การก้าวข้ามวิกฤติการณ์ของมนุษยชาติ !!
เจริญพรสาธุชนผู้หวังนิรทุกข์ทั้งหลาย พระพุทธเจ้าทรงตรัสเรื่องความขัดแย้งกับโลกว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่ทะเลาะวิวาทกับโลก แต่โลกย่อมวิวาทกับเรา บุคคลผู้สอนแต่ธรรมย่อมไม่วิวาทกับใครๆ ในโลก”
“สิ่งใดที่บัณฑิตในโลกสมมติว่า ไม่มี คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง มีความไม่แปรปรวนเป็นธรรมดาไม่มี แม้เราก็กล่าวว่าไม่มี
สิ่งใดที่บัณฑิตในโลกสมมติว่ามี คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา บัณฑิตในโลกสมมติว่ามี แม้เราก็กล่าว ว่า มี”
จากพระพุทธดำรัสดังกล่าว สะท้อนให้เห็นความเป็นจริงตามพุทธวิสัย คือ การไม่ขัดแย้งกับความจริงแม้ขั้นโลก หากความจริงนั้นไม่คัดง้างสัจธรรม จึงสมกับคำกล่าวที่ว่า ทรงมีธรรมเป็นครู
การทำความเข้าใจในความจริงที่เป็นไปตามธรรม อันเกิดปรากฏตามเหตุปัจจัย นับเป็นการสร้างองค์ความรู้แบบพุทธะที่สำคัญยิ่ง ด้วยมุ่งเข้าใจในกฎธรรมชาติ (Natural law) อันเป็นระบบของความเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่แยกย่อยได้เป็นกฎย่อยๆ 5 กฎ ได้แก่ อุตุนิยาม พีชนิยาม จิตนิยาม กรรมนิยาม ธรรมนิยาม ซึ่งหากพิจารณาในกฎย่อยทั้งห้า ก็จะเห็นความยึดโยงต่อกันในความเป็นกฎธรรมขาติอย่างไม่ขัดแย้งต่อกันเลย
ดังกฎธรรมชาติที่ว่าด้วยเรื่องความเป็นไปทางโลกวัตถุ ที่แสดงให้เห็นความจริงว่า สิ่งทั้งหลายในโลกของวัตถุย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยด้านกายภาพ คือ ดิน ฟ้า อากาศ ฤดูกาล การเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการหมุนรอบดวงอาทิตย์ของโลก ที่นำไปสู่การคิดคำนวณ เวลา วัน เดือน ปี ซึ่งเรียกลักษณะธรรมดังกล่าวว่า อุตุนิยาม ที่แสดงลักษณะของความเป็นกฎธรรมชาติ คือ การเกิดขึ้นและเป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่เป็นเหตุปัจจัยที่ไม่มีเจตนา จึงมีลักษณะความมั่นคง สม่ำเสมอ ค่อนข้างแน่นอน ตอบรับความเป็นเหตุเป็นผล สามารถพิสูจน์ได้ในชั้นความคิดนึก หรือในพีชนิยาม ซึ่งเป็นกฎธรรมชาติเกี่ยวกับพืชพันธุ์ อันเชื่อมโยงกับอุตุนิยาม ที่มีลักษณะธรรมค่อนข้างเหมือนกัน คือ ชัดเจน ไม่ซับซ้อน แม้จะเป็นเรื่องชีวิตมีจิตวิญญาณครองในความเป็นสัตว์โลกทั้งหลาย
สำหรับในส่วนของ จิตนิยาม คือ กฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับการทำงานของจิต จะออกเป็นนามธรรม ที่ยากจะสืบค้นหาความจริงได้ว่า สภาพแท้จริงของจิตเป็นอย่างไร มีการเกิด ดับ และสืบต่ออย่างไร และเมื่อประกอบด้วยความปรุงแต่งจิตตามแต่ละเจตสิกธรรมแล้ว จะมีสภาพเป็นอย่างไร ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ตรึกตรองเห็นตามได้ยากในขั้นของคิดนึกหาเหตุผล หากไม่ได้ศึกษาปฏิบัติตามหลักวิปัสสนาญาณในพระพุทธศาสนา ก็ยากจะรู้ได้อย่างแจ่มแจ้ง
จึงต้องศึกษาเรื่อง กรรมนิยามและธรรมนิยาม อันเป็นกฎเกี่ยวกับการกระทำของจิต โดยยึดหลักเจตนาเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงกรรม อันเป็นไปตาม กฎแห่งเจตจำนง ที่แสดงความเป็นเหตุเป็นผลในด้านพฤติกรรมมนุษย์ พระพุทธศาสนาจึงสั่งสอนให้ศึกษามนุษย์จากการกระทำทางกาย วาจา ใจ ซึ่งอยู่ในระบบความสัมพันธ์ที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติ ที่แสดงความเป็นเหตุเป็นผลกันของสิ่งทั้งหลาย แม้ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ที่จักต้องเป็นไปเช่นนี้ เป็นไปอย่างนี้ ไม่แปรเป็นอย่างอื่น อันแสดงความเป็นกฎใหญ่ในธรรมชาติที่ครอบคลุมทุกกฎ ทุกเงื่อนไขไว้ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เสมอกัน มีความยุติธรรมที่แท้จริง
การเข้าใจในกฎธรรมชาติดังกล่าว จึงนำมาสู่การเข้าใจตนเอง ตลอดจนเข้าใจถึงสภาพธรรมสิ่งแวดล้อมทั้งหลายทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ก่อเกิด ความเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ) เพื่อนำไปสู่ความดำริชอบ (สัมมาสังกัปปะ)
สังคมในปัจจุบัน พะรุงพะรังด้วยนานาปัญหา ที่สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งของคนในสังคม เพราะขาดความเห็นชอบ ขาดความดำริชอบเป็นสำคัญ โดยเฉพาะก่อเกิดความเห็นผิดไปจากธรรม จนนำไปสู่การปฏิเสธธรรม ซึ่งหมายถึง การไม่ยอมรับกฎความจริงในธรรมชาติ ที่แสดงความเป็นธรรมดา ว่า “ทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ต้องเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย” ดังหลักพุทธธรรมที่ว่า เมื่อเหตุปัจจัยอยู่ ธรรมมีอยู่ เมื่อเหตุปัจจัยสิ้นไป ธรรมทั้งหลายย่อมสิ้นไป
ดังเรื่องราว โรคไวรัสโควิด-19 ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแผกไปจากกฎธรรมชาติ มีเหตุเป็นปัจจัยให้สิ่งเหล่านี้เกิดปรากฏ และให้เป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นๆ เมื่อเชื่อมโยงสัมพันธ์เข้ากับเหตุปัจจัยอื่นๆ ในแต่ละชีวิต จึงเป็นมหากาพย์ของชีวิตที่จะต้องเผชิญกับเรื่องราวต่างๆ นานา ที่รกรุงรังไปด้วยปมปัญหา เพื่อท้าทายสติปัญญาและความเพียรชอบ อย่างมีปัญญาชอบ ถูกต้องตามกฎธรรมชาติของสัตว์ประเสริฐทั้งหลาย ที่จะต้องดำเนินชีวิตทั้งของตนและภาคสังคมให้ผ่านพ้นภัยพิบัติที่กำลังท้าทายมนุษยชาติในยุคสมัย!!