ความสัมพันธ์และการให้
มื่อมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ลักษณะของความสัมพันธ์ที่แต่ละคนมีต่อผู้อื่น
เป็นตัวกำหนดบุคลิกลักษณะและคุณค่าของ ตัวเขา ข้อสังเกตในเรื่องนี้เป็นสิ่งน่าใคร่ครวญโดยเฉพาะจากผู้มีประสบการณ์ชีวิต
รศ.นภาลัย สุวรรณธาดา นักกลอนและนักประพันธ์ชื่อดัง สอนหนังสือที่สาขาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้เขียนกลอนชื่อ “ความสัมพันธ์ 4 ระดับ” ไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง ผมขออนุญาตนำมาสื่อสารต่อดังนี้
ความสัมพันธ์นั้นมีสี่ระดับ / หนึ่งคอยรับ “ได้กับได้” ต้องให้ฉัน / ตราบที่ได้ผลประโยชน์ไม่โกรธกัน / คบแบบนั้นคบได้ก็ไม่นาน
สองระดับ “รับและให้” ไม่เสียเปรียบ / ต้องคิดเทียบไม่ขาดทุนคอยคูณหาร / ยิ่งถ้าได้กำไรใจชื่นบาน / คบแบบงานธุรกิจใช่มิตรแท้
สามระดับ “ให้กับให้” ใจสุขสันต์ / เธอให้ฉันฉันก็ให้ใจเผื่อแผ่ / อาจเป็นมิตรสนิทมั่น มิผันแปร / มิมุ่งแต่ตนได้อยู่ฝ่ายเดียว
สี่ระดับ “ให้แล้วลืม” ลืมว่าให้ / จะขาดทุนได้กำไรนั้นไม่เกี่ยว / ให้อภัยให้ทุกสิ่งใจจริงเจียว / รักแน่นเหนียวดุจแม่ลูกผูกพันมา
ความสัมพันธ์ชั้นที่สี่นั้นดียิ่ง / แต่ความจริงยากนักที่จักหา / ฝึกตนเป็น “ผู้ให้” ไร้อัตตา / คือคุณค่าของมนุษย์ที่สุดงาม
เมื่อพูดถึงการให้และการรับ ก็ทำให้นึกถึงท่านอาจารย์ “ป๋วย อึ๊งภากรณ์” ปูชนียบุคคลหนึ่งของสังคมไทย ท่านได้เคยเขียนไว้ว่า มนุษย์เรานั้นแตกต่างกันไปบางคนเกิดมา “ให้มาก” และก็ “เอาไปมาก” บางคนก็ “ให้น้อย” และ “เอาไปน้อย” ด้วย
บางคนหนักหน่อยคือ “ให้น้อย” แต่ “เอาไปมาก” บุคคลเยี่ยงนี้เป็นที่น่ารังเกียจเพราะจัดอยู่ในประเภทเอาเปรียบสังคม บุคคลที่น่าชื่นชมก็คือ“ให้มาก“แต่“เอาไปน้อย”
มหาบุรุษของโลกมักอยู่ในข่ายนี้เกือบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นมหาตมะคานธี / Albert Einstein / Jesus Christ / Muhammad / พระพุทธเจ้า / Martin Luther King Junior / Abraham Lincoln / Nelson Mandela ฯลฯ
ในเรื่องการให้นี้ พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “.....บุคคลแม้ไม่มีทรัพย์สิน แต่ก็สามารถให้ทานแก่ผู้อื่นได้" ด้วยสิ่งของ 5 ประการดังนี้
(1) ใบหน้าเป็นทาน : สามารถให้รอยยิ้มที่สดใส
(2) วาจาเป็นทาน : พูดให้กำลังใจชื่นชมและปลอบประโลมผู้อื่นให้มาก
(3) จิตใจเป็นทาน : สามารถเปิดอกเปิดใจกับผู้อื่นด้วยความนอบน้อมและจริงใจ
(4)ดวงตาเป็นทาน : ให้แววตาแห่งความหวังดีและความโอบอ้อมอารีแก่ผู้อื่น
(5)กายป็นทาน : สามารถให้ความช่วยเหลือผู้อื่น
สำหรับบุคคลจำนวนมาก “การให้” สร้างความสุขได้คงทนกว่า “การรับ” เพราะ “การรับ” ทำให้เกิดความสุขชั่วแล่นแล้วก็จะตกลงมาอยู่ในระดับปกติ ส่วนความสุขจาก “การให้” นั้นให้ความทรงจำที่ดีได้นานเท่านานจากการทำให้ผู้อื่นมีความสุขมันเป็นความปิติที่ยากแก่การบรรยาย
การให้ไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับความร่ำรวย ถึงมีไม่มากก็ให้ได้ในหลายลักษณะด้วยหัวใจแห่งความจริงใจ