ทางออกของ(รัฐบาล)ไทย ในยุคโควิด-19
ไข้หวัดโควิด -19 กำลังก่อให้เกิดภาวะวิกฤติ ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจไปทั่วโลก และหากรัฐบาลไม่ตัดสินใจดำเนินการอย่างเข้มงวด เฉียบขาด
ในการควบคุมให้ประชาชนรักษาระยะห่างในการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างน้อย 1-2 เมตร หรือเก็บตัวอยู่ในเคหะสถานของตน จะทำให้การระบาดลุกลามเกินกว่าที่จะควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้ออาจเพิ่มเป็นหลายแสนคน นำไปสู่การปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิตนับพัน นับหมื่นได้ในเวลาต่อมา
จากการประชุมของนักไวรัสวิทยา แพทย์ และนักสาธารณสุขระดับโลก ได้สรุปแนวการจัดการโรคระบาดเป็นสองแนวทาง คือ
1.herding immunity การหน่วงการระบาดของเชื้อโรคให้ประชาชนได้รับเชื้อในปริมาณน้อยอย่างต่อเนื่อง ทำให้พัฒนาภูมิคุ้มกันชุมชนต่อเชื้อขึ้นได้ และทำให้โรคระบาดกลายเป็นโรคประจำถิ่นในที่สุดแต่สำหรับประเทศไทยที่ประชากรไม่มีวินัยเข้มแข็งยกตัวอย่างเช่น ประชาชนไม่ยอมปฏิบัติตามหลักการรักษาระยะห่าง(social distancing)อย่างเคร่งครัด จะทำให้เชื้อโรคกระจายออกด้วยปริมาณความเข้มข้นมากในวงกว้างและทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเกินกว่าที่จะควบคุมได้
2.การปิดกั้นชุมชน(lockdown) แนวคิดนี้เน้นการกักบริเวณไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจาย โดยหยุดกิจกรรมทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมแทบทั้งหมด แต่หากประชาชนไม่ยอมปฎิบัติตัวตามหลัก social distancing ก็จะไม่เกิดสัมฤทธิผลในทางปฏิบัติ ยกตัวอย่าง เมื่อรัฐบาลดำเนินการปิดเมืองบางส่วน กลับทำให้เกิดการรวมกลุ่มของประชาชนเพื่อกลับภูมิลำเนาเดิมอย่างเกินความคาดหมาย ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นว่าการ lockdown ไม่ก่อให้เกิดการเว้นระยะห่างทางสังคม(social distancing) ไม่สามารถยับยั้งการระบาดของโรคตามแนวทางที่ได้วางไว้ และจุดพลาดที่ก่อให้เกิดการขัดแย้งกันคือ การไม่นิยาม การ lockdown ซึ่งมีหลายแบบ และที่ไม่เหมาะสมเลย คือ การปิดธุรกรรมทุกชนิด ซึ่งก็คือ ปิดรายได้SMEจนตาย หากเกิน 3-4 สัปดาห์ แต่เลือกปิดประมาณแบบอิสราเอล คือ ปิดแยกเป็นส่วน หน่วยงาน-ธุรกิจที่จำเป็นยังดำเนินการได้ เช่นการผลิต-ขนส่งสินค้ายังชีพเป็นต้นแต่กิจกรรมที่ไม่จำเป็น-ไม่สำคัญต่อการดำรงชีวิต-การดำเนินธุรกิจ-การปกครอง ให้ยุติทั้งหมด กล่าวโดยง่าย คือ การทำ social lockdown โดยส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้นั่นเอง
วินัยทางสังคมที่เข้มแข็งเป็นตัวกำหนดสัมฤทธิผลในการควบคุมโรคระบาดของทั้ง 2 แนวทาง ซึ่งประชาชนชาวไทยส่วนมากไม่มี คณะรัฐบาลจำเป็นต้องแสดงออกถึงภาวะผู้นำที่มีความเฉียบขาดในการจัดการแพร่ระบาดของไข้หวัดโควิด-19 โดยให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประชาชนน้อยที่สุดให้ได้รัฐบาลต้องสวมวิญญาณในการปราบม็อบที่สามารถตรวจจับกลุ่มบุคคลที่ชุมนุมทางการเมือง เพื่อนำมาปรับทัศนคติ โดยในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ รัฐบาลต้องตรวจจับกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค โดยนำตัวมาปรับพฤติกรรมเช่นเดียวกันนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือรัฐบาลต้องใช้วินัยทหารที่ปกติใช้กับ เรื่องคอขาดบาดตายในการรบ อันทำได้ผลแล้วกับ การปฏิรูปการเมืองเพื่อรักษาความสงบของชาติ มาใช้กับการรบกับไวรัสโควิด ซึ่งก็เป็นเรื่องคอขาดบาดตายเช่นกัน ในการ ปฏิรูปสังคม จัดระเบียบสังคมสร้างวินัยทางสังคมขึ้นมาให้ได้ตามคำแนะนำของ คณะแพทย์ นักสาธารณสุขผู้เชี่ยวชาญมากด้วยประสบการณ์โดยด่วน ทั้งนี้ผู้เขียนเชื่อว่าการทำ enforced social distancing ก็เพียงพอโดยไม่ต้องทำการปิดเมืองโดยสิ้นเชิงเพราะประวัติผู้ป่วย โควิด-19 ในประเทศไทยส่วนใหญ่มักจะเข้ากิจกรรมเสี่ยง(เช่นอยู่ในที่แออัด) หรือเข้าไปอยู่กับกลุ่มเสี่ยง (กลับจากต่างประเทศ) และปัจจุบันมียาที่สามารถใช้รักษาโรคนี้ได้
รัฐบาลต้องจัดการประชุมปรึกษาหารือกับทุกภาคส่วน เช่น โรงพยาบาล กลุ่มพ่อค้าปลีก ธนาคารหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ตำรวจ อสม. และภาคพลังงาน เป็นต้นเพื่อร่วมมือกันวางเครือข่ายแนวทาง และวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างครบวงจร และดำเนินการจัดระเบียบสังคมอย่างเฉียบขาดรอบคอบและรัดกุม และขอเรียนเสนอให้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยเร็วที่สุด เพื่อจัดระเบียบสังคมให้ประชาชนปฏิบัติตามหลัก social distancing อย่างทั่วถึงและมีความมั่นใจ ณ เวลาปัจจุบันนี้ การแก้ปัญหาไม่ได้สำคัญที่แนวคิดเท่านั้น ที่สำคัญกว่าแนวคิด คือ การบังคับใช้ให้ได้ผล(enforcement ) แนวคิดไม่ว่าจะดีอย่างไร หากทำตามอย่างหละหลวมก็ไร้ประโยชน์ ผลก็คือความสูญเสียทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่อาจยอมรับได้ ดังนั้น สำคัญที่สุดขณะนี้คือการบังคับใช้และกำกับดูแลอย่างเฉียบขาด
ทั้งนี้เป็นเพราะว่าประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชนชั้นกรรมาชีพที่ไม่(สามารถ)ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ด้วยวิถีชีวิตเดิมและเงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ อาทิเช่น รายได้ที่ได้รับเพียงวันต่อวัน รัฐบาลจึงต้องมีงบประมาณในการเยียวยา เช่น การส่งมอบเงินทดแทนรายได้ผ่านทางธนาณัติตามข้อมูลทะเบียนบัตรคนจนที่มีอยู่แล้วในช่วงเวลา 1-2 เดือนนี้ และการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และเวชภัณฑ์ อย่างหน้ากากอนามัย และแอลกอฮอล์ เป็นต้น
รัฐบาลต้องมีความเด็ดขาดชัดเจนในการประกาศและบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมเสี่ยง หรือ/และไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนน้อยที่มีส่วนในการแพร่เชื้อโดยไม่ได้รับผิดชอบ ต้องเป็นผู้รับผลกระทบโดยตรงจากการกระทำของตน มิใช่คนส่วนใหญ่ในสังคมต้องมารับผลกระทบทางลบ เช่น กลุ่มคนที่อยู่ในสนามมวย รัฐบาลจะต้องดำเนินการอย่างเฉียบพลัน มอบหมายให้กองทหารทั่วราชอาณาจักรออกติดตามรายจังหวัดดำเนินการลงโทษ และประณามต่อสาธารณชนภายในเวลาอันรวดเร็ว เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง เป็นต้น
ภาวะปัจจุบันนี้ประชาชนและรัฐบาลเปรียบประหนึ่ง อยู่บนเรือลำเดียวกัน หากรัฐบาลสามารถนำพาเรือลำนี้ให้ผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19นี้ไปได้ด้วยดี แม้ในอนาคตจะมีวิกฤติเศรษฐกิจตามมา ประชาชนก็ยังจะให้เครดิตในการบริหารบ้านเมืองต่อไป แต่หากรัฐบาลล้มเหลวในการจัดการวิกฤติครั้งนี้ ประชาชนจะเชิญรัฐบาลลงจากเรือลำนี้ เพื่อแสวงหาต้นหนใหม่อย่างมิต้องสงสัย
โดย...
ดร.ไพทัน ตระการศักดิกุล
ตระการ ไตรพิเชียรสุข