ปรับ 'ครม.ประยุทธ์' และ3ศึก 'ศก.ทรุด-โควิด19ระบาด-ม็อบนศ.'
"ผมจะไม่พูดเรื่องการเมืองอะไรทั้งสิ้น จะพูดในส่วนของเรื่องสำคัญ คือไวรัสโควิด-19 ที่เรากำลังเผชิญขณะนี้.."
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวที่ทำเนียบรัฐบาล (2 มี.ค.) ด้วยสีหน้าเรียบเฉย โดยไม่ตอบคำถามใดๆ ของสื่อมวลชน
ขณะที่ อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงกระแสการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ยังไม่ได้คุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่การปรับ ครม.ถือเป็นการปรับของแต่ละพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งหากจะปรับหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจถือเป็นเรื่องปกติและเป็นเวลาที่เหมาะสม ในส่วนของพรรคภูมิใจไทย ให้รอดู เพราะการเมืองไม่มีอะไรแน่นอน
ต่างจาก เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่งสัญญาณเตรียมปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ยังไม่มีการพูดถึง และนายกรัฐมนตรียืนยันแล้วว่าไม่มี ในส่วนของประชาธิปัตย์เชื่อว่า ไม่มีแน่นอน
"อนุทิน" บอกว่า ถ้าจะปรับ ครม. หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจถือเป็นเรื่องปกติและเป็นเวลาที่เหมาะสม แต่ "เฉลิมชัย" บอกแบบไม่เอาด้วยคือไม่มีแน่นอน
วานนี้ (1 มี.ค.) สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ตอบคำถามสื่อมวลชนเรื่องปรับ ครม. ว่า ให้เกียรตินายกฯ ที่จะเป็นผู้ตัดสินใจ แต่พรรคไหนได้ ส.ส. มาเพิ่มนั้น คิดว่านายกฯ น่าจะไม่ได้เอาเรื่องการเปลี่ยนแปลงในการย้ายเข้าย้ายออกมาเป็นประเด็น
อย่างที่ทราบว่า หลังการโหวตจบศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว เห็นชัดเจนว่า ใครเป็นใครในส่วนของ ส.ส. ซีกฝ่ายค้านที่จะสนับสนุน 15 ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ที่ย้ายไปพรรคภูมิใจไทย 9 ราย และพรรคขนาดเล็กในฝ่ายรัฐบาล
พร้อมกับ 5 ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่, 3 ส.ส.พรรคเสรีรวมไทย และ 2 ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่โหวตวางไว้ใจ รมต. ของฝ่ายรัฐบาล ย่อมสะท้อนชัดในตัวเองอยู่แล้ว
ยังไม่นับรวม ส.ส. พรรคฝ่านค้าน รายอื่นๆ ที่เคยโหวตสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลเป็นครั้งเป็นคราวอีกด้วย
ว่ากันตามจริง! บรรดา "คอการเมือง" ทั้งหลาย ต่างพูดตรงกันว่า "ปรับคณะรัฐมนตรี" จะมีเกิดขึ้นแน่นอน เพียงแต่ต้องรอ "พูดคุยนอกรอบ" ให้เรียบร้อยเสียก่อน
ตำแหน่งรัฐมนตรีในโควตาของพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ เป็นที่จับตาว่าจะต้องเกลี่ยให้คนที่รวบรวม ส.ส. จากฝ่ายค้านมาย้ายมาฝั่งรัฐบาล ตัวอย่างง่ายๆ กรณี ชัชวาลล์ คงอุดม หัวหน้าพรรคท้องถิ่นไทย อยากช่วยงานรัฐบาล หวังตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ สักกระทรวงหนึ่งเป็นต้น
การปรับคณะรัฐมนตรีย่อมเป็น "โอกาส" ได้ในทางหนึ่ง ในการปรับการทำงานของรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ ในสายตาประชาชน แต่จะคาดหวังว่าได้ยาก เพราะต้องมีโควตาของคนที่มีกลุ่ม ส.ส. อยู่ในมือนั่นเอง
ทว่า โจทย์สำคัญ 3 เรื่องที่เป็นเผือกร้อนอยู่ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องรับมือให้ดี
