มาเลเซียเดินเกมรุก ดึงเงินลงทุนด้วยเทคโนโลยี-ศก.ดิจิทัล

มาเลเซียเดินเกมรุก ดึงเงินลงทุนด้วยเทคโนโลยี-ศก.ดิจิทัล

รัฐบาลมาเลเซียมีบทบาทอย่างมากในการผลักดันประเทศมาเลเซียให้เป็นจุดหมายปลายทางแห่งการลงทุนในด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัล

ผ่านการมอบสิทธิประโยชน์ และนโยบายการเก็บภาษีที่เอื้อต่อการลงทุน ประกอบกับแรงงานที่มีทักษะสูงและพื้นฐานของภาคการผลิตที่มั่นคง

ความพยายามของรัฐบาลมาเลเซียนั้นก็ผลิดอกออกผล เห็นได้จากยอดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 97.2% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ รัฐบาลมาเลเซียได้วางแผนใช้งบประมาณของปี 2563 ในการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเทรนด์สำคัญด้านเศรษฐกิจที่จะดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติมายังมาเลเซียมีดังนี้

1. การขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศ

ในมาเลเซีย เศรษฐกิจดิจิทัลจะคิดเป็นสัดส่วน 20% ของมูลค่าเศรษฐกิจทั้งหมด ซึ่งเติบโตเพิ่มขึ้น 17.8% จากปี 2558 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ สร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจดิจิทัลของมาเลเซียถึง 40% โดยคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปีนี้

จากการที่มาเลเซียได้ริเริ่มโครงการเขตการค้าเสรีดิจิทัล เมื่อปี 2560 ทำให้ภาพรวมของการเติบโตของธุรกิจ อีคอมเมิร์ซเป็นไปในแง่บวก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในธุรกิจ อีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศ และธุรกิจโลจิสติกในประเทศ รวมไปถึงธุรกิจส่งออกขนาดกลางและขนาดเล็ก ผ่านการทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก เพื่อเพิ่มดีมานด์ให้กับสินค้าจากประเทศมาเลเซีย

เมื่อเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว รัฐบาลมาเลเซียได้ประกาศ 2 แนวทางที่จะช่วยส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยี

แนวทางแรกคือการตั้งหน่วยงาน Malaysian Digital Economy Corporation (MDEC) ซึ่งทำหน้าที่พัฒนา และทดสอบเทคโนโลยียุคใหม่ เช่น ฟินเทค (FinTech) และบล็อกเชน จากรายงาน FinTech in ASEAN: From Start-up to Scale-up จัดทำโดยธนาคารยูโอบี PwC สิงคโปร์ และสมาคม Singapore FinTech Association ชี้ให้เห็นว่า 2 ใน 3 ของเม็ดเงินลงทุนในเทคโนโลยีฟินเทค เป็นการลงทุนในเรื่องบริการจ่ายเงินออนไลน์ ซึ่งเป็นเสาหลักหนึ่งของเศรษฐกิจดิจิทัล

อีกแนวทางหนึ่งคือโครงการ Digital Talent Development Strategy Framework เพื่อเร่งพัฒนาบุคคลากรที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจดิจิทัล อีกทั้งยังส่งเสริมภาพลักษณ์เพื่อการลงทุนในระยะยาว

2. การเข้ามาของอุตสาหกรรม 4.0

ภายใต้กองทุน Industry Digitalisation Transformation Fund ที่จัดสรรงบประมาณไว้เกือบ 500 ล้านดอลลาร์ รัฐบาลมาเลเซียกำลังเร่งผลักดันให้ภาคธุรกิจปรับองค์กรสู่ดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการแข่งขัน ด้วยการใช้เทคโนโลยีแห่งยุคอุตสาหกรรม 4.0 เช่น ปัญญาประดิษฐ์ และไอโอที โดยรัฐบาลจะให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่ภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และทรัพย์สินทางปัญญา ให้เงินทุนจัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือสำหรับระบบอัตโนมัติแก่ภาคธุรกิจบริการ รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆ ในการปรับใช้ระบบดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนองค์กร หรือสร้างสรรค์นวัตกรรม

3. การพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว

เทรนด์สุดท้ายที่กำลังดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศมายังมาเลเซียก็คือการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม เห็นได้จากนโยบายการธนาคารเพื่อเทคโนโลยีสีเขียวของกระทรวงพาณิชย์เอง ที่สนับสนุนการผลิตและใช้เทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น พลังงาน ก่อสร้าง การผลิต การคมนาคม การจัดการของเสียและบำบัดน้ำเสีย ผ่านความร่วมมือกับสถาบันการเงิน เช่น ธนาคาร ยูโอบี เป็นต้น โดยการสนับสนุนทางการเงินนี้เปิดกว้างสำหรับบริษัทที่คนมาเลเซียเป็นผู้ถือหุ้นหลัก แต่ นักลงทุนต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเหล่านี้ ก็สามารถร่วมมือกับบริษัทมาเลเซีย เพื่อรับสิทธิประโยชน์จากนโยบายของรัฐนี้ได้เช่นกัน

ผู้ประกอบการธุรกิจจากประเทศไทย สามารถมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจ และการลงทุนจากแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจของมาเลเซียได้ โดยการติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ หรือขอคำแนะนำ เชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญ หรือที่ปรึกษาด้านการเงิน ในเรื่องของกฎระเบียบนโยบายของภาครัฐ หรือข้อบังคับในการดำเนินธุรกิจในประเทศมาเลเซีย