรแกรม LTAX3000 ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ สำนักบริหารการคลังท้องถิ่น
ทั้งนี้เพื่อให้อปท. นำไปใช้ในการจัดทำแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน เพื่อประโยชน์ในการสำรวจและจัดทำบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารการจัดเก็บรายได้และการบริหารงานด้านอื่น ๆ และเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน สะดวก รวดเร็ว สามารถตรวจสอบได้
เมื่อนำข้อมูลทั้ง 2 โปรแกรมมาเชื่อมโยงกัน ย่อมทำให้เรามีฐานข้อมูลของทรัพย์สินของเราที่สะดวก รวดเร็ว และเป็นปัจจุบันขึ้น อย่างไรก็ตาม มีอุปสรรคสำคัญคือกระบวนการในการสำรวจข้อมูลและการนำเข้าข้อมูลเพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลภาษี เพราะเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะต้องทำการสำรวจ จัดทำบัญชี การประเมินภาษี จากโฉนดที่ดินทั่วประเทศกว่า 32 ล้านแปลง รวมทั้งกับอาคาร สิ่งปลูกสร้างที่มีมหาศาลให้ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยใช้โปรแกรม LTAX GIS และโปรแกรม LTAX3000
นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญที่ควรคำนึงถึงอีกประการคือ ระบบการป้องกันข้อมูลทรัพย์สินอันเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนจากการใช้ระบบแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน สิ่งเหล่านี้ย่อมต้องอาศัยศักยภาพทั้งบุคคล เวลาและงบประมาณพอสมควร ซึ่งนำไปสู่คำถามที่ว่าระบบแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินที่มีพร้อมเพียงใดที่จะใช้เป็นฐานข้อมูลในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นธรรม
อย่างไรก็ตามปัจจุบัน ก.มหาดไทย ได้ประกาศขยายกำหนดเวลาดำเนินการจากเดิมเดือน เม.ย. ไปเริ่มจัดเก็บในเดือน ส.ค.2563 แทน ซึ่งเป็นอำนาจตามมาตรา 14 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 “กำหนดเวลาต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.นี้ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นเป็นการสมควร จะขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลานั้นออกไปเป็นการทั่วไปตามความจำเป็นแก่กรณีก็ได้”
การให้เหตุผลความจำเป็นแก่กรณีนี้ ได้แก่ การออกกฎหมายลำดับรองยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ส่งผลทำให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ทราบถึงรายละเอียดหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติที่ชัดเจน ไม่สามารถดำเนินการแจ้งบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ถูกต้องครบถ้วน เช่น มีการออกพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2563 ซึ่งประกาศในวันที่ 20 ม.ค.2563 แต่ให้บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 55 แห่งพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562
ในกรณีนี้ผู้เขียนเห็นว่าอาจส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนในฐานของภาษีว่าทรัพย์สินอะไรบ้างที่ถูกจัดเก็บ หรือได้รับการลดหย่อน หรือได้รับการยกเว้น และอัตราภาษีควรเป็นเท่าใด ต้องเสียภาษีหรือไม่ จำนวนเท่าไหร่ เนื่องจากกฎหมายภาษีที่ดินฯ ฉบับนี้มีการให้อำนาจฝ่ายบริหารในการออกกฎหมายลำดับรองหลายประการ โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นสาระสำคัญของกฎหมายภาษี คือ ฐานของภาษีและอัตราภาษี
ดังนั้นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจึงต้องทำความเข้าใจและทบทวนกฎหมายฉบับนี้อย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะเจ้าของทรัพย์สินจะต้องตรวจสอบประเภทและลักษณะการใช้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่ามีความสอดคล้องและตรงกับคุณสมบัติการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ สิ่งนี้จะช่วยเป็นเกราะป้องกันความผิดพลาดและทำให้เสียภาษีได้อย่างถูกต้อง เป็นธรรม ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายภาษี
โดย...
กิตติยา พรหมจันทร์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์