1. การรับมือและป้องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า โรคโควิด-19 (COVID-19) ที่ถือว่ารับมือได้ดี ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ แม้ว่าช่วงที่ผ่านมา จะมีประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กรณีรับคนไทยกลับจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เรื่องเรือสำราญ และล่าสุดกรณีหน้ากากอนามัยขาดแคลน
ประเมินมาตรการป้องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า โรคโควิด-19 ถือว่ามีความคืบหน้า ประชาชนมีความตระหนักและติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด แต่ประชาชนยังเห็นภาพการทำงานที่ไม่สอดรับกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่นายกฯจะคุยกับ 2 รองนายกฯ ที่เป็นหัวหน้าพรรคทั้งภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ให้เข้าใจตรงกัน เพราะประชาชนไม่ได้รับความพึงพอใจจะโทษรัฐบาลก่อนถึงตัวรัฐมนตรี
2. การชุมนุมของนิสิตนักศึกษา หรือแฟลซม็อบ ที่เกิดขึ้นในรั้วโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลและผู้มีอำนาจ ซึ่งนายกฯในฐานะเป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมือง เป็นลุงของเด็กนักเรียนได้ด้วยอายุอานาม ย่อมต้องค่อยพูดจาเอาน้ำแข็งเอาลูบความร้อนแรงของคนรุ่นใหม่ อาจจะพูดไม่ดีก็ต้องใจเย็น
เห็นด้วยที่ คำณูน สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อดีตแกนนำนิสิตนักศึกษาฯ ปี 2518 สนับสนุนให้ เปิดสภาสมัยวิสามัญ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 122 หรือมาตรา 123 คณะรัฐมนตรีสามารถร้องขอต่อประธานรัฐสภาให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา (สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา) เพื่อรับฟังแนวทางการแก้ปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดินจากสมาชิกของทั้ง 2 สภาได้ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 165 ให้นิสินักศึกษาได้พูดคุย แสวงหาทางออกร่วมกันของทุกรุ่นทุกฝ่ายทุกสถานะ โดยรับฟังซึ่งกันและกันเคารพซึ่งกันและกัน พร้อมจะอยู่ร่วมกันอย่างแตกต่างไม่แตกแยก
3. สภาวะเศรษฐกิจซบเซา นับตั้งแต่ประเทศสหรัฐฯกับจีน ทำสงครามการค้า กระทบต่อประเทศไทยมาต่อเนื่อง และซ้ำร้ายการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า โรคโควิด-19 (COVID-19) เป็นมรสุมเข้ามาอีก ทำให้กระทบรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างหนัก การจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศหดตัวต่อเนื่อง กำลังรอว่างบประมาณปี 2563 เบิกจ่าย 3.2 ล้านล้านบาท ไปยังหน่วยงานรัฐต่างๆ จะกระตุ้นการลงทุนและกำลังชื้อได้มากน้อยแค่ไหน นับเป็นเรื่องที่นายกฯและทีมเศรษฐกิจยังต้องแก้ไม่ตก ท่ามกลางเสียงบ่นของประชาชน และข่าวร้ายกรณีการฆ่าตัวตายเพราะหนี้สินเพราะทำธุรกิจไปไม่รอด
โจทย์ทั้ง 3 เรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ "รัฐบาลประยุทธ์" ต้องรับมือและแก้ไขสถานการณ์ไปพร้อมๆ กัน ดังนั้น หากแกนนำรัฐบาลหากเล็งเห็น "ทางรอดทางการเมือง" แล้ว จะเห็นว่าการปรับ ครม. เพื่อสู้และแก้ 3 โจทย์นี้มากกว่า "สมการการเมือง" ด้วยการเกลี่ยเก้าอี้รัฐมนตรีตามโควต้า ส.ส. อย่างเดียว
อย่ารอให้ประชาชนสิ้นหวังเสียก่อน!!